เปิดแผน ‘ซุปเปอร์ริช สีส้ม’ ชูกลยุทธ์ ‘ตัวเบา’ ฝ่าวิกฤติไวรัส

เปิดแผน ‘ซุปเปอร์ริช สีส้ม’ ชูกลยุทธ์ ‘ตัวเบา’ ฝ่าวิกฤติไวรัส

การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ หรือ “โควิด-19” ในประเทศไทยแม้จะคลี่คลายลงไปมาก โดยไม่พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ในประเทศเป็นเวลามากกว่า 1 เดือนเต็ม

ทำให้รัฐบาลเริ่มคลายล็อกดาวน์สถานที่เสี่ยงสำคัญๆ ภายในประเทศ ส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจเริ่มทยอยกลับมา แต่ยังมีบางธุรกิจที่ได้รับผลกระทบเต็มๆ จากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสตัวนี้ โดยหนึ่งในธุรกิจเหล่านี้ คือ “ธุรกิจร้านแลกเงิน”

ธุรกิจร้านแลกเงินเป็นธุรกิจที่ต้องพึ่งพา “นักท่องเที่ยวต่างชาติ” เป็นหลัก ซึ่งปัจจุบันแม้ในประเทศไทยจะไม่พบจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ แต่สถานการณ์ในต่างประเทศกลับยังไม่สู้ดีนัก เพราะในหลายๆ ประเทศยังคงพบผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง รัฐบาลจึงยังต้องห้ามนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามาในประเทศ ดังนั้น “ธุรกิจร้านแลกเงิน” จึงได้รับผลกระทบอย่างเต็มๆ

“ปิยะ ตันติเวชยานนท์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท ซุปเปอร์ริช เคอเรนซี่ เอ็กซ์เชนจ์(1965) จำกัด หรือ SuperRich SPR (ซุปเปอร์ริชสีส้ม) บอกกับ “กรุงเทพธุรกิจ” ถึงแผนปรับตัวท่ามกลางวิกฤติโควิดว่า แผนเฉพาะหน้าของ “ซุปเปอร์ริชสีส้ม” ในเวลานี้ คือ ทำตัวเองให้ ‘อยู่รอด’ หรือยื้อลมหายใจให้ได้นานที่สุดจนกว่าจะมี “วัคซีน” ออกมา

อย่างไรก็ตาม ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ได้เข้ามาช่วยประสานกับหน่วยงานต่างๆในช่วง3เดือนก่อนหน้านี้ ทำให้ธุรกิจแลกเงินสามารถเข้าถึงมาตรการช่วยเหลือของภาครัฐได้แล้ว เช่น เงินเยียวยาประกันสังคมและเงินกู้ซอฟท์โลน

การช่วยเหลือดังกล่าว เท่ากับช่วยต่อลมหายใจให้กับบริษัทได้อีกราว 2 เดือน ซึ่งหลังจากนี้บริษัทจะทบทวนแผนงานเป็นระยะๆ โดยในช่วงไตรมาส 2 ที่ผ่านมา บริษัทเจอผลกระทบค่อนข้างหนัก ทำให้มีผลขาดทุนเดือนละ 4-8 ล้านบาท

ปิยะ บอกว่า ช่วงไตรมาสแรกยอดการแลกเงินตราต่างประเทศยังเติบโตได้ดี แต่มาดิ่งลงอย่างหนักในช่วงไตรมาส 2 ซึ่งในช่วงเดือนเม.ย.ยังมีวอลุ่มเข้ามาประมาณ 1 พันล้านบาท และหล่นลงมาเหลือ 700 ล้านบาทในเดือนพ.ค. ขณะที่เดือนมิ.ย.หล่นลงมาอยู่ที่ราวๆ 400-500 ล้านบาทเท่านั้น ซึ่งบริษัทยังคาดการณ์ว่าทั้งปีน่าจะมีวอลุ่มการแลกเงินอยู่ที่ประมาณ 5,280 ล้านบาท เทียบกับช่วงปกติที่มีวอลุ่มเฉลี่ยปีละ 1 แสนล้านบาท หรือตกราวๆ เดือนละ 9 พันล้านบาท

“แนวโน้มยอดแลกเงินในปีนี้คงลดลง เมื่อซัพพลายไม่เข้าดีมานด์ก็ไม่มี อาจจะมีบ้างสำหรับคนที่เก็บสะสมเงินตราต่างประเทศไว้ก่อนหน้านี้ เช่น ส่งลูกเรียนหนังสือหรือต้องเดินทางไปต่างประเทศบ่อยๆ ตอนนี้เริ่มผ่องถ่ายออกมาบ้าง แลกเปลี่ยนเป็นเงินบาทเพื่อสร้างสภาพคล่องให้ตัวเอง แต่ยอดแลกก็ไม่มากเท่านักท่องเที่ยวต่างชาติ”

“ปิยะ” บอกด้วยว่า ยังคงรอความช่วยเหลือจากภาครัฐเพิ่มเติมในเรื่องการยกเว้น การจ่ายภาษีธุรกิจเฉพาะของธุรกิจร้านแลกเงิน ที่จะต้องเสียภาษีนี้ก่อนมีกำไรเกิดขึ้น

“ตอนนี้ยอดแลกเงินแทบไม่มีอยู่แล้ว เช่น กำไร 1 แสนต่อเดือน ยังไม่ได้หักค่าใช้จ่ายแต่โดนภาษีนี้ไปก่อนแล้ว 3% กว่าก่อนหน้านี้เราอาจจะคิดว่า นิดหน่อย แต่ตอนนี้เราต้องคิดทุกเม็ด ที่จะนำเงินกลับมาหล่อเลี้ยงตัวเอง”

สำหรับแผนการฝ่าวิกฤติในระยะข้างหน้า เดิมบริษัทเตรียมปรับองค์กรด้วยการทรานส์ฟอร์มไปสู่ธุรกิจใหม่ในระบบดิจิทัล ผ่านแพลตฟอร์มรับซื้อแลกเงิน เช่นนำสินค้าหรือเงินดิจิทัลมาแลกเป็นเงินสกุลต่างๆ ซึ่งบริษัทยังคงแผนงานเหล่านี้เอาไว้ แต่กำลังรอประเมินสถานการณ์ในช่วงเดือนก.ค.ก่อน เพื่อให้เห็นภาพที่ชัดเจนว่า น่านฟ้าจะกลับมาเปิดได้มากน้อยแค่ไหน โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวต่างชาติจะมีเข้ามาบ้างหรือไม่ เพื่อดูว่ามีความคุ้มค่าพอที่จะทรานส์ฟอร์มตัวเองไปสู่สิ่งใหม่ๆ ตามแผนหรือมีอะไรต้องปรับปรุงเพิ่มบ้าง

นอกจากนี้ แผนการทรานส์ฟอร์มธุรกิจดังกล่าว ยังต้องขึ้นกับกฎเกณฑ์ของธปท.ด้วยว่า จะอนุญาตให้ดำเนินการได้หรือไม่ จะผ่อนคลายในเรื่องการแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ หรือ อีมันนี่ มากน้อยเพียงใด ซึ่งประเด็นนี้อยากขอให้ ธปท. ทบทวนเพิ่มเติม เนื่องจาก ปัจจุบันใบอนุญาตของธุรกิจร้านแลกเงินที่มีอยู่เดิม เป็นนิติบุคคลรับอนุญาต ไม่สามารถทำได้ ถ้าจะทำต้องตั้งบริษัทใหม่แล้วมาขอใบอนุญาตอีมันนี่ ซึ่งสถานการณ์วิกฤติเช่นนี้ การตั้งบริษัทใหม่เป็นไปได้ยาก ขณะนี้ยังอยู่ระหว่างการหารือร่วมกับธปท.