'ตะไคร้หอม' เจาะดราม่า ทำไมถึงถูกขึ้นทะเบียน ‘วัตถุอันตราย'

'ตะไคร้หอม' เจาะดราม่า ทำไมถึงถูกขึ้นทะเบียน ‘วัตถุอันตราย'

"ตระไคร้หอม" หนึ่งใน พืชสมุนไพร 13 ชนิด ถูกขึ้นทะเบียน "วัตถุอันตราย" ชนิดที่ 2 และกำลังจะปลดล็อคให้เป็นชนิดที่ 1 เนื่องจากถูกใช้ประโยชน์ในการป้องกันและกำจัดแมลงศัตรูพืช

"ตะไคร้" สมุนไพรพื้นบ้านของไทยที่มีสรรพคุณหลากหลาย ตั้งแต่การใช้เป็นส่วนประกอบของเมนูอาหารประจำชาติอย่าง ‘ต้มยำ’ ไปจนถึงการนำมาผลิต ‘น้ำมันหอมระเหย’ จากตะไคร้หอม สำหรับการป้องกันและกำจัดศัตรูพืชที่ให้ประโยชน์แก่วงการเกษตรกรรมไทยมากมาย

ทั้งนี้ข้อถกเถียงเรื่อง ตะไคร้ ถูกพูดถึงในวงการสมุนไพรอยู่ตลอดในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา เนื่องจากในปี 2552 กระทรวงอุตสาหกรรมประกาศให้ตะไคร้หอมและพืชสมุนไพรอื่นๆ ได้แก่ สะเดา ขมิ้นชัน ขิง ข่า ดาวเรือง สาบเสือ กากเมล็ดชา พริก ขึ้นฉ่าย ชุมเห็ดเทศ ดองดึง และหนอนตายหยาก รวม 13 ชนิด ให้เป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 2

แต่ล่าสุดเมื่อ 13 ก.ค. 2563 มนัญญา ไทยเศรษฐ์ รมช.เกษตรและสหกรณ์ ผู้เป็นประธานในการประชุมการกำหนดพืชสมุนไพร 13 ชนิด เป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 1 ออกมาเปิดเผยว่า ได้มอบหมายให้กรมวิชาการเกษตรจัดทำข้อมูลเพื่อยกร่างเสนอคณะกรรมการวัตถุอันตราย เพื่อปลดล็อคบัญชีพืชสมุนไพรจากการเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 2

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง : 

'เยียวยาเกษตรกร' โอนต่อเนื่อง ย้ำ! แจ้งบัญชี รับสิทธิ์เงินหมื่นห้า อีก 1.39 แสนราย!

กลุ่มเปราะบาง 'เยียวยา 3,000' พม.ยัน เงินเข้าชัวร์! 20 ก.ค.

159472313129

จากข้อมูลของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ทำให้เกษตรกรบางส่วนพึงพอใจต่อการพิจารณาที่เกิดขึ้น ส่วนใครที่ยังสงสัยและงงๆ อยู่ว่า "ตะไคร้หอม" และสมุนไพรอื่นๆ อีก 12 ชนิดดังกล่าว ทำไมจึงถือว่าเป็นวัตถุอันตราย? กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ ชวนมาเจาะลึกข้อมูลที่น่าสนใจเกี่ยวกับการขึ้นทะเบียนวัตถุอันตรายเหล่านี้กัน

  • ความหมายของ วัตถุอันตรายชนิดที่ 1 และ 2 คืออะไร

พระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ. 2535 ระบุว่า วัตถุอันตรายมีลักษณะดังต่อไปนี้

วัตถุระเบิดได้ วัตถุไวไฟ วัตถุออกซิไดซ์และวัตถุเปอร์ออกไซด์ วัตถุมีพิษ วัตถุที่ทำให้เกิดโรค วัตถุกัมมันตรังสี วัตถุที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางพันธุกรรม วัตถุกัดกร่อน วัตถุที่ก่อให้เกิดการระคายเคือง และวัตถุอย่างอื่นไม่ว่าจะเป็นเคมีภัณฑ์หรือสิ่งอื่นใด ที่อาจทำให้เกิดอันตรายแก่บุคคล สัตว์ พืช ทรัพย์ หรือสิ่งแวดล้อม ที่มีการผลิตขึ้นมา หมายความว่า ทำ เพาะ ปรุง ผสม แปรสภาพ ปรุงแต่ง แบ่งบรรจุ หรือ รวมบรรจุ

โดยมีการจำแนกการควบคุมไล่ระดับจากความอันตรายน้อยไปจนถึงอันตรายมาก ได้แก่

วัตถุอันตรายชนิดที่ 1 ได้แก่ วัตถุอันตรายที่การผลิต การนำเข้า การส่งออก หรือการมีไว้ในครอบครองต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนด

วัตถุอันตรายชนิดที่ 2 ได้แก่ วัตถุอันตรายที่การผลิต การนำเข้า การส่งออก หรือการมีไว้ในครอบครองต้องแจ้งให้พนักงานเจ้าหน้าที่ทราบก่อนและต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดด้วย

วัตถุอันตรายชนิดที่ 3 ได้แก่ วัตถุอันตรายที่การผลิต การนำเข้า การส่งออก หรือการมีไว้ในครอบครองต้องรับใบอนุญาต

วัตถุอันตรายชนิดที่ 4 ได้แก่ วัตถุอันตรายที่ห้ามมิให้มีการผลิต การนำเข้า การส่งออก หรือการมีไว้ในครอบครอง

ทั้งนี้พืชสมุนไพร 13 ชนิด คือ สะเดา ขมิ้นชัน ตะไคร้หอม ขิง ข่า ดาวเรือง สาบเสือ กากเมล็ดชา พริก ขึ้นฉ่าย ชุมเห็ดเทศ ดองดึง และหนอนตายหยาก ถูกประกาศเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 2

159472314873

  • เพราะอะไร "ตะไคร้หอม" ถึงจัดเป็น "วัตถุอันตราย"

มาถึงคำถามคาใจใครหลายคนที่ว่า ทำไมสมุนไพรที่คนไทยคุ้นเคยดีนั้นจึงถูกจัดเป็นวัตถุอันตราย? โดยเฉพาะ 13 สมุนไพร ได้แก่ สะเดา ขมิ้นชัน ตะไคร้หอม ขิง ข่า ดาวเรือง สาบเสือ กากเมล็ดชา พริก ขึ้นฉ่าย ชุมเห็ดเทศ ดองดึง และหนอนตายหยาก

มีคำตอบจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ระบุว่า พืชสมุนไพรทั้ง 13 ชนิด ถูกนิยามไว้ว่าเป็นพืชที่เกษตรกรได้นำมาใช้ประโยชน์เพื่อเป็นสารควบคุมแมลงเพื่อทดแทนสารเคมีกำจัดศัตรูพืช

จึงสรุปง่ายๆ ได้ว่าพืชทั้ง 13 ชนิดนั้นถูกใช้ประโยชน์ในการป้องกันกำจัดแมลงศัตรูพืช และสารสกัดธรรมชาติจากพืชเหล่านั้นมีความเสี่ยงต่อความเป็นพิษ จึงต้องถูกควบคุมตามกฎหมาย โดยผู้ผลิต ผู้นำเข้า และผู้ครอบครองที่จะมีไว้ใช้ จะต้องทำการขึ้นทะเบียน และแจ้งการดำเนินงานกับกรมวิชาการเกษตร

  • การขึ้นทะเบียนพืช 13 ชนิดเป็น "วัตถุอันตราย" ส่งผลอย่างไร

การประกาศขึ้นทะเบียนสมุนไพร 13 ชนิด ให้เป็น "วัตถุอันตราย" นั้น ได้สร้างผลกระทบต่อเกษตรกรส่วนหนึ่ง ทำให้ เครือข่ายภาคประชาชน และองค์กรสาธารณประโยชน์ เรียกร้องให้ ‘ยกเลิก’ คำประกาศให้พืชอาหารและสมุนไพร 13 ชนิดเป็นวัตถุอันตราย โดยระบุว่า พืชสมุนไพรทั้ง 13 ชนิดเป็นพืชที่เกษตรกรได้นำมาใช้ประโยชน์เพื่อเป็นสารควบคุมแมลงเพื่อทดแทนสารเคมีกำจัดศัตรูพืชมานาน เนื่องจากไม่มีผลกระทบต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมเลย จนถึงมีผลน้อยมาก ไม่ก่อให้เกิดผลตกค้างที่เป็นอันตรายต่อทั้งเกษตรกรเองและผู้บริโภค สามารถหาได้เองจากในชุมชนหรือจากเพื่อนบ้านใกล้เคียง หรือซื้อได้ในราคาไม่แพงจากชาวบ้าน หรือผู้ประกอบการในท้องถิ่น

ซึ่งในระยะหลังมีการรวมกลุ่มกันผลิตสินค้าจากสมุนไพรเหล่านี้จำหน่ายกันอย่างแพร่หลาย เป็นการพัฒนาเศรษฐกิจระดับท้องถิ่นบนฐานความหลากหลายทางชีวภาพ โดยไม่ต้องพึ่งพาสารเคมีซึ่งต้องนำเข้าจากต่างประเทศ คาดว่ามีจำนวนผู้ใช้สมุนไพรดังกล่าวในการควบคุมแมลงหลายแสนครอบครัว และทดแทนการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชได้หลายร้อยล้านบาทจนถึงพันล้านบาท ทั้งนี้ยังไม่นับถึงคุณค่าในการเกื้อกูลต่อสุขภาวะของเกษตรกร ผู้บริโภค และสังคมไทยโดยรวม

รวมถึงการดำเนินงานของกรมวิชาการเกษตรที่ผ่านมา สร้างผลกระทบอย่างสำคัญต่อเกษตรกรและคนในท้องถิ่น รวมถึงผู้ประกอบการรายย่อยที่เริ่มดำเนินการเพื่อพัฒนาสมุนไพรควบคุมศัตรูพืช มีการสร้างภาระและอุปสรรคต่อการพัฒนาและใช้ประโยชน์จากสมุนไพรทั้งในด้านการเกษตร การสาธารณสุข และอื่นๆ สร้างเงื่อนไขให้กับเจ้าหน้าที่ส่วนน้อยที่ไม่สุจริต มาเรียกร้องเอาผลประโยชน์จากเกษตรกรและผู้ประกอบการ จนเกิดผลกระทบเป็นลูกโซ่ ทำให้เกษตรกรส่วนใหญ่ที่ไม่สามารถหาสมุนไพรมาใช้เองได้ ต้องหันไปซื้อสารเคมีซึ่งต้องนำเข้าจากต่างประเทศแทน

159472317342

  • เมื่อ "สมุนไพร" รอปลดล็อคจากวัตถุอันตราย

อย่างที่บอกไปข้างต้นว่า ล่าสุด.. กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้มอบหมายให้กรมวิชาการเกษตรจัดทำข้อมูลเพื่อยกร่างเสนอคณะกรรมการวัตถุอันตราย เพื่อปลดล็อคบัญชีพืชสมุนไพรออกจากการเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 2

โดยระบุว่าพืชสมุนไพรทั้ง 13 ชนิด เป็นพืชที่เกษตรกรได้นำมาใช้ประโยชน์เพื่อเป็นสารควบคุมแมลงใช้ทดแทนสารเคมีกำจัดศัตรูพืชมานาน เนื่องจากไม่มีผลกระทบต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมเลย หรือมีน้อยมาก ไม่ก่อให้เกิดผลตกค้างที่เป็นอันตรายทั้งต่อเกษตรกรเองและผู้บริโภค และยังสามารถหาได้ง่ายจากในชุมชน

ทั้งนี้การปลดล็อคก็ยังมีเงื่อนไขเพิ่มเติม คือ

  • มีมติปลดผงหรือสารธรรมชาติของสมุนไพรทั้ง 13 ตัวนี้ ออกจากบัญชีวัตถุอันตราย ไม่ต้องขึ้นทะเบียน
  • ส่วนที่เป็นสารสกัด หรือที่เป็นน้ำ จะนำออกจากบัญชีวัตถุอันตรายชนิดที่ 2 มาไว้ในบัญชีที่ 1 จากนี้ไปเกษตรกรสามารถนำสมุนไพรในรูปของผงสมุนไพรไปใช้ได้โดยไม่ผิดกฎหมาย ส่วนที่เป็นน้ำต้องดูว่าจะนำไปผลิตอะไร มีสารที่มาผสมอะไรบ้าง มีอันตรายต่อสุขภาพของคน หรือสัตว์ หรือพืช หรือไม่