กองทุนรวมอ่วม‘เอยูเอ็ม’ดิ่ง10.3%

กองทุนรวมอ่วม‘เอยูเอ็ม’ดิ่ง10.3%

“มอร์นิ่งสตาร์” เผย “เอยูเอ็ม” กองทุนรวมทั้งระบบช่วงครึ่งแรกปี 63 วูบหนัก 10.3% สู่ระดับ 4.8 ล้านล้าน พิษตลาดผันผวนสูง ความเสี่ยงการลงทุนเพิ่มขึ้น นักลงทุนโยกหาสินทรัพย์ความเสี่ยงต่ำ ประเมินแนวโน้มครึ่งปีหลังเม็ดเงินไหลเข้ายังชะลอ

นางสาวชญานี จึงมานนท์ นักวิเคราะห์อาวุโส บริษัท มอร์นิ่งสตาร์ รีเสิร์ซ (ประเทศไทย) เปิดเผยว่า ภาพรวมอุตสาหกรรมกองทุนรวมไทยครึ่งปีแรก 2563 มีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ (AUM) จำนวน 4.8 ล้านล้านบาท ลดลง 10.3% จากสิ้นปี 2562 ที่มีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ จำนวน 5.4 ล้านล้านบาท หรือเมื่อเทียบกับในช่วงม.ค.-มิ.ย.ปี 2562 มีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิจำนวน 5.3 ล้านล้านบาท

ทั้งนี้ประเมินว่า ในช่วงครึ่งปีหลัง 2563 น่าจะมีเม็ดเงินไหลเข้ากองทุนอาจลดลงเมื่อเทียบกับในอดีตที่ผ่านมา ซึ่งสิ้นปีนี้จะลดลงมากน้อยแค่ไหนยังประเมินภาพได้ยาก ด้วยปัจจัยลบภาวะการลงทุนที่ยังมีความเสี่ยงและความผันผวนสูง ทำให้ผู้ลงทุนจะยังคงโยกย้ายเงินไปที่ตราสารเสี่ยงต่ำต่อเนื่องจากครึ่งปีแรก 2563 จะเห็นได้ว่าเงินไหลเข้ากองทุนตลาดเงินเป็นหลัก รวมถึงด้วยผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจทำให้รายได้ของคนบางกลุ่มลดลง ฐานภาษีที่เคยเสียก็ลดลงตามไปด้วย และยังมีความกังวลลงทุนผูกพันในระยะยาว ทำให้ไม่กล้าลงทุน 

นอกจากนี้ยังต้องติดตามทางด้านผลตอบแทนกองทุนแต่ละประเภทด้วย ที่ยังมีปัจจัยลบจากจีดีพีปีนี้หดตัวลงเป็น 8.1% ทำให้ผลประกอบการบริษัทจดทะเบียนในตลาดปรับลดลงเช่นกัน

ทางด้านเม็ดเงินไหลเข้า-ออกกองทุน ในช่วงครึ่งปีแรก 2563 ยังเป็นเงินไหลออกสุทธิ 350,000 ล้านบาท ภาพรวมอุตสาหกรรมกองทุนไตรมาส 2 ยังเป็นการโยกย้ายเงินไปที่ตราสารเสี่ยงต่ำตามภาวะเศรษฐกิจและการลงทุนที่ยังมีความเสี่ยงและความความผันผวนสูง 

โดยในไตรมาสที่ผ่านมานี้มีเงินไหลเข้าสุทธิ 40,000 ล้านบาท ซึ่งกองทุนประเภทตราสารตลาดเงินมีเงินไหลเข้าสูงสุดที่ 73,000 ล้านบาท ตามมาด้วยกลุ่มตราสารทุน 18,000 ล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นเม็ดเงินเข้ากลุ่มกองทุนที่ลงทุนในต่างประเทศบางกลุ่มที่อาจได้รับผลกระทบจำกัดจากการระบาดของโควิด-19 ในขณะที่กองทุนหุ้นไทยมีเงินไหลเข้าที่จำกัดแม้จะเป็นช่วงที่มีการเปิดขายกองทุน SSFX ซึ่งเงินไหลเข้ากระจุกตัวในช่วงปิดการขายมิ.ย. ทำให้มีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ 11,000 ล้านบาท

ทางด้านเงินไหลออกสุทธินั้นกองทุนรวมตราสารหนี้ยังคงเป็นกลุ่มที่มีแรงขายกองทุนสูงสุดที่ 31,000 ล้านบาท โดยเป็นกลุ่มกองทุนตราสารหนี้ในประเทศเป็นหลัก อย่างไรก็ปริมาณการขายกองทุนตราสารหนี้นั้นยังถือว่าเป็นภาพที่ใกล้เคียงภาวะปกติในอดีต ต่างจากไตรมาสแรกที่มีเงินไหลออกจากกองทุนประเภทนี้สูงถึงกว่า 400,000 ล้านบาท กองทุนประเภท Commodities มีเงินไหลออกสุทธิ 2,600 ล้านบาท โดยส่วนใหญ่เป็นเงินไหลออกจากกองทุนรวมทองคำ อันอาจเกิดจากการขายทำกำไรตามราคาทองคำที่ปรับตัวขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง และกองทุนผสมมีเงินไหลออกสุทธิราวเกือบ 7,000 ล้านบาท

สำหรับผลตอบแทนเฉลี่ยกองทุนรวมในไตรมาสที่ 2 ส่วนใหญ่มีผลตอบแทนเฉลี่ยเป็นบวก นำโดยกลุ่ม Global Technology ที่ถือว่าเป็นภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบค่อนข้างจำกัด และได้ประโยชน์จากสถานการณ์โควิด ซึ่งเป็นไปตามยุคสมัยที่เทคโนโลยี และโลกออนไลน์มีความจำเป็นต่อการดำรงชีวิตยุคปัจจุบัน โดยมีผลตอบแทนเฉลี่ยที่ 27.9% และครึ่งปีที่ 14.9% ตามมาด้วยกลุ่มหุ้นไทยขนาดกลางและเล็ก Equity Small/Mid Cap ที่ 27.6% ที่มีการฟื้นตัวโดดเด่นในไตรมาส ล่าสุด แต่อย่างไรก็ตามหากมองในภาพครึ่งปีแรกและ 1 ปี กองทุนกลุ่มนี้ยังมีผลตอบแทนเฉลี่ยติดลบมากกว่ากลุ่มอื่นที่ -8.8% และ -15.4% ตามลำดับ