‘นำเข้า-ส่งออก’ จีน มิ.ย.ฟื้นตัว

‘นำเข้า-ส่งออก’ จีน มิ.ย.ฟื้นตัว

ในช่วงที่โลกกำลังค่อยๆ ออกจากมาตรการล็อกดาวน์ที่เล่นงานเศรษฐกิจเสียหายหนัก การค้าจีนในเดือน มิ.ย.เติบโตอย่างน่าประหลาดใจ กระนั้นเจ้าหน้าที่ยังเตือนถึงกระแสต้านที่อาจตีกลับได้จากการที่ไวรัสยังระบาดอยู่

เดือน มิ.ย. การนำเข้าของจีนเติบโตขึ้น 2.7% เป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เดือน ธ.ค. และมากกว่าที่สำนักข่าวบลูมเบิร์กคาดการณ์ไว้ว่าจะหดตัว 9% ส่วนการส่งออกประจำเดือนมิ.ย. ขยับขึ้น 0.5% เหนือความคาดหมายว่าจะหดตัวเช่นกัน ส่วนในเดือน พ.ค. การนำเข้าจีนร่วงลง 16.7% การนำเข้าลดลง 3.3%

ไม่กี่วันก่อนเพิ่งมีข้อมูลคาดการณ์ว่า เศรษฐกิจจีนที่ใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลก กลับมาขยายตัวในไตรมาส 2 จากที่เคยหดตัวในไตรมาสแรก

ลี กุ้ยเหวิน โฆษกกรมศุลกากรจีน กล่าวว่า ทั้งการนำเข้าและการส่งออกส่งสัญญาณการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่เริ่มมีเสถียรภาพขึ้นในไตรมาสที่ 2 จีนเดินหน้าพยายามรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจในหลายๆ ด้าน เช่นการจ้างงาน การค้าต่างประเทศ และการลงทุน

กระนั้นโฆษกกรมศุลกากรจีนเตือนว่า สภาพแวดล้อมภายนอกยังดูมืดมนและยุ่งยาก เพราะโรคโควิดที่ทำให้เศรษฐกิจโลกโดยรวมร่วงลงไปอยู่ในภาวะหดตัวอย่างรุนแรงการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศที่ประสบกับภาวะหดตัวเช่นกัน

ช่วงครึ่งแรกของปี การส่งออกลดลง 6.2% จากปีที่แล้ว ขณะที่การนำเข้าลดลง 7.1% ด้วย สะท้อนให้เห็นถึงผลกระทบที่ได้รับจากโควิดที่ระบาดครั้งแรกทางภาคกลางของจีน

เศรษฐกิจจีนคาดว่าจะกลับมาเติบโตในช่วงเดือน เม.ย.-มิ.ย. หลังจากหดตัวลง 6.8% ในไตรมาส 1 เพราะถูกไวรัสมรณะเล่นงานเสียหายกันไปทั้งโลก ถือเป็นการหดตัวรายไตรมาสครั้งแรก นับตั้งแต่จีนเก็บข้อมูลเมื่อต้นทศวรรษ 90

ส่วนการค้ากับสหรัฐจีนยังได้เปรียบดุลการค้า นี่เป็นสาเหตุใหญ่ทำให้ทำเนียบขาวโกรธมาก ตัวเลขเดือน มิ.ย. ลดลงเล็กน้อยมาอยู่ที่ 2.94 หมื่นล้านดอลลาร์ ลดลง 1.7% จาก 2.99 หมื่นล้านดอลลาร์ในเดือน มิ.ย.2562

ความตึงเครียดเพิ่มขึ้นหลายแนวรบ อาทิ มหาอำนาจทั้ง 2 ประเทศสาดโคลนเรื่องไวรัสใส่กัน จีนใช้กฎหมายความมั่นคงฮ่องกงฉบับใหม่อันเข้มงวดและนโยบายของจีนเกี่ยวกับทิเบตและซินเจียง

แต่ลีกล่าวว่า สหรัฐและจีนยังเดินหน้าปฏิบัติตามข้อตกลงการค้าเฟส 1 ที่ลงนามกันในเดือน ม.ค. ที่เป็นหมุดหมายการสงบศึกสงครามการค้าที่ทำกันมานาน

ขณะที่การค้าจีนฟื้นตัวเมื่อเดือนที่แล้ว นักวิเคราะห์กลับเตือนว่าอาจแผ่วลงได้ เนื่องจากคู่ค้าหลักหลายประเทศกลับมาล็อกดาวน์อีกครั้ง ส่งผลให้ความต้องการจากภายนอกซบเซาลง

จู ฮองบิน หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ธนาคารเอชเอสบีซี กล่าวในรายงานฉบับล่าสุด อ้างถึงตัวชี้วัดกิจกรรมการผลิตในโรงงาน ระบุ “มาตรวัดคำสั่งซื้อสินค้าส่งออกจีนรายการใหม่ในดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อยังคงหดตัวในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา” 

แต่การนำเข้ามีแนวโน้มได้แรงหนุนจากความต้องการภายในประเทศและราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่ปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง

รายงานเมื่อเร็วๆ นี้ของแคปิตอล อีโคโนมิก ระบุว่า ความต้องการสินค้าบางชนิดที่เพิ่มขึ้น เช่น เครื่องมือแพทย์ ช่วยให้การค้าแข็งแกร่ง

“อย่างในจีน ถ้าไม่มีสินค้าเหล่านี้ การส่งออกเดือน พ.ค.อาจลดลงกว่า 10% เมื่อเทียบกับปีก่อน” รายงานระบุ