ผู้ตรวจฯไร้อำนาจวินิจฉัย ปม 'สุชาติ' พ้น สนช. ไม่ครบ 10 ปี

ผู้ตรวจฯไร้อำนาจวินิจฉัย ปม 'สุชาติ' พ้น สนช. ไม่ครบ 10 ปี

"รักษเกชา" ผู้ตรวจฯไร้อำนาจวินิจฉัย ปม 'สุชาติ' พ้น สนช. ไม่ครบ 10 ปี

นายรักษเกชา แฉ่ฉาย เลขาธิการสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน เปิดเผยวานนี้(14 ก.ค.)ว่า ผู้ตรวจการแผ่นดินได้มีคำวินิจฉัยยุติเรื่องร้องเรียนของนายศรีสุวรรณ จรรยา ที่ขอให้ผู้ตรวจการแผ่นดินพิจารณาเสนอเรื่องพร้อมด้วยความเห็นต่อศาลรัฐธรรมนูญหรือศาลปกครอง ตามมาตรา 23 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ(พ.ร.ป.)ว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดิน พ.ศ. 2560 เพื่อพิจารณาวินิจฉัย กรณีสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา และคณะกรรมการสรรหากรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) ดำเนินการและส่งรายชื่อนายสุชาติ ตระกูลเกษมสุข อดีตสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) ซึ่งพ้นจากตำแหน่งมายังไม่ครบ 10 ปี อันมีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 11 (18) ของพ.ร.ป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 ให้วุฒิสภาให้ความเห็นชอบเป็นกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ เป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายและรัฐธรรมนูญ

ผู้ตรวจการแผ่นดินได้พิจารณาข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องแล้วเห็นว่า การที่ผู้ร้องเรียนขอให้ผู้ตรวจการแผ่นดินจะพิจารณาเสนอเรื่องพร้อมด้วยความเห็นต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อพิจารณาวินิจฉัย ตามมาตรา 23 (1) ได้นั้น จะต้องเป็นกรณีที่เห็นว่าบทบัญญัติแห่งกฎหมายใดมีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ หมายถึง กฎหมายที่ตราขึ้นโดยองค์กรที่ใช้อำนาจนิติบัญญัติตามกระบวนการที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ ไม่ว่าจะตราขึ้นโดยฝ่ายนิติบัญญัติหรือฝ่ายบริหารก็ตาม ได้แก่ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ พระราชบัญญัติ พระราชกำหนดที่ได้รับอนุมัติจากรัฐสภาแล้ว และประกาศคณะปฏิวัติฉบับที่มีผลใช้บังคับเทียบเท่ากับพระราชบัญญัติ

 

“กรณีนี้เป็นการร้องเรียนเกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ของสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภาและคณะกรรมการสรรหากรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ มิใช่เป็นการร้องเรียนเกี่ยวกับบทบัญญัติแห่งกฎหมาย จึงไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่ผู้ตรวจการแผ่นดินจะพิจารณาเสนอเรื่องพร้อมด้วยความเห็นต่อศาลรัฐธรรมนูญได้ การปฏิบัติหน้าที่ของสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภาและคณะกรรมการสรรหากรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ เป็นลักษณะการใช้อำนาจหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญ มิใช่เป็นการใช้อำนาจทางบริหารหรือทางปกครองแต่อย่างใด (เทียบเคียงคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 52/2546 ลงวันที่ 30 ธันวาคม 2546) 

ผู้ตรวจการแผ่นดินจึงไม่อาจพิจารณาเสนอเรื่องพร้อมด้วยความเห็นต่อศาลปกครองเพื่อพิจารณาวินิจฉัยได้ ดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 23 (2) แห่ง พ.ร.ป.ว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดิน พ.ศ. 2560 ดังนั้น กรณีเรื่องร้องเรียนของนายศรีสุวรรณ จรรยา นี้ เป็นเรื่องที่ไม่อยู่ในหน้าที่และอำนาจของผู้ตรวจการแผ่นดิน จึงมีมติให้ยุติเรื่องร้องเรียน