นายกฯขานรับศก.‘บีซีจี’ สั่ง ‘จังหวัดยากจน’ เป้าพัฒนาแรก

นายกฯขานรับศก.‘บีซีจี’ สั่ง ‘จังหวัดยากจน’ เป้าพัฒนาแรก

นายกรัฐมนตรีร่วมเวทีสมัชชาBCG โมเดลทางรอดในโลกยุคหลังโควิด-19 ดันเศรษฐกิจ 4.4ล้านล้านบาทใน 5 ปีข้างหน้า สร้างการจ้างงาน16.5ล้านคน วางนโยบายเน้นพัฒนาพื้นที่ยากจนเป็นเป้าหมายแรก ค้นหาศักยภาพประเทศนำมาใช้ประโยชน์ ระบุการดำเนินงานต้องคำนึงถึงปชช.เป็นหลัก

กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) จัดการประชุมสมัชชา “BCG : โมเดลเศรษฐกิจสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน” เพื่อแสดงให้เห็นถึงโอกาสและศักยภาพของประเทศในการพัฒนาทุกๆ ด้านจากการใช้โมเดลเศรษฐกิจบีซีจี (Bioeconomy Circular Green) และเป็นการร่วมกันกำหนดเป้าหมายการพัฒนา รวมถึงผลิตภัณฑ์เป้าหมายหรือสิ่งที่ต้องการให้เกิดการขับเคลื่อน เช่น ปรับแก้กฎหมาย ลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน มาตรการทางการเงิน การเร่งรัดความสามารถด้านการวิจัยพัฒนาเทคโนโลยี การกระจายความรู้และเทคโนโลยีไปสู่ภาคส่วนต่างๆ ผลักดันเศรษฐกิจ 4.4 ล้านล้านบาท (24% จีดีพี) ใน 5 ปีข้างหน้า และเกิดการจ้างงาน 16.5 ล้านคน

159481943611

ชัดเจนเป้าหมายคือ “ประชาชน”

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานเปิดการประชุม พร้อมแสดงปาฐกถาพิเศษ “BCG:โมเดลเศรษฐกิจสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน” โดยย้ำให้ทุกฝ่ายจะต้องร่วมกันพัฒนาทุกพื้นที่ของประเทศ โดยเฉพาะจังหวัดที่มีสถิติรายได้น้อย ต้องหาแนวทางให้ประชาชนมีอาชีพและรายได้เพิ่มขึ้น รวมถึงการค้นหาศักยภาพของประเทศแล้วนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ 

ทั้งยังกล่าวถึงปัญหาการทำการเกษตรคือ ใช้พื้นที่มากแต่มีผลผลิตและรายได้น้อย เพราะปัญหาขาดแคลนน้ำ รัฐบาลพยายามขับเคลื่อนบริหารจัดการน้ำ โดยคำนึงถึงความสอดคล้องของปริมาณฝนและแหล่งน้ำในระบบน้ำต่างๆ อีกทั้งต้องพยายามนำน้ำใต้ดินมาใช้

ส่วนกิจกรรมครั้งนี้ ถือเป็นจุดเริ่มต้นของการดำเนินการตามรัฐบาลวิถีใหม่ ที่ผนึกกำลังทุกภาคส่วนพลิกฟื้นเศรษฐกิจไทยให้กลับมาสู่ความมั่งคั่งและยั่งยืน รัฐบาลได้ขับเคลื่อนโมเดลเศรษฐกิจใหม่ที่เรียกว่า เศรษฐกิจบีซีจี ประกอบด้วย เศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียนและเศรษฐกิจสีเขียว 

159481962430

พร้อมทั้งให้ความสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง การเกษตรทฤษฎีใหม่ ที่ใช้เทคโนโลยีเพิ่มมูลค่าและไม่ส่งผลกระทบกับสิ่งแวดล้อม การประยุกต์วัสดุเหลือใช้เพื่อให้เกิดประโยชน์ การบริหารจัดการน้ำให้เกิดประโยชน์สูงสุด จึงถือเป็นโอกาสดีที่จะได้รับฟังแนวความคิด พร้อมดำเนินการร่วมกันของโมเดลเศรษฐกิจใหม่ เพื่อให้ทุกส่วนเกิดการมีส่วนร่วม 

“สิ่งที่เราจะต้องดูคือ หน้าที่ของแต่ละภาคส่วนที่จะต้องประจักษ์ เพื่อให้เห็นกลไกการขับเคลื่อนอย่างชัดเจน โดยเป้าหมายที่เด่นชัดคือการกระทำเพื่อ “ภาคประชาชน” เราจะต้องกระจายองค์ความรู้และรายได้ให้เข้าถึงทุกเซกเตอร์ เพื่อผลักดันบีซีจีอย่างเป็นรูปธรรมผ่านการรับฟังความคิดเห็นจากภาคนิสิต นักศึกษา ภาคประชาชน และภาคเอกชน ซึ่งไม่ใช่แค่การทำโครงการใดโครงการหนึ่ง แต่จะเป็นการทำงานในลักษณะที่ครบองค์รวม ทั้งในส่วนของหลักแนวคิด มายด์เซ็ต การทำงานเป็นคณะ บูรณาการและมีการประเมินผลสัมฤทธิ์ไว้ล่วงหน้า”

ผสานความร่วมมือปั้นเศรษฐกิจใหม่

ด้าน สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษาฯ กล่าวว่า โลกหลังโควิดเป็นโลกที่เรียกหาความยั่งยืน จึงต้องหากลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจใหม่หรือ New Growth Engine โดยบีซีจีสามารถตอบโจทย์การพัฒนาอย่างยั่งยืนในโลกของโควิดได้อย่างดี 

159482000897

ทั้งนี้ ภายใต้พลังของบีซีจีมีหลายภาคส่วนเข้ามาเกี่ยวข้อง เพื่อผลักดันสิ่งที่ไทยมีอยู่แล้วและสามารถต่อยอดได้ ไม่ว่าจะเป็น เกษตรอาหาร การแพทย์ สาธารณสุขและสุขภาพ พลังงานชุมชน การท่องเที่ยว และเศรษฐกิจสร้างสรรค์ จึงไม่ได้เริ่มจากศูนย์ 

"ภายในสมัชชาบีซีจีจะเห็นได้ว่า มีพลังจากทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ มหาวิทยาลัย สถาบันวิจัย ภาคเอกชน และประชาชน ในนามของจตุรภาคีได้มาทำงานร่วมกันภายใต้สิ่งที่เน้นคือ “การบริหารจัดการภายใต้นิวนอร์มอล”

สุวิทย์ กล่าวเสริมว่า เป้าหมายการพัฒนาเศรษฐกิจประเทศภายใต้แนวทางบีซีจี มุ่งให้เกิดผลสัมฤทธิ์ที่เป็นรูปธรรมในระยะเวลา 5 ปี ประกอบด้วย 1.สร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจ ซึ่งบีซีจีมีมูลค่าทางเศรษฐกิจรวมกันกว่า 3.4 ล้านล้านบาท โดยจีดีพีอยู่ที่ 21% (ก่อนการระบาดของโรคโควิด-19) หากมีนโยบายและการบริหารจัดการที่เหมาะสม ประมาณการว่าในอีก 5 ปี ข้างหน้า กลุ่มอุตสาหกรรมภายใต้โมเดลเศรษฐกิจบีซีจีจะมีมูลค่าเพิ่มเป็น 4.4 ล้านล้านบาท 

159482003294

2.การสร้างงานทั้งระบบ 16.5 ล้านคน และผลของการเติบโตทางเศรษฐกิจใน 5 ปีข้างหน้า คาดว่าจะมีการจ้างงานได้กว่า 20 ล้านคน  3.การสร้างการเติบโตเชิงคุณภาพของโมเดลเศรษฐกิจบีซีจี คือ การตอบโจทย์การพัฒนาที่ยั่งยืน เน้นการพัฒนาโดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง กระจายรายได้อย่างเป็นธรรม ลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงยาและเวชภัณฑ์ ลดการใช้ทรัพยากร ลดปัญหามลพิษและสิ่งแวดล้อม ลดความเสี่ยงจากโรคระบาดในคน สัตว์และพืช ลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

18 หน่วยงานลงนามสนับสนุนการลงทุน

ภายในงานยังมีพิธีลงนามความร่วมมือโครงการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจบีซีจี สร้างความมั่นคงมั่งคั่งและยั่งยืน จากหน่วยงานภาครัฐเอกชนและสถาบันการเงินจำนวน 18 หน่วยงาน เพื่อสนับสนุนการลงทุนในระยะแรก 1 หมื่นล้านบาท ก่อให้เกิดผลกระทบไม่น้อยกว่า 4 หมื่นล้านบาท และมีผู้ได้รับผลประโยชน์ไม่น้อยกว่า 5 หมื่นคน

อาทิ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย บริษัท เกษตรไทย อินเตอร์เนชั่นแนล ชูการ์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) และบริษัท เบทาโกร จำกัด (มหาชน) และ บริษัท มิตรผล จำกัด เป็นต้น 

159482015291

นอกจากนี้ยังมีนิทรรศการแสดงตัวอย่างผลงานภายใต้แนวคิดเศรษฐกิจบีซีจี จำนวน 38 บูท โดยส่วนหนึ่งจะเป็นผลผลิตในโครงการเร่งรัด (Quick Win) อาทิ สารสกัดจากมังคุดสู่เครื่องสำอางด้วยเทคโนโลยีนาโน การใช้เอไอในการเลี้ยงสุกร 

ขณะที่สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) ร่วมจัดแสดงนิทรรศการผลงานวิจัยและพัฒนา อาทิ เทคโนโลยีเกษตร ผลผลิตอาหารมูลค่าสูงจากวัตถุดิบทางการเกษตร ผลิตภัณฑ์สมุนไพรยกระดับสินค้าเกษตร รวมถึงผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางภายใต้โครงการ Thai Cosmetopoeia หรือ โครงการขับเคลื่อนเศรษฐกิจสังคมไทย ด้วยการสร้างสรรค์คุณค่าเครื่องสำอางตามเอกลักษณ์ท้องถิ่น