เข้าใจความแตกต่าง 'การล้มละลาย' และ 'ฟื้นฟูกิจการ'

เข้าใจความแตกต่าง 'การล้มละลาย' และ 'ฟื้นฟูกิจการ'

เปรียบเทียบความแตกต่างของการ "ล้มละลาย" และ "ฟื้นฟูกิจการ" ที่มีโอกาสเกิดขึ้นได้ทุกกับธุรกิจ และมีความสำคัญกับการพิจารณาลงทุนในกิจการต่างๆ

สถานการณ์การแพร่ระบาดของ "โควิด-19" ทั่วโลก ส่งผลกระทบต่อสุขภาพอนามัย การดำเนินชีวิต และเศรษฐกิจโดยรวมของทุกประเทศ หนึ่งในภาพที่ชัดเจนคือธุรกิจต่างๆ ที่ทยอย "ล้มละลาย" หลังไม่สามารถแบกรับภาระหนี้สิน หรือดูแลกิจการต่อไปได้ 

เช่น กรณี "วุฒิศักดิ์คลินิก" ยื่นศาลล้มละลายกลาง ขอฟื้นฟูกิจการ เช่นเดียวกันกับ "การบินไทย" ยื่นแผนฟื้นฟูกิจการ หรือแม้แต่ธุรกิจในต่างประเทศอย่าง "MUJI" หรือมูจิ บริษัทลูกสหรัฐอเมริกา ที่ยื่นล้มละลายในช่วงนี้เช่นกัน

"กรุงเทพธุรกิจออนไลน์" พาไปทำความรู้จักความแตกต่างระหว่าง "ล้มละลาย" และ "ฟื้นฟูกิจการ" พร้อมเงื่อนไขที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินธุรกิจต่างๆ ดังนี้

159470233364

  •  "ล้มละลาย" คืออะไร? 

"การล้มละลาย" คือ การที่กิจการหรือลูกหนี้ มีหนี้สินล้นพ้นตัว (หนี้บุคคลธรรมดาไม่น้อยกว่า 1 ล้านบาท หนี้นิติบุคคลไม่น้อยกว่า 2 ล้านบาท)

เมื่อลูกหนี้ถูกฟ้องคดี ศาลจะทำการพิจารณาสืบพยานหลักฐานว่า ลูกหนี้มีหนี้สินล้นพ้นตัวจริงตามคำฟ้องหรือไม่ หากว่าจริง ศาลจะมี "คำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด" ลูกหนี้

ซึ่งคำว่า "คำสั่งพิทักษ์เด็ดขาด" คือ การที่ศาลให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ควบคุมกิจการและทรัพย์สินของลูกหนี้ กล่าวคือ ลูกหนี้ไม่สิทธิกระทำการใด ๆ เกี่ยวกับทรัพย์สินและกิจการของตนได้เลย ยกเว้นแต่ทำตามคำสั่งหรือความเห็นชอบของศาลหรือพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เท่านั้น

เมื่อศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดลูกหนี้แล้ว จะเข้าสู่คดีล้มละลาย ทั้งนี้ ศาลจะยังไม่มีคำพิพากษาให้ลูกหนี้ล้มละลายในทันที แต่จะส่งหมายแจ้งคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ทราบ เพื่อให้ดำเนินการจัดการรวบรวมทรัพย์สินของลูกหนี้และดำเนินการแบ่งทรัพย์สินที่รวบรวมได้เพื่อจัดสรรให้กับบรรดาเจ้าหนี้ทั้งหลายของลูกหนี้

ส่วนกรณีที่ลูกหนี้มีหนี้สินมากจนไม่เพียงพอจะชำระหนี้แก่เจ้าหนี้ เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ต้องติดตามทรัพย์อื่นมาขายทอดตลาดเพื่อชำระหนี้ส่วนที่เหลือต่อไป

159470222266

  •  "ฟื้นฟูกิจการ" คืออะไร 

ตามกฎหมายการฟื้นฟูกิจการของเจ้าหนี้/ลูกหนี้ ปี 2541 ระบุว่าผู้ที่มีสิทธิ์ในขอฟื้นฟูกิจการได้นั้นจะต้องเข้าเงื่อนไข ดังนี้

- ลูกหนี้มีหนี้สินล้นพ้นตัว 
- ลูกหนี้เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัดบริษัทมหาชนหรือนิติบุคคลอื่นตามที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวง
- จำนวนหนี้ไม่น้อยกว่า 10 ล้านบาท
- ลูกหนี้มีช่องทางในการฟื้นฟูกิจการและมีเหตุอันสมควร (ต้องไม่ถูกพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด)
- ยื่นคำขอโดยสุจริต

โดย หากผลของคำสั่งศาลมีคำสั่งรับคำร้องขอฟื้นฟูกิจการ ลูกหนี้จะได้รับสภาวะพักการชำระหนี้ (automatic stay) ในกรณีศาลเห็นชอบด้วยแผนฟื้นฟูกิจการผู้บริหารแผนจะดำเนินการตามแผนระยะเวลาตามแผน 5 ปีขอขยายได้ 2 ครั้ง ครั้งละไม่เกิน 1 ปี

ในกรณีศาลเห็นชอบด้วยแผนฟื้นฟูกิจการ ผู้บริหารแผนจะดำเนินการตามแผนระยะเวลาตามแผน 5 ปี ขอขยายได้ 2 ครั้ง ครั้งละไม่เกิน 1 ปี

หัวใจสำคัญของ "การฟื้นฟูกิจการ" คือ เมื่อศาลสั่งรับคำขอฟื้นฟูกิจการ สภาวะการพักการชำระหนี้ หรือที่เรียกกันทั่วไปว่า automatic stay เกิดขึ้นทันทีนับตั้งแต่วันที่ศาลมีคำสั่งรับคำร้องขอฟื้นฟูกิจการไว้เพื่อพิจารณาจนถึงวันครบกำหนดระยะเวลาดำเนินการตามแผน หรือวันที่ดำเนินการสำเร็จตามแผน หรือวันที่ศาลมีคำสั่งยกคำร้องขอหรือจำหน่ายคดีหรือยกเลิกคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการหรือยกเลิกการฟื้นฟูกิจการหรือพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้เด็ดขาด

159470224568

 

"สภาวะการพักการชำระหนี้" นี้เอง ที่เป็นประโยชน์แก่ลูกหนี้และเป็นจุดแข็ง ทั้งนี้ เพื่อให้กิจการสามารถดำเนินการไปต่อได้และดูแลสภาพคล่อง (liquidity) ของธุรกิจ โดยไม่ต้องกังวลว่าธุรกิจหรือกิจการจะถูกเรียกให้ชำระหนี้หรือถูกฟ้องร้อง สภาวะการพักการชำระหนี้

 

หากกล่าวให้เห็นภาพ "สภาวะการพักการชำระหนี้" เสมือนหนึ่งธุรกิจหรือกิจการจะอยู่ภายใต้ร่มคันใหญ่ที่จะป้องกันการถูกฟ้องร้อง ถูกบังคับคดี ถูกบังคับชำระหนี้ ถูกงดให้บริการสาธารณูปโภคต่างๆ เป็นต้น

อย่างไรก็ดี ประโยชน์ข้างต้นที่ลูกหนี้จะได้รับ ต้องเป็นกรณีที่ลูกหนี้ใช้สิทธิโดยสุจริต ไม่ได้อาศัยการพักชำระหนี้เป็นเหตุของการประวิงคดี ดังสุภาษิตกฎหมายที่ว่า “ผู้ที่มาพึ่งศาล จะต้องมาศาลด้วยมือสะอาด” (He who comes to equity must come with clean hands)

สำหรับ "หน้าที่ของลูกหนี้" ในช่วงเวลาดังกล่าวมีอย่างไรนั้น กฎหมายก็ได้กำหนดไว้ชัดเจนว่าลูกหนี้ยังสามารถประกอบธุรกิจตามที่จำเป็นของธุรกิจเท่านั้น เพื่อให้การดำเนินการค้าตามปกติของลูกหนี้สามารถดำเนินการต่อไปได้ ดังนั้น ลูกหนี้จะจำหน่าย จ่าย โอน ให้เช่า ชำระหนี้ ก่อหนี้ หรือกระทำการใดๆ ที่ก่อให้เกิดภาระในทรัพย์สินไม่ได้ เว้นแต่ศาลจะมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น

แต่ กรณีที่ประชุมเจ้าหนี้ไม่ยอมรับแผน และศาลไม่เห็นชอบด้วยแผน อาจสั่งยกเลิกคำสั่งฟื้นฟูกิจการ หรือหากลูกหนี้ถูกฟ้องล้มละลายไว้ให้ไปดำเนินคดีล้มละลายนั้นต่อไป ในกรณีที่ผู้บริหารแผนพ้นตำแหน่ง และไม่อาจเลือกผู้บริหารแผนคนใหม่ได้ ศาลอาจมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดหรือสั่งยกเลิกคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการ ส่วนกรณีระยะเวลาตามแผนสิ้นสุดแต่การฟื้นฟูกิจการยังไม่สำเร็จ ศาลอาจมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดหรือยกเลิกการฟื้นฟูกิจการ

  • การฟื้นฟูกิจการ VS การล้มละลาย 

กล่าวโดยสรุป คือ "การฟื้นฟูกิจการ" ถือเป็นการรักษาให้กิจการยังคงสามารถดำเนินธุรกิจ ได้ตามปกติ หรือพูดง่ายๆ ว่า ผู้ยื่นขอให้มีการฟื้นฟูกิจการต้องการรักษาความเป็นกิจการที่ต้องทำอย่างต่อเนื่อง (going concern) จะเปิดโอกาสให้มีการเจรจาปรับโครงสร้างหนี้ระหว่างเจ้าหนี้ทั้งหลายทั้งเจ้าหนี้ภายในและต่างประเทศ รวมถึงจะเปิดโอกาสให้มีการปรับปรุงโครงสร้างองค์กร กระบวนการทำงาน และแผนธุรกิจ เพื่อให้การทำงานมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น โดยอาจมีผู้บริหารมืออาชีพจากภายนอกบริษัทมาร่วมดำเนินการ

ในขณะที่ "การล้มละลาย หรือการถูกศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์" นั้น จะไม่ได้เป็นการทำให้ธุรกิจดำเนินการได้ต่อเนื่อง แต่เป็นการมุ่งไปสู่กระบวนการค้นหาและรวบรวมทรัพย์สินของลูกหนี้เพื่อนำมาแบ่งให้กับเจ้าหนี้ โดยการยึดหรืออายัดและนำมาขายทอดตลาด และในขณะที่ถูกศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์นั้น เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ กรมบังคับคดี จะเป็นผู้ที่เข้ามาทำหน้าที่จัดการเกี่ยวกับทรัพย์สินของลูกหนี้

อ้างอิง 
ธนาคารไทยพาณิชย์ , กรมบังคับคดี , kaohoon