บูรณาการความรู้ ต่อยอดโจทย์ ‘วิจัย’ เพื่อรับมือภาวะ ‘แล้ง’

บูรณาการความรู้ ต่อยอดโจทย์ ‘วิจัย’ เพื่อรับมือภาวะ ‘แล้ง’

เปิดแผนงาน "วิจัย" สถานการณ์น้ำและภาวะ “แล้ง” ท่ามกลางความท้าทายของการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมและภูมิอากาศ เพื่อลดความรุนแรงของผลกระทบที่จะเกิดขึ้น

ภาวะแล้ง ในไทยถูกพูดถึงมากขึ้นทั้งในงานวิชาการและจากผู้ใช้น้ำภาคการเกษตร ภาคธุรกิจ และภาคครัวเรือน ฝนที่ตกน้อยลง อุณหภูมิสูงขึ้น ส่งผลไปถึงปริมาณน้ำในเขื่อนต่างๆ ที่ลดลงไปจนถึงปัญหาน้ำประปาเค็มในหลายพื้นที่ สภาวะอากาศที่แปรปรวนมากขึ้นทำให้เกิดความยากในการจัดการน้ำ ความเดือดร้อนในภาคส่วนต่างๆ ดังกล่าวทำให้ความจำเป็นในการวิจัยเรื่องนี้มีมากขึ้นเพื่อรับมือกับสถานการณ์ได้อย่างทันท่วงที

“ภาวะแล้งหมายความว่า น้ำน้อยกว่าปกติ แต่ยังไม่ใช่ภัยแล้ง” รศ.ดร.สุจริต คูณธนกุลวงศ์  เอ่ยก่อนจะอธิบายว่า ภาวะแล้งจะกลายเป็นภัยแล้งก็ต่อเมื่อมีความเสียหาย นั่นหมายความว่า หากมีวิธีการอยู่กับภาวะแล้ง เราก็อาจจะไม่ต้องประสบภัยแล้งได้

รศ.ดร.สุจริต เป็นอาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมแหล่งน้ำ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และประธานคณะกรรมการอำนวยการแผนงานยุทธศาสตร์เป้าหมายด้านสังคม แผนงานการบริหารจัดการน้ำ ที่เข้ามาทำงานวิจัยเรื่องสถานการณ์น้ำและภาวะแล้งตั้งแต่เดือนพฤษภาคม ปี 2562 หลังจากเกิดภาวะแล้งขึ้นในประเทศไทยได้ 1 ปี แผนงานฯ นี้เป็นแผนงานวิจัยมุ่งเป้าที่เป็นไปตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (พ.ศ. 2561-2580) ของรัฐบาล

เป้าหมายสำคัญก็คือ ลดความเสียหายจากภาวะแล้ง เพิ่มศักยภาพของน้ำในฐานะปัจจัยการผลิตเพื่อการเติบโตด้านเศรษฐกิจ โดยหนึ่งในนั้นคือ การลดปริมาณการใช้น้ำภายในพื้นที่ 15 เปอร์เซ็นต์ และจากเขื่อนอีก 15 เปอร์เซ็นต์

“ถ้าเราได้ 30 เปอร์เซ็นต์คืนมา เราจะนำน้ำมาช่วยพื้นที่ใหม่ๆ ได้ ประเทศไทยต้องโต ถ้าโต มีเมืองใหม่เกิดขึ้น แต่น้ำของภาคการเกษตรยังใช้เยอะอยู่ ก็จะแย่งกัน ถ้าเราไม่จัดการ อนาคตก็จะเกิดสงครามน้ำแน่นอน” รศ.ดร.สุจริตอธิบาย ซึ่งเขาได้เริ่มต้นการวิจัยเรื่องสถานการณ์น้ำในพื้นที่โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาท่อทองแดง จ.กำแพงเพชร และเขื่อนภูมิพลมาแล้วเป็นเวลา 1 ปี เป็นโครงการนำร่องที่เชื่อว่า จะพัฒนาเป็นต้นแบบให้กับพื้นที่เกษตรกรรมอื่นๆ ได้

สำหรับแผนงานการวิจัยที่เริ่มขึ้นมานี้ยังอยู่ในระยะแรก จากกำหนดเวลาของแผนงานระยะยาวทั้งหมด 3 ปี ต่างจากการวิจัยที่ผ่านมาที่ทำในระยะเวลาสั้น ระยะเวลาที่มากขึ้นทำให้นักวิจัยได้เพิ่มประสิทธิภาพของการทำงาน โดยปีแรกจะเป็นการวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อสร้างเครื่องมือต่างๆ ปีที่ 2 คือนำเครื่องมือไปทดลองใช้กับหน่วยงาน เช่น กรมชลประทาน และปีที่ 3 คือการถ่ายโอนให้หน่วยงานได้นำไปใช้จริง

159474636237

รศ.ดร.สุจริต คูณธนกุลวงศ์

  • วิจัยเพื่อข้อมูลในอนาคต

สิ่งสำคัญที่คณะวิจัยกำลังผลักดันให้เกิดก็คือ วิสัยทัศน์ใหม่ของเกษตรกรที่จะไม่ยึดติดกับประสบการณ์หรือความรู้จากอดีต เพราะสถานการณ์น้ำในประเทศได้เปลี่ยนไปแล้ว โดยทั่วไปการใช้น้ำในภาคการเกษตรจะมาจาก 2 แหล่ง คือ น้ำฝนและน้ำจากเขื่อน คณะวิจัยจึงตั้งโจทย์การทำงานให้ตอบคำถามของเกษตรกรให้ได้ว่า ฝนจะตกเป็นปริมาณเท่าใด และมีน้ำในเขื่อนอยู่เท่าใด

“เรากำลังทดลองอยู่ ทำให้เขารู้ว่าสิ่งที่คิดนั้นผิดหมดเลย พ่อขุนรามคำแหงบอกเราใช่ไหม ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว ปัจจุบันนี้เด็กที่เรียนก็ยังบอกว่า ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว แต่น้ำมันเริ่มไม่มีแล้วนะ เริ่มไม่มีข้าวแล้วนะ การรับรู้ของคนปัจจุบันนี้เราเรียนจากอดีต ตราบใดที่อนาคตเหมือนอดีต ความรู้เราก็ถูก แต่ตอนนี้อนาคตเราไม่เหมือนกับอดีต สิ่งที่เรารู้ ประสบการณ์เราผิดหมดเลย” รศ.ดร.สุจริตอธิบาย

 

แม้ รศ.ดร.สุจริต จะยอมรับว่า ข้อมูลในอดีตอาจไม่เหมือนกับข้อมูลในอนาคตอีกต่อไป แต่การวิจัยใช้ข้อมูล เช่น ปริมาณน้ำฝน ที่ทั่วโลกเก็บไว้นั้นจำเป็นต่อการจำลองสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้น เมื่อปริมาณฝนที่น้อยลงคือความกังวลของเกษตรกร โครงการนำร่องจึงให้กลุ่มเกษตรกรผู้ใช้น้ำเช็คปริมาณน้ำฝนได้เองล่วงหน้า 2 สัปดาห์จากฐานข้อมูลที่ได้วิเคราะห์ไว้ ผลปรากฏว่า

เกษตรกรเห็นด้วยอย่างมากที่มีเครื่องมือในการช่วยตัดสินใจบนความเสี่ยงที่น้อยลง พร้อมทั้งยังยื่นโจทย์ให้ทีมนักวิจัยช่วยคาดการณ์ปริมาณน้ำฝนล่วงหน้ามากขึ้นอีกเป็นเวลา 6 เดือน ซึ่งจุดนี้เป็นสิ่งที่ทีมนักวิจัยตั้งเป้าไว้ว่าจะต้องพัฒนาต่อให้ได้

ปัญหาที่เกิดขึ้นตอนนี้ก็คือ หน่วยงานรัฐยังไม่กล้าเสี่ยงที่จะทดลองทำวิธีการใหม่ๆ เพื่อรับมือกับสถานการณ์น้ำ การปฏิบัติงานที่ผ่านมาของหน่วยงานรัฐเป็นไปตามความรู้และประสบการณ์ชุดเดิมที่เมื่อไม่สำเร็จก็ไม่มีการกล่าวโทษใคร เพราะเคยทำเช่นนี้มาก่อน แต่หากมีวิธีการใหม่แล้วไม่เกิดผลก็อาจถูกมองว่าเป็นความผิดได้ ฉะนั้นการวิจัยเรื่อง น้ำ และภาวะแล้งยังถือเป็นการเพิ่มความมั่นใจให้กับหน่วยงานในการที่จะวิเคราะห์ข้อมูลและหาวิธีที่ดีที่สุดที่จะช่วยให้เกิดการใช้น้ำอย่างมีประสิทธิภาพได้

  • วิจัยเพื่อตั้งรับปรับตัว

นอกจากการวิจัยเพื่อสร้างฐานข้อมูลในอนาคตแล้ว การทำให้กลุ่มผู้ใช้น้ำรู้จักวิธีปรับตัวตามสถานการณ์น้ำก็เป็นสิ่งจำเป็น เช่น หากน้ำมีไม่เพียงพอ งานวิจัยต้องบอกได้ว่า ชาวนาควรจะหันไปทำอะไรเพื่อลดความเสียหาย และเพิ่มรายได้ รศ.ดร.สุจริต ยกตัวอย่างจากงานวิจัยใน 1 ปีที่ผ่านมาของพื้นที่ท่อทองแดง จ.กำแพงเพชร ว่าเมื่อนักวิจัยรู้ว่าจะเกิดภัยแล้งในปี 2563 ก็ได้แจ้งให้กลุ่มผู้ใช้น้ำทราบล่วงหน้าและหาวิธีการบรรเทาผลกระทบด้วยการแนะนำให้แบ่งพื้นที่ไว้ปลูกกล้วยซึ่งใช้น้ำน้อยกว่าข้าว ผลปรากฏว่า นอกจากเกษตรกรจะรู้จักใช้น้ำตามปริมาณที่มีแล้ว ยังมีรายได้จากการปลูกกล้วยด้วย

“ชาวบ้านเขาก็ขุดคู คลอง บ่อ ในพื้นที่ให้น้ำเต็ม เพราะเราเตือนเขา และแทนที่จะปลูก 20 ไร่ ก็ลดเหลือ 10 ไร่ เขารู้ว่ามีต้นทุน แล้วก็รู้ว่ากรมชลประทาน จะไม่ให้น้ำด้วย ถ้ามองจากพื้นที่เขาจะรู้เลยว่าพื้นที่เป็นยังไง เขาจะช่วยตัวเอง ก็คือต้องไปสำรวจว่า น้ำจะมีเท่าไหร่ แล้วก็ปรับตัว ปลูกข้าวก็ต้องปรับตัว ไปปลูกอย่างอื่น ไปๆ มาๆ เขาได้รายได้มากกว่าที่จะปลูก 20 ไร่ เพราะว่าถ้าปลูก 20 ไร่ เขาก็จะเสียหาย 10 ไร่ แม้จะเข้าเกณฑ์ของรัฐบาลก็ได้เงินชดเชยไร่ละ 5,000 บาท 10 ไร่ ก็ 50,000 บาท แต่ถ้าเขาไปปลูกกล้วย เขากลับได้รายได้มากกว่า 50,000 บาท” รศ.ดร.สุจริต ให้ข้อมูล

159474632433

จะเห็นได้ว่า จากสถานการณ์น้ำและสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนไปทำให้เกษตรกรต้องปรับตัว เมื่อมีข้อมูลจากการวิจัยทำให้การปรับตัวเรื่องการปลูกพืชนั้นเป็นไปได้มากขึ้น ยิ่งปัจจุบันเกษตรกรรมของไทยอยู่ในยุคของการเปลี่ยนผ่านจากรุ่นพ่อแม่ไปสู่รุ่นลูก ยิ่งต้องมีข้อมูลใหม่ๆ มาประกอบการตัดสินใจ ตอนนี้เกษตรกรรุ่นลูกเริ่มหันมาสนใจการปลูกพืชอื่นๆ ที่ไม่ใช่แค่ข้าวหรือมันตามความนิยมของภูมิภาคแล้ว แต่ยังสนใจพืชอื่นๆ ที่อาจจะได้ราคามากกว่า ซึ่งนับเป็นสิ่งที่ทางทีมวิจัยต้องเร่งทำความเข้าใจและส่งเสริมความรู้ใหม่ๆ เพื่อให้ทันก่อนที่จะเกิดผลกระทบทางสังคมและเศรษฐกิจในอนาคต

“วันนี้มีการเอาน้ำไปใช้ในกรุงเทพฯ ชาวนาเริ่มบ่นแล้วว่าทำไมไม่ให้เขา แล้วต้องทำยังไง ตอนนี้เราต้องให้บางคนเลิกเป็นชาวนามาเป็นแรงงาน  ที่ผ่านมาชาวอีสานก็ทำแบบนี้ เข้ามาทำงานในกรุงเทพฯ มันก็ต้องเกิดอาชีพใหม่ๆ หรืออาจจะปรับตัวเป็นเกษตรทันสมัย เป็น smart farmer อาจจะเป็นงานโรงงาน หรืออะไรก็ได้ที่รัฐบาลต้องหาให้เขา” รศ.ดร.สุจริต กล่าวและเสนอข้อมูลจากการวิจัยว่า การปรับตัวในภาพใหญ่ที่ต้องทำ ณ ขณะนี้ คือ ควรให้มีการทำการเกษตรในฤดูแล้งเพียง 1 ใน 3 ของฤดูฝน เพื่อให้น้ำมีเพียงพอต่อการใช้งานทุกภาคส่วน

 

  • วิจัยเพื่อหากลไกรองรับ

การศึกษาวิจัยเรื่อง ‘น้ำและภาวะแล้งไม่เพียงให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อเกษตรกร แต่ยังมองไปถึงการปรับเปลี่ยนอาชีพ หรือเปลี่ยนไปปลูกพืชผลชนิดอื่นโดยมีการปรึกษากับผู้เชี่ยวชาญด้านการเกษตรและสังคมร่วมด้วย

ทั้งนี้จากการทำงานในพื้นที่จ.กำแพงเพชร ทีมวิจัยเชื่อว่า เมื่อเกษตรกรหันมาใช้เครื่องมือต่างๆ ที่นักวิจัยนำเสนอเพียง 10 เปอร์เซ็นต์ก็จะทำให้เกษตรกรที่เหลือทำตาม อย่างไรก็ตามสิ่งที่ รศ.ดร.สุจริต เห็นว่าเป็นช่องโหว่สำคัญที่จะต้องอุดให้ได้หากเกษตรกรต้องปรับตัวก็คือ ตัวกลางที่จะถ่ายโอนความรู้และขยายผลให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงในอนาคต

159474632432

“เมื่องานวิจัยจบที่ใดที่หนึ่งแล้วก็มีกลไกที่จะออกแบบมาให้ชาวบ้านเขามีรายได้ ที่ต่างประเทศชาวบ้านกับสหกรณ์ต้องมาช้อปปิ้ง มาหาไปทำ แต่ว่าสหกรณ์เรายังไม่มีตรงนี้ ชาวบ้านก็หาเช้ากินค่ำจะมีเวลามาคิดวางแผนล่วงหน้าแบบนี้ไหม ถ้าไม่มีแล้วเราจะทำยังไง” รศ.ดร.สุจริตเสนอความเห็น

งานวิจัยในพื้นที่อาจจะเป็นแค่ต้นแบบหนึ่ง แต่การที่จะนำไปประยุกต์ใช้กับพื้นที่ทั่วประเทศจำเป็นต้องมีกลไกที่สร้างขึ้นเพื่อขยายผล ณ ตอนนี้ แผนในอนาคตของการวิจัยตั้งเป้าเบื้องต้นไปที่การเพิ่มความสามารถในการทำนายฝน การขยายพื้นที่การศึกษาและบริหารน้ำในเขื่อนเป็น 4 เขื่อน คือ เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อย และเขื่อนป่าสัก และการพัฒนากลุ่มผู้ใช้น้ำให้ได้ 5 จังหวัดของแต่ละภูมิภาค

ท้ายที่สุด รศ.ดร.สุจริต มองสถานการณ์ในอนาคตเพื่อต่อยอดงานวิจัยว่า ความร่วมมือจากภาคส่วนอื่นๆ เป็นสิ่งสำคัญ เช่น ภาคธุรกิจที่จะเข้ามาสนับสนุนการอบรมให้เกษตรกรมีความรู้เรื่องน้ำเพื่อให้มีน้ำเหลือใช้เพียงพอ หรือการร่วมมือกันกับกิจการเพื่อสังคมเพื่อผลักดันอาชีพให้กลุ่มเกษตรกร ซึ่งจะช่วยสร้างความมั่นคงให้กับเศรษฐกิจฐานรากได้อย่างแท้จริง