ลิงกัง กะทิ พาราควอต ไก่ ข้าวโพด และการเจรจาการค้า อาจเป็นเรื่องเดียวกัน!

 ลิงกัง กะทิ พาราควอต ไก่ ข้าวโพด และการเจรจาการค้า อาจเป็นเรื่องเดียวกัน!

ความผิดปกติของการนำเสนอเรื่องราวการทรมาน "ลิงเก็บมะพร้าว" ที่องค์กรระหว่างประเทศเจาะจงพุ่งเป้ามาที่ประเทศไทย เกี่ยวข้องกันอย่างไรกับการเตรียมเจรจาข้อตกลงทางการค้า

ผู้เขียนเชื่อว่ากระแสการถอดสินค้ากะทิและผลิตภัณฑ์มะพร้าวไทยออกจากชั้นในประเทศอังกฤษ มีเบื้องหลังไม่ปกติ สิ่งที่จะนำเสนอต่อจากนี้เน้นแง่มุมข้อสันนิษฐานและความเห็น เพื่อประโยชน์ต่อการสืบสาวและระมัดระวัง (ไว้ก่อน)

ความผิดปกติของการนำเสนอเรื่องราวการทรมาน 'ลิงเก็บมะพร้าว' ที่องค์กรระหว่างประเทศนำเสนอ มีข้อพิรุธที่เจาะจงรายงานการใช้แรงงานลิงเยี่ยงทาสในประเทศไทย ทั้งๆ ที่ประเทศไทยเป็นประเทศส่งออกมะพร้าวและผลิตภัณฑ์มะพร้าวลำดับกลางๆ ต่ำ ยังมีมหาอำนาจส่งออกมะพร้าวอีกตั้งหลายประเทศที่มีวิถีพื้นบ้านสอนลิงเก็บมะพร้าวแบบเดียวกับชนบทไทย แค่เสิร์ชในยูทูปหรือกูเกิ้ลก็ผุดออกมามากมาย สำหรับประเทศแถบศูนย์สูตรที่มีมะพร้าว นับแต่ อินเดีย ศรีลังกา อินโดนีเซีย มาเลเซีย ข้ามไปฟิลิปปินส์ ฯลฯ ล้วนแต่ใช้ ลิง เป็น working animals ด้วยกันทั้งสิ้น แล้วไฉนหวยจึงตกอยู่ที่ประเทศไทย ซึ่งมียอดส่งออกมะพร้าวน้อยมากเพียงประเทศเดียว

หลังจากนั้นไม่นานก็เกิดมีข่าวร้ายอีกระลอกตามมาติดๆ นั่นคือข่าวที่ห้างเทสโก้ของอังกฤษจะแบนไก่นำเข้าจากประเทศไทย ด้วยข้อหาอาหารเลี้ยงไก่ใช้วัตถุดิบกากถั่วเหลืองที่ทำลายสิ่งแวดล้อม แม้ว่าข่าวนี้ยังไม่ชัดเจน แต่ก็สะท้อนให้เห็นถึงร่องรอยของ ‘ประเด็น’ ที่วงการค้าส่งออกไทยจะเผชิญต่อไป นั่นเพราะว่าระหว่างประเทศอังกฤษถอนตัวจากอียู. ก็ได้มีการเจรจาการค้าทวิภาคี/ปรับปรุงข้อตกลงทางการค้ากับประเทศคู่ค้าสำคัญๆ ไปแล้วหลายประเทศ ส่วนประเทศไทยเรานั้นเข้าใจว่ากำลังอยู่ระหว่างเจรจาปรับปรุงข้อตกลงการค้า

นี่หรือเปล่า !? ที่เป็นต้นเหตุของข่าวแปลกๆ

การค้าระหว่างไทยกับอังกฤษเมื่อปีที่แล้ว 2562 มีมูลค่าประมาณ 6,260 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงจากปีก่อนหน้านิดหน่อย ปรากฏว่าไทยเราได้ดุลการค้าส่งออกมากกว่านำเข้ามาโดยตลอด ทราบไหมครับว่า หนึ่งในสินค้าหลักที่ประเทศไทยนำเข้าจากอังกฤษคืออะไร ? คำตอบก็คือ เคมีภัณฑ์การเกษตร! ซึ่งติดลำดับท็อปมาต่อเนื่อง ไทยเราน่ะเป็นผู้นำเข้าสารเคมีรายใหญ่ของโลกเอาเข้ามาทั้งจากจีน อังกฤษ อเมริกา จนกระทั่งล่าสุดที่มีนโยบายแบนสารเคมีสำคัญ 3 ตัวดังที่ทราบกัน

หลายท่านคงนึกว่า มันจบไปแล้ว เพราะรัฐบาลก็ตัดสินใจประกาศแบนสารเคมีไปแล้ว แต่ปรากฏผู้เกี่ยวข้องในวงการบอกว่าไม่จบง่ายๆ หรอก มูลค่าตลาดแสนล้านยังจบง่ายๆ ไม่ได้ ประเทศเพื่อนบ้านของเรายังกลับลำ แม้ว่าเคยสั่งแบนไปแล้วก็กลับเปลี่ยน ก็ยังเคยเกิดมีมาแล้ว ซึ่งก็น่าจับตาว่า การแบนกะทิและผลิตภัณฑ์มะพร้าว (จิ๊บๆ) ตามด้วยข่าวแบนไก่ (นี่เริ่มหนัก) เกี่ยวข้องกับการเจรจาข้อตกลงการค้าไทย-อังกฤษหรือไม่ หรืออย่างน้อยก็เกิดผลให้รัฐบาลไทยชะลอคำสั่งแบนสารต้องห้ามออกไปอีกเรื่อยๆ

เอ้อ ! ยักษ์ใหญ่เคมีภัณฑ์ อย่างเช่น Syngenta มีฐานผลิตที่เมือง Huddersfield ประเทศอังกฤษ มียอดส่งออกมาไทยปีละไม่น้อย ตัวเลขรวมที่อังกฤษสูญเพราะนโยบายแบนสารเคมีก็ไม่น้อย โดนัลด์ ทรัมป์ เคยกางบัญชีขาดดุลการค้ามาสะสางทีละรายประเทศ ไม่รู้ว่ามีผลต่ออังกฤษยุค BREXIT ขนาดไหน แต่ที่แน่ๆ กรณีลิงกัง+กะทิ ไม่ปกติ

เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา ยักษ์ใหญ่ซีพี.ของไทยเรามีข่าวแถลงออกมาผ่านสื่อ ว่าบริษัทเข้มงวดการตรวจสอบการรับซื้อเมล็ดข้าวโพดจากแปลงปลูกที่ไม่รุกป่า ทำลายสิ่งแวดล้อม ซึ่งที่จริงแล้วเรื่องนี้ก็ไม่ได้เป็นเรื่องใหม่ มีการประกาศมาตั้งแต่ 2-3 ปีก่อน แต่เหตุใด จู่ๆ ฝ่ายประชาสัมพันธ์ของบริษัทยักษ์ใหญ่ส่งออกไก่ ถึงมีข่าวแถลงยืนยันซ้ำ ก็มาพบว่าอาจจะเกี่ยวข้องกับกระแสข่าวอังกฤษจะแบนการนำเข้าผลิตภัณฑ์ไก่จากไทย เพราะวัตถุดิบที่ทำลายป่า/สิ่งแวดล้อม

เป็นการออกข่าวนอกฤดูข้าวโพด และเป็นข่าวเดิมที่หยิบมาย้ำ ...แบบนี้ก็ไม่ปกติเช่นกัน!

ผู้เขียนอ่านว่า นี่คือปฏิกิริยาของยักษ์ส่งออกไทยต่อสัญญาณเตือนแบบ ‘เชือดไก่ให้ลิงดู’ บ่งบอกว่าคิวต่อไปจะไม่ใช่ผลิตภัณฑ์มะพร้าวที่มีมูลค่าจิ๊บๆ แล้วนะ หากแต่เป็นเนื้อไก่ที่เป็นแชมป์เปี้ยนสร้าง GDP แล้วนะ

ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในประเทศปัจจุบันไม่เพียงพอ ต้องนำเข้าจากเพื่อนบ้าน ไม่เพียงเท่านั้นวัตถุดิบอื่นอย่างกากถั่วเหลือง หรือข้าวสาลีก็ต้องนำเข้ามาเป็นระยะ เพื่อผลิตอาหารเลี้ยงสัตว์และเนื้อสัตว์ส่งออก ดังนั้นข้าวโพดเลี้ยงสัตว์จึงขยายแพร่ขึ้นไปบนดอยสูงแม้ว่าบนโน้นจะไม่มีเอกสารสิทธิ์ นั่นเพราะว่าในโลกความเป็นจริงข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ทุกเมล็ดมีคนรับซื้ออย่างแน่นอน ถ้าไม่ยักษ์เบอร์นี้ ก็เป็นยักษ์อีกเบอร์ นี่หรือไม่ที่ ซีพี. จึงต้องประกาศออกมาดังๆ ว่าบริษัทตนมีมาตรการไม่เหมือนเจ้าอื่น

แต่ก็นั่นล่ะครับ หากสมมติว่าการเจรจาการค้าเกิดไม่ลงตัว อะไรๆ ก็สามารถเกิดขึ้นได้ทั้งสิ้น ดูตัวอย่างปาล์มน้ำมันของอินโดนีเซียที่ตอนนี้เคว้งคว้างเพราะอียู.ยกเลิกการนำเข้าเหตุทำลายป่าและสิ่งแวดล้อม ต่อให้ผู้ส่งออกอาหารสัตว์ของเรายืนยันเด็ดเดี่ยวพิสูจน์ได้ชัดเจนว่าข้าวโพดไม่ได้รุกป่า แต่ที่สุดแล้วประเทศปลายทางก็ยังสามารถหยิบข้ออ้างว่าด้วยการทำลายสิ่งแวดล้อมมาเล่นงานได้อยู่ดี นั่นเพราะแปลงข้าวโพดแทบจะร้อยทั้งร้อยในภาคเหนือ ใช้ไฟเผาเตรียมแปลง ด้วยเพราะมันเป็นการจัดการที่ใช้ต้นทุนถูกที่สุด 

ที่สำคัญปัญหาการใช้ไฟในแปลงข้าวโพดไม่ได้มีเฉพาะแต่ในประเทศไทยเท่านั้น รัฐทางตอนเหนือของอินเดียก็เช่นกัน ทั้งข้าวทั้งข้าวโพดใช้ไฟเผาทั้งสิ้น ฟ้าของอินเดียในเดือนตุลาคมซึ่งเป็นฤดูเก็บเกี่ยวจึงมืดมัวมลพิษสูงสุดในโลกต่อเนื่อง เพื่อนบ้านอย่างพม่าก็เช่นกัน แต่พม่าเผาในเดือนมีนาคม อย่าประมาทเสียงบ่นต่อข้าวโพดที่ดังระงมไปทั่วโลกเชียว

การกีดกันทางการค้ายุคใหม่ใช้ประเด็นเรื่องสิ่งแวดล้อมและสิทธิมนุษยชน กระทั่งคุณธรรมว่าด้วยสิทธิสัตว์ก็ถูกงัดเป็นอาวุธ เกษตรกรและผู้เกี่ยวข้องอย่าดูดายต่อปรากฏการณ์แปลกๆ เพราะไปๆ มาๆ ลิงกัง – กะทิ – กากถั่วเหลือง – ไก่ส่งออก – ข้าวโพด – พาราควอต และการเตรียมเจรจาการค้า อาจล้วนเป็นเรื่องเดียวกัน

แต่ในทางปฏิบัติ ข้าวโพดบนดอยที่ควรจะหมดอนาคตได้แล้ว ตั้งแต่ยักษ์ใหญ่ประกาศไม่รับซื้อข้าวโพดที่ไม่ได้ปลูกในที่เอกสารสิทธิ์ แต่ล่าสุดข้าวโพดบนดอยภาคเหนือก็ยังมีอยู่เป็นแสนๆ ไร่ เท่านั้นยังไม่พอ นโยบายรัฐบาลก็ยังประกาศรับประกันราคาข้าวโพดแบบที่เคยส่งเสริมกันมา

ไม่อยากนึกเลย หากว่าเกิดมีการระงับส่งออกไก่และอาหารสัตว์ ด้วยเหตุสิ่งแวดล้อม/คาร์บอนไดออกไซด์/โลกร้อน แบบเดียวกับที่ปาล์มน้ำมันถูกแบน เกษตรกรบนดอยจะอยู่กันอย่างไร ที่ถูกรัฐบาลควรต้องโซนนิ่งประกาศเป้าหมายลดพื้นที่ข้าวโพดและพืชเชิงเดี่ยว(ใช้ไฟ)บนดอยสูงต้นน้ำนับแต่บัดนี้ เพื่อจะมีเวลาจัดการเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นขั้นเป็นตอน 

ดีกว่ามาตาลีตาเหลือกทำตอนเขาทุบโครมเรียบร้อยไปแล้ว