'ราชกรุ๊ป' ซื้อซองรถไฟฟ้าสายสีส้ม จับตายื่นข้อเสนอ 23 ก.ย.นี้

'ราชกรุ๊ป' ซื้อซองรถไฟฟ้าสายสีส้ม จับตายื่นข้อเสนอ 23 ก.ย.นี้

“ราชกรุ๊ป” โดดซื้อซองรถไฟฟ้าสายสีส้ม รฟม.เผยขายซองเอกสาร 3 วัน เอกชนแห่ร่วม 6 ราย เตรียมเปิดรับข้อเสนอ 23 ก.ย.นี้

รายงานข่าวจากการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เปิดเผยว่า วันนี้ (14 ก.ค.2563) รฟม.ได้เปิดขายเอกสารสำหรับการคัดเลือกเอกชน (Request for Proposal Documents: RFP) เป็นผู้ร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ – มีนบุรี (สุวินทวงศ์) เป็นวันที่ 3 โดยมีเอกชนให้ความสนใจติดต่อขอซื้อเอกสารข้อเสนอการร่วมลงทุนฯ ในวันนี้ จำนวน 1 ราย ได้แก่ บริษัท ราช กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) และเมื่อรวมจำนวนตั้งแต่วันแรกที่เปิดขายเอกสารฯ มีผู้ให้ความสนใจติดต่อขอซื้อเอกสารข้อเสนอการร่วมลงทุนฯ จำนวนทั้งสิ้น 6 ราย ดังนี้

  1. บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน)
  2. บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน)
  3. บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน)
  4. บริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน)
  5. บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน)
  6. บริษัท ราช กรุ๊ป จำกัด (มหาชน)

ทั้งนี้ ผู้ที่สนใจสามารถซื้อเอกสารสำหรับการคัดเลือกเอกชน (Request for Proposal Documents : RFP) โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มฯ ตั้งแต่วันที่ 10 - 24 ก.ค.2563 เวลา 9.00 น. ถึง 15.00 น. ณ  ห้องนิทรรศการ ชั้น 1 อาคาร 1 รฟม. โดย รฟม.มีกำหนดเปิดให้เอกชนยื่นข้อเสนอ 23 ก.ย.นี้ หลังจากนั้นจะเปิดซองข้อเสนอในวันที่ 30 ก.ย.2563

สำหรับโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ - มีนบุรี (สุวินทวงศ์) คณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 28 ม.ค. 2563 ได้มีมติอนุมัติดำเนินการในรูปแบบ PPP Net Cost โดยภาครัฐลงทุนค่างานจัดกรรมสิทธิ์ที่ดินโครงการฯ ส่วนตะวันตก และภาคเอกชนลงทุนค่างานโยธาโครงการฯ ส่วนตะวันตก และค่างานระบบรถไฟฟ้า ขบวนรถไฟฟ้า บริหารการเดินรถและซ่อมบำรุงรักษาทั้งเส้นทาง ตั้งแต่ช่วงบางขุนนนท์ – มีนบุรี (สุวินทวงศ์) รวมทั้งค่าจ้างที่ปรึกษาโครงการฯ และมอบสิทธิให้เอกชนเดินรถ ระยะเวลาเดินรถ 30 ปี

โดยโครงการดังกล่าว แนวเส้นทางเชื่อมระหว่างกรุงเทพมหานครทิศตะวันออกและทิศตะวันตก ระยะทาง 35.9 กิโลเมตร แบ่งเป็นส่วนตะวันออก (ช่วงศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย –   มีนบุรี) ระยะทาง 22.5 กิโลเมตร จำนวน 17 สถานี (สถานีใต้ดิน 10 สถานี และ สถานียกระดับ 7 สถานี) และส่วนตะวันตก (ช่วงบางขุนนนท์ – ศูนย์วัฒนธรรมฯ) ระยะทาง 13.4 กิโลเมตร จำนวน 11 สถานี (สถานีใต้ดินตลอดสาย) โดยมีมูลค่าการลงทุนรวมก่อสร้างงานโยธาส่วนตะวันตก และงานระบบทั้งเส้นทาง รวม 1.4 แสนล้านบาท