'ไขกระดูกบกพร่อง' โรคร้ายที่จู่โจม 'นิ้ง-กุลสตรี' เกิดจากอะไร?

'ไขกระดูกบกพร่อง' โรคร้ายที่จู่โจม 'นิ้ง-กุลสตรี' เกิดจากอะไร?

"นิ้ง-กุลสตรี" ป่วยเป็นอะไร? ชวนรู้สาเหตุของโรค "ไขกระดูกบกพร่อง" จากเคสอดีตนางเอกคนดังยุค 90 ที่พบว่าตัวเองป่วยด้วยโรคนี้ และนำไปสู่การหาคำตอบว่า อาการของโรค "ไขกระดูกบกพร่อง" มีลักษณะอย่างไรบ้าง?

กลายเป็นเรื่องน่าตกใจไม่น้อยเมื่ออดีตนางเอกสาว “นิ้ง-กุลสตรี” ต้องเข้าโรงพยาบาลอีกครั้งด้วยอาการถ่ายเป็นเลือด ซึ่งเป็นอาการแทรกซ้อนจากการป่วยด้วยโรค “ไขกระดูกบกพร่อง” ซึ่งเจ้าตัวเริ่มป่วยมาตั้งแต่ปี 2562 และเข้ารักษาอาการป่วยที่โรงพยาบาลยาวนานร่วม 7-8 เดือน จนมีอาการดีขึ้นและออกจากโรงพยาบาลได้เมื่อต้นปี 2563 ที่ผ่านมา

ล่าสุด.. หลังจากที่เข้ารับการรักษาตัวอีกครั้งด้วยอาการถ่ายเป็นเลือด และทีมแพทย์ได้ตัดชิ้นเนื้อไปตรวจ จึงพบว่า “นิ้ง-กุลสตรี” มีไวรัสแอบแฝงที่ลำไส้ใหญ่ ซึ่งเจ้าตัวก็ได้โพสต์ข้อความผ่านไอจีส่วนตัวว่า “ได้ทำการรักษาและตัดชิ้นเนื้อไปตรวจ จนพบว่ามีไวรัสแอบแฝงที่ลำไส้ใหญ่ ความยาวประมาณ 10 กว่าเซนติเมตร พบเป็นจุดแผลร้อยกว่าจุด ซึ่งไม่สามารถใช้เลเซอร์จี้รักษาได้ เนื่องจากไม่สบายมานานพอสมควร และได้รับยาคีโม (เคมีบำบัด) จึงทำให้ภูมิคุ้มกันต่ำ ซึ่งตอนนี้เป็นอาการป่วยจากภาวะโรคแทรกซ้อนเท่านั้น ส่วนอาการป่วยจากโรค “ไขกระดูกบกพร่อง” ยังสามารถคุมได้ ไม่มีปัญหาอะไร ซึ่งตอนนี้ก็อยู่ในขั้นตอนการรักษาโรคแทรกซ้อนนั้นให้หายดี”

ย้อนกลับไปตั้งแต่เริ่มต้น หลายคนคงสังสัยว่าทำไมคนวัยกลางคน ที่มีสุขภาพดีอย่าง “นิ้ง-กุลสตรี” ถึงป่วยเป็นโรค “ไขกระดูกบกพร่อง” นี้ได้ แล้วคนทั่วไปมีโอกาสป่วยโรคนี้มากน้อยแค่ไหน? สาเหตุเกิดจากอะไร? และมีอาการบ่งบอกอย่างไรบ้าง? กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ หาคำตอบมาฝาก ดังนี้

ข่าวที่เกี่ยวข้อง : รู้จัก 'นิ้ง กุลสตรี' นางเอกคนดังยุค 90 พร้อมเช็คอาการป่วยล่าสุด

1. โรค “ไขกระดูกบกพร่อง” คืออะไร?

“ไขกระดูก” เป็นส่วนที่อยู่บริเวณแกนกลางของกระดูกชิ้นใหญ่ทั่วร่างกาย มีหน้าที่สร้างเม็ดเลือดทุกชนิด ได้แก่ เม็ดเลือดแดง เม็ดเลือดขาว และเกร็ดเลือด โดยในภาวะปกติไขกระดูกจะสร้างเม็ดเลือดต่างๆ ออกมาตลอดเวลา แต่ผู้ป่วยในกลุ่มอาการ “ไขกระดูกบกพร่อง” (Myelodysplastic syndrome : MDS)  จะเกิดความผิดปกติของไขกระดูก ทำให้ไม่สามารถสร้างเม็ดเลือดออกมาได้

ส่วนใหญ่พบในคนไข้ที่อายุมากกว่า 60 ปี และพบได้น้อยมากในคนไข้ที่อายุน้อยกว่า 40 ปี เมื่อร่างกายไม่สามารถสร้างเม็ดเลือดชนิดต่างๆ ได้ ก็จะเกิดอาการผิดปกติต่างๆ ตามมา เช่น โลหิตจาง ทำให้มีอาการตัวซีด เกร็ดเลือดต่ำ และมีจำนวนเม็ดเลือดขาวน้อยลง ทำให้ภูมิคุ้มกันร่างกายลดลง และทำให้เลือดออกง่าย

159465308220

2. สาเหตุของการเกิดโรค “ไขกระดูกบกพร่อง”

นายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ ระบุว่า อาการของโรค “ไขกระดูกบกพร่อง” ส่วนหนึ่งเกิดได้เองโดยไม่มีสาเหตุชัดเจน อีกส่วนหนึ่งเกิดหลังจากผู้ป่วยเคยได้รับยาเคมีบำบัดหรือการฉายรังสีมาก่อนในอดีต หรือได้รับสารเคมีบางอย่าง เช่น เบนซีน เป็นต้น

อย่างไรก็ตามกลุ่มโรค “ไขกระดูกบกพร่อง” นี้ไม่ได้เป็นโรคที่ติดต่อทางพันธุกรรม จึงไม่ติดต่อสู่คนในครอบครัว การดำเนินโรคกรณีที่ไม่รุนแรง จะมีอัตราการรอดชีวิตอยู่ได้เกิน 6 ปี มักเริ่มจากสร้างเม็ดเลือดตั้งแต่ 1-3 ชนิดได้น้อยลง จนมีอาการโลหิตจาง เม็ดเลือดขาวต่ำ และเกร็ดเลือดต่ำ หลังจากนั้นประมาณ 1ใน 3 ของผู้ป่วยจะมีการพัฒนาของโรคกลายเป็นมะเร็งเม็ดเลือดขาวเฉียบพลันได้ ซึ่งอย่างหลังนี้จะถือว่าเป็น “ไขกระดูกบกพร่อง” ชนิดรุนแรง มีอัตราการรอดชีวิตอยู่ที่ประมาน 5 เดือน   

3. อัตราการเกิดโรค = 4 : 1,000,000 คนต่อปี

ในประเทศไทยพบอัตราการเกิดโรค “ไขกระดูกบกพร่อง” จำนวน 4 รายต่อประชากร 1 ล้านคนต่อปี พบบ่อยที่สุดในกลุ่มคนอายุ 15 -25 ปี และมากกว่า 60 ปีขึ้นไป โดยเพศชายและเพศหญิงพบได้ในอัตราที่เท่าๆ กัน โรคนี้ส่วนใหญ่ไม่ทราบสาเหตุของการเกิดโรค แต่อาจเกิดได้จากสาเหตุจากปัจจัยแวดล้อมภายหลัง ได้แก่ การรับรังสีในขนาดสูง ยาเคมีบำบัด สารเบนซินและยาบางชนิด เช่น ยาแก้ข้ออักเสบ ยากันชัก ยาฆ่าเชื้อบางชนิด ยารักษาไทรอยด์เป็นพิษ และภาวะไวรัสตับอักเสบ

159465309417

4. อาการของโรค “ไขกระดูกบกพร่อง” เป็นยังไง?

ผู้ป่วยโรค “ไขกระดูกบกพร่อง” จะมีอาการซีด เนื่องจากไขกระดูกจะสร้างเม็ดเลือดแดงลดลง ถ้าเม็ดเลือดแดงในร่างกายต่ำมากจะมีอาการอ่อนเพลีย หอบและเหนื่อยง่าย หากซีดมากอาจทำให้มีภาวะหัวใจล้มเหลวได้    อีกทั้งการที่ร่างกายสร้างเกล็ดเลือดลดลง จะทำให้ผู้ป่วยมีจุดเลือดออกตามตัว มีเลือดออกในช่องปาก ในเพศหญิงอาจมีประจำเดือนมากกว่าปกติ นอกจากนี้หากผู้ป่วยมีภาวะเม็ดเลือดขาวต่ำจะทำให้ติดเชื้อได้ง่ายโดยเฉพาะเชื้อแบคทีเรียและเชื้อรา

159464348893

5. การรักษาโรค “ไขกระดูกบกพร่อง” ทำอย่างไร?

นายแพทย์ศักรินทร์ วงศ์เลิศศิริ ผู้อานวยการโรงพยาบาลเลิดสิน กรมการแพทย์ ระบุว่า การรักษา “ไขกระดูกบกพร่อง” ในกรณีที่โรคเป็นไม่รุนแรงและไม่ได้เป็นมะเร็งเม็ดเลือดขาวเฉียบพลัน โดยทั่วไปจะให้การรักษาโดยให้น้ำเลือด เกร็ดเลือด และให้ยาฉีดกระตุ้นเม็ดเลือดขาวหรือเม็ดเลือดแดง โดยจะขึ้นอยู่กับชนิดของเม็ดเลือดผู้ป่วยที่ต่ำลง ซึ่งเป็นการรักษาแบบประคับประคอง

แต่ในกรณีที่โรคเป็นรุนแรงหรือเริ่มกลายเป็นมะเร็งเม็ดเลือดขาวเฉียบพลัน การรักษาคือการปลูกถ่ายไขกระดูกหรือปลูกถ่ายสเต็มเซลล์ ซึ่งสามารถทำให้หายขาดได้ อย่างไรก็ตาม จะสามารถทำได้เฉพาะผู้ป่วยบางรายเท่านั้น ในกรณีที่ไม่สามารถปลูกถ่ายไขกระดูกได้ อาจให้ยากลุ่มเคมีบำบัดแบบฉีดบางชนิด ร่วมกับการรักษาแบบประคับประคองเพื่อให้เม็ดเลือดกลับมาใกล้เคียงกับปกติมากที่สุด

ด้านนายแพทย์ธานินทร์ อินทรกำธรชัย อดีตนายกสมาคมโลหิตวิทยาแห่งประเทศไทย ก็เคยให้ข้อมูลในบทความวิชาการไปในทิศทางเดียวกันว่า โรคในกลุ่ม “ไขกระดูกบกพร่อง” มีอยู่ 2 โรค คือ

1. ไขกระดูกฝ่อ เกิดจากสเต็มเซลล์ไม่สร้างเม็ดเลือดขาว เม็ดเลือดแดง และเกล็ดเลือด ทำให้เม็ดเลือดทุกชนิดลดต่ำลง

2. ไขกระดูกฝ่อยังไม่ฝ่อ แต่ว่าทำงานผิดปกติ สร้างเม็ดเลือดผิดปกติและต่ำ มีโอกาสเปลี่ยนเป็นมะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดเฉียบพลันหรือลูคีเมียได้

ทั้งนี้ทั้ง 2 โรครักษายาก แต่ก็รักษาได้ขึ้นอยู่กับอายุคนไข้ หากอายุยังไม่มาก สามารถรักษาได้ด้วยการปลูกถ่ายไขกระดูก จากพี่น้องท้องเดียวกัน หรือบุคคลอื่นที่เข้ากันได้ หากอายุมากก็ให้รับยาแอนติบอดี้ ซึ่งได้ผลดีพอสมควร ซึ่งคล้ายกับการให้เคมีบำบัดที่ต้องให้เป็นรอบๆ ไป อีกทั้งโรคนี้เราไม่รู้สาเหตุที่แน่ชัด ทำให้ไม่สามารถป้องกันได้ แต่ที่แน่ๆ คือไม่ใช่โรคกรรมพันธุ์ 

159465308190

6. คำแนะนำจากแพทย์ เพื่อป้องกันโรค “ไขกระดูกบกพร่อง”

นายแพทย์ธานินทร์ อินทรกำธรชัย  ยังมีมีคำแนะนำเพิ่มเติม คือ ให้ประชาชนไปตรวจร่างกายอย่างสม่ำเสมอ ซึ่งในการตรวจร่างกายจะมีตรวจความสมบูรณ์ของเม็ดเลือดอยู่ หากพบว่ามีปัญหาเกร็ดเลือด เม็ดเลือดขาว หรือเม็ดเลือดแดงต่ำเป็นระยะเวลานาน เช่น ยาวนานเป็นเดือน ให้รีบมาพบแพทย์ด้านโลหิตวิทยา หรือในกรณีที่มีอาการแล้วจะพบว่ามีปัญหาเลือดออกง่าย เกิดจ้ำเลือดตามผิวหนัง หรือมีปัญหาติดเชื้อง่ายกว่าคนอื่น ก็ให้รีบมาพบแพทย์ด้านโลหิตเช่นกัน ซึ่งการตรวจวินิจฉัยยืนยันทำได้โดยการตรวจไขสันหลัง ซึ่งหากพบว่าป่วยโรคนี้จริงก็ต้องเข้ารับการรักษาให่ทันท่วงที

----------------------

อ้างอิง :   

http://nwnt.prd.go.th

https://pr.moph.go.th

https://www.thaihealth.or.th