สคช.ร่วมสภาการพยาบาล พัฒนาศักยภาพกำลังคน รองรับเคลื่อนย้ายแรงงานในอนาคต

สคช.ร่วมสภาการพยาบาล พัฒนาศักยภาพกำลังคน รองรับเคลื่อนย้ายแรงงานในอนาคต

สคช. ร่วมสภาการพยาบาล พัฒนาศักยภาพกำลังคน กลุ่มพนักงานให้การดูแล รองรับการเคลื่อนย้ายแรงงานในอนาคต

วันนี้ (13 ก.ค.63) ดร.นพดล ปิยะตระภูมิ ผู้อำนวยการสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (สคช.) ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในการพัฒนาศักยภาพบุคลากร ในกลุ่มพนักงานให้การดูแล (Nurses’ aides / Care givers) ร่วมกับสภาการพยาบาล โดย รศ.ดร.ทัศนา บุญทอง นายกสภาการพยาบาล มีคณะทำงานทั้ง 2 ฝ่ายร่วมเป็นสักขีพยาน ณ สภาการพยาบาล

ดร.นพดล ระบุว่า สาขาวิชาชีพที่เกี่ยวข้องกับงานด้านการบริการสุขภาพ อย่างพนักงานให้การดูแล เป็นอาชีพที่มีความสำคัญกับสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงในปัจจุบัน ทั้งด้านสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม ที่สำคัญสถานการณ์โรคระบาดที่เกิดขึ้นมีผลกระทบโดยตรงต่อสุขภาพประชาชน โดยพบว่าคนไทยมีปัญหาการเจ็บป่วยเรื้อรังเพิ่มขึ้น มีอาการป่วยโรคซับซ้อนมากขึ้นซึ่งจำเป็นต้องได้รับการรักษาเฉพาะทาง ก่อให้เกิดภาระค่าใช้จ่ายสูง มีความต้องการได้รับบริการสุขภาพกันมากขึ้น สวนทางกับจำนวนเจ้าหน้าที่บริการด้านสุขภาพที่ได้มาตรฐานที่ยังขาดแคลน แต่เพื่อเป็นการขยายโอกาสการเข้าถึงบริการที่ได้คุณภาพมาตรฐาน จึงเป็นที่มาให้ สคช. และสภาการพยาบาล เห็นความสำคัญในการจัดทำมาตรฐานอาชีพ พนักงานให้การดูแล เพื่อให้กลุ่มคนอาชีพนี้มีความพร้อม มีสมรรถนะ ทักษะ ความรู้ ความสามารถ และความเชี่ยวชาญ การจัดทำมาตรฐานอาชีพในพัฒนาศักยภาพบุคลากรอาชีพนี้ จึงเป็นเรื่องสำคัญและมีความจำเป็นในภาวะสังคมปัจจุบัน เหนือไปกว่านั้น สคช. ได้พัฒนาจัดทำการอบรมในลักษณะออนไลน์ ก็จะช่วยให้กลุ่มคนในอาชีพสามารถเข้ามาเรียนรู้ทักษะด้านต่างๆ เพื่อนำไปเตรียมความพร้อมในอาชีพ รวมทั้งการประเมินสมรรถนะเพื่อให้ได้การรับรองจาก สคช.

159464052536

นอกจากนี้ ผู้ที่ผ่านการประเมินแล้วยังจะมีชื่อปรากฏอยู่ในแอปพลิเคชันปักหมุดมืออาชีพ ซึ่งเป็นการเปิดโอกาสเพิ่มช่องทางการหางานให้กับคนในอาชีพนี้ และผู้บริโภคเองก็สามารถเลือกใช้บริการได้อย่างมั่นใจ ว่าพวกเขาจะได้พนักงานให้การดูแลที่มีมาตรฐาน ได้รับการการันตีจากหน่วยงานภาครัฐ

ด้าน รศ.ดร.ทัศนา บุญทอง นายกสภาการพยาบาล ย้ำว่าสภาการพยาบาลเป็นองค์กรวิชาชีพตามกฎหมาย ภายใต้พระราชบัญญัติวิชาชีพการพยาบาลและการผดุงครรภ์ ซึ่งได้ดำเนินการควบคุมดูแล การประกอบอาชีพตามขอบเขตที่กฎหมาย และจรรยาบรรณวิชาชีพกำหนด ประกอบกับปัญหาสุขภาพความเจ็บป่วยของประชากรมีมากขึ้น แม้เทคโนโลยีจะมีความเจริญก้าวหน้า แต่ความต้องการการดูแลผู้เจ็บป่วยกลับมีมากขึ้น เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้พยาบาล หรือผู้ช่วยพยาบาลไม่เพียงพอ และพนักงานให้การดูแล หรือผู้ช่วยเหลือคนไข้ภายใต้การกำกับดูของพยาบาลวิชาชีพ (Nurses’ aides / Care givers) ซึ่งผ่านการอบรมมาแล้วอย่างน้อย 6 เดือนตามหลักสูตรวิชาชีพ จึงตอบโจทย์สถานการณ์ปัจจุบัน

159464056048

สำหรับการจัดทำมาตรฐานอาชีพให้คนเหล่านี้ จะทำให้ผู้รับบริการเชื่อมั่นได้ว่าคนเหล่านี้ทำงานได้จริง สามารถดูแลผู้ป่วยได้จริง เพราะผ่านการประเมินสมรรถนะ ได้การรับรองจากหน่วยงานภาครัฐ ซึ่งปัจจุบันพนักงานให้การดูแลเวลานี้มีอยู่ราว 40,000 คน ที่สำคัญจะเป็นผลดีต่อภาพรวมเศรษฐกิจประเทศ เมื่อเปิดการค้าเสรี กลุ่มงานบริการทางการแพทย์ พยาบาล จะเป็นกลุ่มอาชีพที่มีความต้องการสูง ซึ่งผู้ที่ผ่านการประเมิน ได้ใบรับรองจากหน่วยงานภาครัฐ จะเป็นผู้ที่ได้รับเลือกให้เข้าทำงานก่อน เมื่อมีการเคลื่อนย้ายแรงงานเกิดขึ้นนั่นหมายถึงเศรษฐกิจภาพรวมของประเทศก็จะเติบโตขึ้นตามไปด้วย ส่วนในอนาคตสภาการพยาบาลจะบรรจุเป็นระเบียบข้อบังคับให้พนักงานให้การดูแลจำเป็นต้องผ่านการประเมินได้การรับรองสมรรถนะจาก สคช. หรือไม่นั้น เป็นเรื่องที่ต้องพิจารณาในอนาคตอีกครั้ง