ลุ้นหั่นนำส่ง‘เอฟไอดีเอฟ’ ปลุกเก็งกำไร'หุ้นแบงก์’คึก

ลุ้นหั่นนำส่ง‘เอฟไอดีเอฟ’  ปลุกเก็งกำไร'หุ้นแบงก์’คึก

หุ้นกลุ่ม"แบงก์"ปรับตัวขึ้นขานรับ ธปท.มีแนวโน้มขยายเวลาลดเงินนำส่งเข้า FIDF เหลือ 0.23% จาก 0.46% จากเดิมที่กำหนดไว้ถึงแค่สิ้นปี64 โบรกคาดหนุนกำไรสุทธิ 7แบงก์ใหญ่ ปี65 เพิ่มขึ้นรวม 1.85 หมื่นล้านบาท

จากกรณีที่นายเมธี สุภาพงษ์ รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า การปรับลด FIDF fee เป็นการลดชั่วคราว 2 ปีซึ่งทำให้ระยะเวลาการคืนหนี้ของกองทุนเพื่อการฟื้นฟูระบบสถาบันการเงิน(FIDF) ยืดออกไปอีก 1 ปีแต่ไม่มีประเด็นใดที่ต้องกังวล ถ้าจำเป็นต้องลดต่อก็สามารถพิจารณาได้โดยเป็นการลดชั่วคราวเช่นกัน ซึ่งการลด FIDF fee ที่ทำไปมีผลช่วยในเรื่องการลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ของธนาคารพาณิชย์

ความเคลื่อนไหวของหุ้นในกลุ่มธนาคารพาณิชย์หลังจากประเด็นดังกล่าวเผยแพร่ออกมา ส่วนใหญ่ตอบรับในเชิงบวก วานนี้(15ก.ค.)ธนาคารขนาดใหญ่อย่าง บมจ.ธนาคารกรุงเทพ (BBL) เพิ่มขึ้นไปสูงสุดที่ 109 บาท หรือ 2.35% บมจ.ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) เพิ่มขึ้นสูงสุด 74.50 บาท หรือ 2.41% ขณะที่บมจ.ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) เพิ่มขึ้นสูงสุด 2.18% จากวันก่อนหน้า

บริษัทหลักทรัพย์(บล.)โนมูระ พัฒนสิน ระบุว่า เรามีมุมมองเป็นบวกต่อประเด็นดังกล่าว จากการที่ต้นทุนการเงินของกลุ่มธนาคารในปี 2565 ที่มีแนวโน้มลดลง และ NIM ที่เพิ่มขึ้น จากโอกาสที่จะขยายเวลาลดเงินนำส่งเข้า FIDF ออกไป ทั้งนี้ ประเมินว่ากลุ่มธนาคารขนาดใหญ่จะได้ประโยชน์มากกว่ากลุ่มธนาคารขนาดกลาง-เล็ก ด้วยฐานเงินฝากที่สูงกว่า หากพิจารณาเงินฝาก ณ สิ้นไตรมาส 1 ที่ผ่านมา BBL มีฐานเงินฝากมากที่สุด 2.51 ล้านล้านบาท ตามด้วย บมจ.ธนาคารกรุงไทย (KTB) ที่ 2.35 ล้านล้านบาท ถัดมาคือ SCB ที่ 2.27 ล้านล้านบาท และ KBANK ที่ 2.20 ล้านล้านบาท

ทั้งนี้ จากการคาดการณ์ผลกระทบเชิงบวกต่อกำไรของกลุ่มธนาคารขนาดกลางและใหญ่ 7 แห่ง ได้แก่ BBL, KTB, SCB, KBANK รวมถึง บมจ.ธนาคารทหารไทย (TMB) บมจ.ธนาคารเกียรตินาคิน (KKP) และ บมจ.ทิสโก้ไฟแนนเชียลกรุ๊ป (TISCO) หากมีการขยายระยะเวลาลดเงินนำส่ง FIDF เหลือ 0.23% ต่อไปอีกในปี 2565 จะทำให้กำไรรวมของ 7 ธนาคารนี้ เพิ่มขึ้น 1.85 หมื่นล้านบาท โดย BBL, KTB และ SCB เป็นสามธนาคารที่กำไรมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นมากสุดราว 13%

ขณะ ภาสกร หวังวิวัฒน์เจริญ ผู้ช่วยผู้จัดการสายงานวิจัย บล.เอเซียพลัส ประเมินว่า หากประเด็นดังกล่าวเกิดขึ้นจริง เชื่อว่าธนาคารพาณิชย์ต้องมีการลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลงตาม เหมือนที่เคยเกิดขึ้นช่วง เม.ย. 2563 จึงไม่ได้มองเป็นบวกต่อรายได้มากนัก อย่างไรก็ดีปัจจัยดังกล่าวช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายดอกเบี้ยให้กับลูกหนี้ ซึ่งจะช่วยเรื่องคุณภาพสินทรัพย์ของกลุ่มในทางอ้อม

“โดยรวมยังมองเป็นกลางต่อประเด็นดังกล่าว คือการลดเงินส่งเข้ากองทุนส่วนนี้ เพื่อให้แบงก์ส่งผ่านความช่วยเหลือไปยังลูกหนี้ได้ ฉะนั้นแล้วคงต้องติดตามดูก่อนว่าแบงก์จะลดดอกเบี้ยเงินกู้ลงตามหรือไม่ หากมีการขยายเวลาจริง ส่วนภาพการลงทุนของกลุ่มแบงก์ยังคงให้น้ำหนักน้อยกว่าตลาด เพราะ NPL ยังไม่ผ่านจุดสูงสุดและการฟื้นตัวของเศรษฐกิจอาจจะต้องรอไปจนถึงไตรมาส 1 ปี 2564”

จะเห็นว่าแนวโน้มผลประกอบการของหุ้นกลุ่มธนาคารยังดูไม่ค่อยสดใสนัก โดยเฉพาะในช่วงไตรมาส 2 ที่ผ่านไปนี้ ซึ่ง บล.บัวหลวง ประเมินว่า จากธนาคารทั้งหมด 8 ธนาคารที่เราให้คำแนะนำลงทุนจะมีเพียง TMB ที่รายงานกำไรสุทธิ ไตรมาส 2 เติบโตได้จากปีก่อน คาดว่าจะเพิ่มขึ้น 25% หนุนจากการควบรวมพอร์ตสินเชื่อของธนาคารธนชาต

ในขณะที่คาดธนาคารอื่นจะรายงานกำไรปรับตัวลดลงมากน้อยตามลำดับต่อไปนี้ (เรียงจากปรับตัวลดลงมากที่สุดไปน้อยที่สุด) ได้แก่ บมจ.ธนาคารกรุงศรีอยุธยา (BAY), SCB, KBANK, TISCO, KTB, BBL, และ KKP จากการตั้งสำรองหนี้สงสัยจะสูญที่มากขึ้น และผลตอบแทนจากการลงทุนที่ลดลง

โดยรวมเราประเมินกำไรของกลุ่มแบงก์ในไตรมาส2 อยู่ที่ 3.2 หมื่นล้านบาท ลดลง 38% และประเมินการตั้งสำรองที่ 4.3 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 20% แต่ลดลง 16% จากไตรมาสก่อน ส่วนแนวโน้มไตรมาส 3 ปีนี้ คาดว่าผลประกอบการจะฟื้นตัวได้จากไตรมาส 2 จากมาตรการผ่อนคลายล็อกดาวน์ โดยประเมินกำไรรวมที่ 3.8 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 21% จากไตรมาส 2 แต่ลดลง 28% จากปีก่อน ในเชิงมูลค่าหุ้นของกลุ่มธนาคาร ตอนนี้ลงมาซื้อขายในระดับ P/BV ที่ 0.7 เท่า หรือระดับเดียวกับตอนเกิดวิกฤติปี 2551 แล้ว