'สนพ.' ชง 2 แผนรื้อโครงสร้างก๊าซฯเสรี กบง.เคาะ 30 ก.ค.นี้

 'สนพ.' ชง 2 แผนรื้อโครงสร้างก๊าซฯเสรี กบง.เคาะ 30 ก.ค.นี้

สนพ.จ่อชงกบง.30 ก.ค.นี้ เคาะแผนรื้อโครงสร้างกิจการก๊าซฯเสรี เปิด 2 ทางเลือก ยึด 3 สเตป กพช. หรือ ให้ ปตท.เป็นผู้รับซื้อก๊าซฯเพียงรายเดียว ด้าน "กฟผ."ขอนำเข้า LNG เพิ่ม 4 แสนตันปลายปี63

แหล่งข่าวกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า ได้รับรายงานจากสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน(สนพ.) ซึ่งได้จัดทำแผนปรับโครงสร้างการแข่งขันในกิจการก๊าซธรรมชาติใหม่ เสร็จเรียบร้อยแล้ว และเตรียมเสนอเข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน(กบง.) ที่มีนายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธาน พิจารณาอนุมัติหลักการ ภายในวันที่ 30 ก.ค.63

เบื้องต้น สนพ.ได้เตรียมเสนอ 2 ทางเลือกหลักในการแผนปรับโครงสร้างก๊าซฯ แบ่งเป็น แนวทางที่ 1การเปิดให้แข่งขันกันแบบเสรีทั้งหมด ซึ่งจะยึดตามมติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ(กพช.) เดิม ที่เคยอนุมัติกรอบดำเนินการ 3 ระยะ คือ ระยะที่ 1กำหนดให้ กฟผ.ทดสอบนำเข้า 2 ลำปริมาณรวม 130,000 ตัน เพื่อมาใช้เป็นเชื้อเพลิงให้โรงไฟฟ้าบางปะกง ชุดที่ 5, โรงไฟฟ้าวังน้อย ชุดที่ 4 และ โรงไฟฟ้าพระนครใต้ ชุดที่ 4 ซึ่ง ระยะที่ 2 คือ พิจารณาออกใบอนุญาตให้ภาคเอกชน ปัจจุบันได้ดำเนินการระยะที่ 1 และ 2แล้ว และ ระยะที่ 3 คือเปิดให้เอกชน นำเข้าก๊าซฯได้จริง ซึ่งต้องรอ กพช.เห็นชอบในก่อน

และแนวทางที่ 2 การกำหนดให้บริษัท ปตท. จำกัด(มหาชน) หรือ PTT เป็นผู้รับซื้อก๊าซฯเพียงรายเดียว ภายใต้รูปแบบ Enhanced Single-Buyer Model (ESB) คล้ายกับธุรกิจไฟฟ้าที่ กฟผ.เป็นผู้รับซื้อไฟฟ้าเพียงรายเดียว แต่ในส่วนของธุรกิจก๊าซฯ จะเปิดให้เอกชนที่ได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการจัดหาและค้าส่งก๊าซธรรมชาติ (Shipper) รายใหม่ ดำเนินจัดหาก๊าซฯเพื่อประมูลแข่งขันให้ได้ราคาที่ดีที่สุดเพื่อขายก๊าซฯให้กับ ปตท.เพียงรายเดียว

159463960194

ดังนั้น หาก กบง.เคาะเลือกหลักการปรับโครงสร้างธุรกิจก๊าซฯใหม่แล้ว ขั้นตอนต่อไปก็จะนำเสนอขอความเห็นชอบจาก กพช. ซึ่งขณะนี้ยังไม่มีกำหนดการนัดหมายประชุมที่แน่ชัด เนื่องจากต้องรอคิวนายกรัฐมนตรีฯในฐานะประธานการประชุมฯก่อน แต่น่าจะเกิดขึ้นภายในไม่กี่เดือนนี้ หลังจากนั้น ทาง สนพ. ก็จะต้องไปหารือกับคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน(กกพ.) เพื่อดำเนินการปรับสูตรโครงการราคาก๊าซฯให้สอดรับกับนโยบายต่อไป ซึ่งไม่ว่า กพช.จะเลือกแนวทางใดก็ตามสูตรราคาก๊าซฯ ก็จะต้องปรับใหม่ให้เหมาะสมและเป็นธรรมกับทุกฝ่าย

แหล่งข่าว กล่าวอีกว่า ส่วนกรณีที่ภาคเอกชน 3 รายได้รับใบอนุญาต LNG Shipper รายใหม่จาก กกพ.แล้ว และเตรียมนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว(LNG)ในปลายปีนี้ เบื้องต้น ในส่วนของภาคเอกชน เช่น กัลฟ์ฯ และบี.กริม น่าจะดำเนินการได้เลย เพราะเป็นการนำเข้าก๊าซฯมาใช้สำหรับลูกค้าในนิคมอุตสาหกรรมฯ ซึ่งไม่ได้คำนวนผ่านต้นทุนค่าไฟฟ้ารวมของประเทศ ต่างจากกรณีของ หินกองฯ ที่เป็นการนำเข้า LNG ป้อนโรงไฟฟ้าหินกอง ซึ่งมีสัญญาซื้อขายไฟฟ้า(PPA)กับภาครัฐ

ทั้งนี้ เอกชน 3 รายที่คว้าใบอนุญาต LNG Shipper ประกอบด้วย คือ บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) มีแผนนำเข้า 3 แสนตันต่อปี เพื่อนำเข้ามาจำหน่ายให้แก่โรงไฟฟ้า SPP จำนวน 19 โครงการของกลุ่มบริษัท ,บริษัท หินกองเพาเวอร์โฮลดิ้ง จำกัด (HKH) มีแผนนำเข้า 1.4 ล้านตันต่อปี เพื่อนำมาใช้เป็นเชื้อเพลิงโครงการโรงไฟฟ้าหินกอง กำลังการผลิต 1,400 เมกะวัตต์ มีกำหนดจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ (COD) ปี2567 และ2568 และบริษัท บี.กริม เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) มีแผนนำเข้า 6.5 แสนตันต่อปี ป้อนให้โรงไฟฟ้า SPP Replacement จำนวน 5 โรง กำลังการผลิตรวม 700 เมกะวัตต์ ที่มีกำหนด COD ในปี 2565

159463950170

แหล่งข่าว กล่าวต่อว่า การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) ยังส่งเรื่องมายังกระทรวงพลังงาน เพื่อขออนุมัตินำเข้า LNG เพิ่มเติมในช่วงปลายปีนี้ อีกประมาณ 4 แสนตัน ซึ่งในส่วนนี้เป็นปริมาณส่วนที่เหลือจากการลงนามสัญญาซื้อขายก๊าซธรรมชาติหลัก หรือสัญญา Global DCQ ระหว่าง กฟผ.และปตท. ที่ยืดหยุ่นให้ กฟผ.สามารถจัดหาและนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ได้เองในปริมาณ 1 ล้านตันต่อปี เพื่อป้อนให้กับโรงไฟฟ้าของกฟผ. แต่ทั้งนี้ กฟผ.จะนำเข้าได้ตามที่เสนอหรือไม่ ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของ กบง. และกพช.ต่อไป รวมถึงทาง สนพ.และปตท. จะต้องไปพิจารณาด้วยว่า การนำเข้าLNG ดังกล่าวจะส่งผลให้เกิดปัญหาไม่ใช้ก็ต้องจ่าย(Take or Pay) กับ ปตท.หรือไม่ ขณะนี้กันความต้องการใช้ไฟฟ้าในประเทศลดลงจากผลกระทบโควิด-19 ก็ต้องไปดูว่าจะกระทบต่อความต้องการใช้ก๊าซฯในอนาคตอย่างไร