ลงทุนอย่างไรดี? เมื่อมี COVID รอบ 2 แต่เศรษฐกิจก็จำเป็นต้องเปิด

ลงทุนอย่างไรดี? เมื่อมี COVID รอบ 2 แต่เศรษฐกิจก็จำเป็นต้องเปิด

การจัดสินทรัพย์ลงทุนเพื่อรับสถานการณ์ในช่วงไตรมาส 3 นี้ นักลงทุนอาจพิจารณาปรับการลงทุนในลักษณะที่เน้นความปลอดภัยเป็นหลัก ดังนั้นการจัดพอร์ตลงทุนเพื่อสร้างผลตอบแทนที่คาดหวังประมาณ 3-5% อาจจะเหมาะสมกับความเสี่ยงที่มีอยู่ตอนนี้

หลังจากยกเลิกมาตรการคุมเข้มให้ดำเนินธุรกิจได้ตามปกติได้ในช่วงเดือนที่ผ่านมา ก็ดูเหมือนจะเจอทั้งปัจจัยบวกลบในทันทีนะครับ แน่นอนว่ารายงานตัวเลขเศรษฐกิจไตรมาสที่ 2 พอจะเห็นภาพกันล่วงหน้าแล้วว่าไม่ดีนัก และอีกเรื่องเกิดขึ้นตามการคาดการณ์กันไว้ก่อนหน้าก็คือ การเปิดเศรษฐกิจอีกครั้งจะนำมาซึ่งการระบาดของ COVID-19 รอบที่ 2 ในสหรัฐ จีน บราซิล รวมถึงเกาหลีใต้และญี่ปุ่น แต่ประเด็นที่ไม่คาดไว้ก็คือ ตัวเลขเศรษฐกิจในปี 2563 อาจจะติดลบหนักกว่าเดิม

ตัวเลขของ IMF ล่าสุดระบุว่าเศรษฐกิจในปีนี้จะติดลบ -4.9% จากเดิมคาดไว้ที่ 3% ส่วนเศรษฐกิจไทย คณะกรรมการนโยบายทางการเงิน คาดว่าในปีนี้จะติดลบ -8.1% จากเดิมคาดไว้ที่ -5.3% ถือว่าค่อนข้างหนักมากจากผลกระทบของ COVID-19 ที่มีต่อระบบเศรษฐกิจโลกซึ่งหนักว่าวิกฤตการเงินใน 2008

แต่อย่างไรก็ตาม ณ เวลานี้ยังไม่ไปถึงช่วงสิ้นปี เป็นไปได้ที่สถานการณ์อาจจะดีขึ้นหรือแย่น้อยกว่าที่คาดไว้ในตอนนี้ เพราะผมมองว่าเศรษฐกิจของทั่วโลก รวมถึงของไทยเองได้เริ่มต้นเดินหน้าไปในระดับหนึ่งแล้ว แม้จะยังมีบางส่วนที่ยังต้องควบคุมอยู่ ซึ่งผลบวกต่อเศรษฐกิจยังไม่เห็นชัดและยังต้องใช้เวลา   

ดังนั้นแล้วภาพรวมของเศรษฐกิจในเวลานี้อาจจะดูแย่ แต่มีหลายธุรกิจที่เดินหน้าและเติบโตได้  เช่น การบริโภค, การส่งออก, กลุ่มอาหาร, และกลุ่มก่อสร้าง เป็นต้น

ถามว่าในช่วงไตรมาสที่ 3 และต่อจากนี้ความเสี่ยงหรือความแน่นอนต่อเศรษฐกิจ รวมไปถึงสินทรัพย์ทางการเงินต่างๆ จะมีอยู่อีกหรือไม่ ..?

แน่ครับว่ามีอยู่แน่นอน แต่จะมีปัจจัยอะไรบ้างที่นักลงทุนต้องให้ความสำคัญและติดตาม 

ปัจจัยแรก นั่นคือ การระบาดรอบ 2 ที่กลับมา ซึ่งทำให้ทั่วโลกมีผู้ติดเชื้อทะลุ 10 ล้านคนแล้ว และการที่ยังไม่มีวัคซีนในการรักษาออกมาอย่างเป็นทางการอาจมีผลต่อความเชื่อมั่นได้ หากมีความรุนแรงจนถึงขั้นต้องใช้มาตรการควบคุมอีกรอบ จะซ้ำเติมเศรษฐกิจและตลาดทางการเงินอีกครั้งได้

ปัจจัยที่ 2) คือ การใช้มาตรการภาษีของสหรัฐฯกับประเทศต่างๆ เช่น จีน และยุโรป หากรุนแรงและมีการตอบโต้กันจนลุกลาม จะมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกให้กลับมาฟื้นตัวได้ช้ายิ่งขึ้น  

ส่วนปัจจัยต่อมา 3) คือ การอัดฉีดเงินเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจำนวนมหาศาลของธนาคารกลางหลายประเทศ แม้จะเป็นบวกต่อเศรษฐกิจและการลงทุน แต่จะเกิดสภาพคล่องในระบบที่สูง และจะมีเงินไหลเข้าออกสินทรัพย์ต่างๆ ทำให้ตลาดมีความผันผวนสูงจากสถานการณ์และข่าวสารต่างๆที่เข้ามากระทบได้

สำหรับปัจจัยสุดท้าย 4)  ซึ่งผมมองว่าต้องจับตาดูอย่างมาก นั่นคือ มาตรการเศรษฐกิจบางประเภทที่เกี่ยวข้องกับการเปิดให้มีการเดินทางระหว่างประเทศอีกครั้ง แม้จะมีความจำเป็นเพื่อให้ธุรกิจและอุตสาหกรรมบางประเภทเดินหน้าสร้างรายได้ต่อเศรษฐกิจ เช่น การท่องเที่ยว, สายการบินโรงแรม แต่อาจมีความเสี่ยงต่อการระบาดอีกครั้งหากมาตรการควบคุมไม่ดีพอ  

“จึงเป็นคำถามว่า ความเสี่ยงต่อการระบาดของโรคเป็นเรื่องที่ต้องควบคุม แต่เศรษฐกิจและการลงทุนก็เป็นต้องเปิดให้เป็นปกติมากที่สุด เป็นเรื่องที่ต้องพิจารณากันมากทั้งผู้ประกอบการและนักลงทุน”

แต่อย่างไรก็ตาม ผมมองว่าโดยภาพรวมปัจจัยบวกต่อเศรษฐกิจในช่วงไตรมาส 3 และครึ่งปีหลังยังคงมีพอมควรการเกิดภาวะตกใจ (Panic) หนักๆ ไม่น่าจะเกิดขึ้นให้เห็นอีก แต่อาจจะเห็นการปรับตัวเพื่อรับข่าวสารต่างๆ ในเชิงบวกและลบสลับกันไป

ดังนั้นในด้านการจัดสินทรัพย์ลงทุนเพื่อรับสถานการณ์ในช่วงไตรมาส 3 นี้ นักลงทุนอาจพิจารณาปรับการลงทุนในลักษณะที่เน้นความปลอดภัยเป็นหลัก การจัดพอร์ตลงทุนเพื่อสร้างผลตอบแทนที่คาดหวังได้ประมาณ 3-5% อาจจะเหมาะสมกับความเสี่ยงที่มีอยู่ตอนนี้