Friend Zone ค้าย้อนยุค เศรษฐกิจมวลมิตร..!

Friend Zone ค้าย้อนยุค เศรษฐกิจมวลมิตร..!

เมื่อผู้บริโภคเสียศรัทธาแบรนด์ อินฟลูเอนเซอร์ เชื่อคำโฆษณา ที่กลายเป็นโกหกคำโต จึงวกกลับมา“ถวิลหา”การซื้อขายจากคนไว้ใจ (Friendship Economy) พลานุภาพ จุดร่วมเดียวกัน พูดภาษาเดียวกัน ชอบเหมือนกัน รั้วสถาบันเดียวกัน เกื้อกูลอุ้มชู“เพื่อนซื้อเพื่อน”พารอด

นับวันความเชื่อถือในแบรนด์ หรือผู้ทรงอิทธิพลทางความคิด (Influencer) จะยิ่งถูกตั้งถามมากขึ้น ยิ่งในช่วงวิกฤติเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 (โควิด -19) เกิดกระแสดราม่าของแบรนด์จากการที่นักโฆษณา และนักการตลาด ผลิตเนื้อหากระตุ้นกิเลส ความต้องการซื้อเกินการบริโภค โน้มน้าวสร้างทัศนคติบางอย่างให้ซื้อสินค้าโดยที่ผู้บริโภคไม่อยากได้


หรือไม่อย่างนั้นก็สร้างความเชื่อ เรียกศรัทธารับเงินบริจาค ใช้ดารา เซเลบ คนมีชื่อเสียงสร้างแบรนด์สินค้า องค์กรให้ดูดี จนมีกระแสดราม่าว่า สิ่งที่เซเลบ บอกเล่านั้นเป็นข้อเท็จจริง หรือบิดเบือน


ปรากฎการณ์การตั้งข้อสังเกตจากสังคมหนักขึ้น อย่างกรณี ฌอน บูรณะหิรัญ นักพูดสร้างแรงบันดาลใจ (Life Coach) รวมถึงรายการช่องส่องผี กรณีเรียกรับเงินบริจาค สะท้อนความคิดของคนบางกลุ่ม ที่เริ่มลดความไว้เนื้อเชื่อใจ ศรัทธา สื่อโฆษณาจากแบรนด์ดัง ผ่านแพลตฟอร์มต่างๆ ทั้งออนไลน์ และออฟไลน์ รวมถึงคนที่มีชื่อเสียง ผู้ทรงอิทธิพลทางความคิด ตลอดจนเพจต่างๆ ที่ได้รับความนิยม


เมื่อคนเริ่มตั้งการ์ด! ไม่เชื่อเหล่าผู้ทรงอิทธิพลทางความคิด..!! จึงเป็นที่มาของแพลตฟอร์มทางเลือกใหม่อย่าง “เศรษฐกิจมวลมิตร” หรือ Friendship Economy ดึงเพื่อนมาเป็นลูกค้า เกื้อกูลกันแลกเปลี่ยนซื้อขายกันไปมา เพราะเกิดความไว้เนื้อเชื้อใจ (Trust) มากกว่า ซึ่งเป็นสิ่งที่แบรนด์และเพจ ถวิลหาและพยายามที่จะสร้างสัมพันธ์นี้


สรินพร จิวานันต์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอ็นไวโร ประเทศไทย จำกัด บริษัทวิจัยระดับโลก ในเครือบริษัท อินเด็กซ์ ครีเอทีฟ วิลเลจ จำกัด (มหาชน) เผยถึงผลสำรวจผู้บริโภคในยุคโควิด-19 ที่ต้องถูกล็อกดาวน์ บีบบังคับทางอ้อมให้ต้องปรับทัศนคติและการใช้ชีวิตใหม่ จนเกิดความเคยชิน และนำพฤติกรรมนี้มาใช้ต่อเนื่อง


โดยเฉพาะในช่วงต้องกักตัวอยู่บ้าน มีการทดลองการซื้อขายออนไลน์เพิ่มขึ้น จึงทำให้สัดส่วนผู้บริโภค 63% ของผู้ที่ถูกสำรวจชื่นชอบการซื้อสินค้าผ่านช่องทางนี้ ออนไลน์จึงเริ่มเข้ามาแทนที่ (Disrupt) การซื้อสินค้าในห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้าอย่างชัดเจนขึ้น ช่วงโควิดคนยังคนเดินทางน้อยลงเพราะรู้สึกยุ่งยากกับมาตรการด้านสุขอนามัย อีกทั้งรู้สึกไม่ปลอดภัย ขณะที่สัดส่วน 26% ของการสำรวจพบว่า การตัดสินใจซื้อสินค้าแต่ละครั้ง จะซื้อก็ต่อเมื่อมีโปรโมชั่น


ที่น่าสนใจคือ ผู้บริโภคในสัดส่วน 25% ของการสำรวจ ยังเปลี่ยนทัศนคติยึดติดกับแบรนด์น้อยลง หันมาใช้สินค้าในประเทศ หรือสินค้าโอทอป หากคุณภาพดีมากขึ้น สะท้อนทัศนคติหันมาใช้ชีวิตแบบพึ่งพาตัวเอง มีความพอเพียงมากขึ้น


ความเชื่อใจในแบรนด์ และคนมีชื่อเสียงลดลง จากเหตุดราม่าต่างๆ บวกกับการทดลองซื้อออนไลน์แล้วสะดวก พฤติกรรมเหล่านี้เกิดพลังเศรษฐกิจขนาดใหญ่ เรียกว่า Friendship Economy ช่องทางการซื้อสินค้าใหม่ คนยินยอมจ่ายโดยไม่ถูกชักจูงใจ คนสนิท ชุมชนและสังคมเดียวกัน (Community) เริ่มเห็นการแตกกลุ่มย่อยเพิ่มขึ้น ดึงคนที่มีจุดร่วมเดียวกันมา เกื้อกูล อุดหนุนกันเอง อย่างสบายใจ ทั้งกลุ่มสาขาอาชีพ เพื่อนร่วมสถาบัน ไม่รู้สึกผิดที่ต้องจ่ายเงินให้เพื่อน


เพียงแค่ช่วงโควิดเกิดการล็อคดาวน์ในช่วง 3-4 เดือน เกิดกลุ่มเล็กๆ ที่เปิดตลาดนัดออนไลน์ หรือ Market Place จำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มสถาบัน เช่น ธรรมศาสตร์และการฝากร้าน , จุฬา มาร์เก็ตเพลส,ศิลปากร ออนไลน์ มาร์เก็ต, ม.กรุงเทพ มาร์เก็ตเพลส, KU จะฝากร้าน ของกลุ่มม.เกษตรศาสตร์, หอการค้า มาร์เก็ตเพลส, รวมถึง ตลาดนัดมศว.เป็นต้น


ยังไม่รวมไปถึง ห้องต่างๆ ที่หน่วยงานภาครัฐ และสาขาอาชีพได้จัดขึ้นเพื่อช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบ เช่น การฝากร้านแห่งประเทศไทย - Amazing Market จัดโดยการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) , ตลาดนัดนักข่าว จัดตั้งโดยสมาคมผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจ รวมถึง ฝากร้านฟรี SME D Bank จัดตั้งโดยธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) เพื่อให้ธุรกิจSMEs ได้ฝากร้าน


นอกจากนี้ ยังมีชุมชนเล็กๆ ในที่พักอาศัย ทั้งคอนโดมิเนียม หมู่บ้าน ที่ตั้งกลุ่มตลาดนัดผ่านไลน์ และเฟซบุ๊คเพื่อขายของประจำหมู่บ้าน บางคน เป็นพ่อค้าอยู่แล้ว บางราย เป็นพ่อค้าแม่ค้ามือใหม่ที่เริ่มขายในช่วงตกงาน ก็ใช้กลุ่มนี้ในการหาลูกค้า การค้าที่เริ่มต้นจากความสัมพันธ์ถ้ารักษาได้จะยืนยาวกว่า และสร้างความจงรักภักดียืนยาวได้มากกว่าแบรนด์ หรือการติดตามคนมีชื่อเสียง เพราะเกิดไว้เนื้อเชื่อใจที่รู้จักมาจากตัวตนของคน เกิดการปฏิสัมพันธ์ (Engagement) ใกล้ชิดและผูกพันมากกว่า

ยกตัวอย่างให้เห็นภาพบางสินค้าจ้างพรีเซนเตอร์มาพูดขายสินค้าแทน แต่ไม่เคยใช้มาก่อน พอซื้อตามกลับไม่เป็นดังคำโฆษณา ประสบการณ์ไม่ดีเหล่านี้จึงเริ่มมีความรู้สึกศรัทธา ความไว้ใจที่มีต่อแบรนด์ค่อยๆ ลดลง

“เฟรนด์ชิป อีโคโนมี ซื้อขายกันเองในกลุ่มเล็กๆ จะเพิ่มขึ้น และแข็งแรงขึ้นเรื่อย และอยู่อย่างยืนยาวในยุคต่อไป รูปแบบการค้ามาถึงจุดเหมือนย้อนยุคเริ่มต้นค้าขายโดยไม่มีระบบตัวกลาง ใช้วิธีแลกเปลี่ยนสินค้ากับเพื่อนบ้าน คนรอบข้างในสังคมเดียวเป็นเป็นหลัก ซึ่งเป็นดีเอ็นเอของสังคมยุคก่อน ที่เกิดความไว้ใจกัน เป็นความสัมพันธ์ที่แบรนด์ หรือ ผู้มีชื่อเสียงก็ไม่เคยได้รับจากผู้บริโภค”


นักวิจัยจากเอ็นไวโรฯ ยังยืนยันถึงผลสำรวจที่เชื่อว่า การความสัมพันธ์ที่เพิ่มการค้าขายจะยืนยาว มีความแข็งแกร่ง เพราะเกิดขึ้นจากการผลักดันโดยสังคม โดยไม่ต้องเกิดการกระตุ้นการซื้อขาย ผ่านสื่อโฆษณา ทำการตลาด จึงเกิดความร่วมมือร่วมใจประสานงาน ประกอบด้วย


1.เกิดความไว้เนื้อเชื่อใจ ว่าจะไม่โกง เพราะเป็นเพื่อนกัน หรือเพื่อนของเพื่อนกันที่เรารู้จักกันมาก่อน มีจุดร่วมเดียวกัน

2.เจ้าของสินค้ามาขายเอง จึงไม่ต้องกลัวจะโกง หลอกลวง หรือสินค้าไม่มีคุณภาพ โดยเฉพาะผู้ขายไม่หวังรวย ทำเป็นธุรกิจ บางคนทำเพื่ออยู่รอดช่วงโควิด แบรนด์ที่เกิดจากคนรู้จัก จะได้รับความเชื่อใจกว่าแบรนด์จากสินค้าที่ธุรกิจสร้างขึ้นซึ่งห่างไกลตัว

3.ซื้อเพื่อเกื้อกูลกัน เธอซื้อฉัน ฉันซื้อเธอ ผู้ที่เข้ามาอุดหนุนซื้อขายส่วนใหญ่จะเป็นการซื้อเพื่อช่วยเหลือคน่ได้รับผลกระทบโควิด ต้องการสร้างเพื่อนมากกว่าขายของ มีการช่วยบอกต่อ (Word of Mouth)

4.รู้สึกดีที่ได้ซื้อ เพราะการใช้เงินได้ของแล้วยังได้ช่วยเพื่อน เอื้ออาทรกัน สร้างความรู้สึกดีๆอยากสนับสนุนส่งต่อสิ่งดีๆ ให้กัน

5.สนุก การซื้อระหว่างเพื่อน มีการหยอกล้อ แซวกัน เป็นความบันเทิงรูปแบบหนึ่ง ที่มีทั้งการประมูล แข่งขัน คอมเม้นกันไปมา มีการเล่นเกม

6.ประหยัด การซื้อขายโดยตรงระหว่างผู้ขาย-ผู้ซื้อ ไม่มีคนกลางและหน้าร้าน ค่าโฆษณาไม่มีต้นทุนราคาจึงถูกกว่าทั่วไป

7.มีสินค้าหลากหลาย ผู้ขายมาจากหลากหลาย ทุกภาคของประเทศ ทั้งวัยทำงานจนถึงสูงวัย จึงสร้างความต้องการโดยที่ไม่รู้ตัว เพราะมีสินค้าแปลกและนวัตกรรมใหม่ตลอดเวลา เช่น การขายฝาซิลิโคน คนตัดสินใจซื้อโดยไม่ได้ตั้งใจ แต่เห็นว่าเ้ป็นประโยชน์ก็ลอง และ

8.เกิดขึ้นในช่วงหยุดเชื้อเพื่อชาติ เมื่อคนกักตัวมีเวลาว่างใช้เวลาดูสินค้าสะดวกและง่ายขึ้น
“ความสัมพันธ์ที่เกื้อกูลกันผ่านห้องสถาบัน หรือเพื่อนร่วมอาชีพที่มีจุดร่วมเดียวกันจะสตรอง เพราะจะคอนเทนท์ใหม่ๆ สินค้าใหม่ Pop-up ใหม่ ตลอดเวลา ถูกไดรฟ์ด้วยคนในสังคมเดียวกัน จึงอยู่ได้ในระยะยาว"

159461551123

**How to..! กลุ่มยืนยาวไร้ดราม่า

การทำตลาดนัดออนไลน์ หรือ Market ผู้เป็นแอดมิน ที่เปิดมาแล้ว แม้ถูกไดรฟ์คอนเทนท์สินค้าจากสมาชิกซื้อขายแลกเปลี่ยนกันเอง เหมือนเดินเข้าตลาดเจอสินค้าจิปาถะ แต่การดูแลจะให้อยู่ได้อย่างยั่งยืนก็ต้องมีการวางกฎกติกา การซื้อขายให้มีมีความโปร่งใส ยุติธรรม เพราะเพจ หรือกลุ่มเหล่านี้เกิดขึ้นจาก “ความบริสุทธ์ มิตรภาพจากความไว้เนื้อเชื่อใจ” เกิดขึ้นเองโดยธรรมชาติไม่มีการปรุงแต่ง

แต่สิ่งที่ไม่ควรให้เกิดขึ้นคือ ดราม่าการเมือง หรือ การปะทะกันระหว่างผู้ซื้อ-ผู้ขาย สิ่งที่ควบคุมยาก แอดมิน จึงต้องคอยบริหารสิ่งเหล่านี้ให้ยุติโดยเร็วที่สุด รวมถึงช่วยเหลือเกื้อกูลกันให้สินค้าบางชนิดที่ขายไม่ได้ มาแนะนำสินค้าจัดทำแคมเปญ โปรโมชันพิเศษเชิญชวน เป็นการสร้างโอกาสให้กับสมาชิกทุกรายได้รับประโยชน์ สิ่งสำคัญคือความจริงใจ ซื่อสัตย์ จากผู้ดูแลให้คงวัตถุประสงค์การก่อตั้งกลุ่ม ไม่ให้เกิดกรณีดราม่ จนคนหมดศรัทธา ยกตัวอย่างเพจ ที่กำลังเป็นกระแสข่าวดังอย่างเพจของ ฌอน ของฌอน บูรณะหิรัญ นักพูดสร้างแรงบันดาลใจ ที่เคยมียอดคนติดตามกว่า 4 ล้านคน ลดลงอย่างรวดเร็วหายไปมากกว่า 1 ล้านคน เพียงไม่กี่วัน เพราะ ถูกตั้งข้อสงสัยเกี่ยวกับการรับเงินบริจาค

“จุดยืนของแอดมิน ที่ทำหน้าที่รักษาคอนเทน์ด้วยความบริสุทธ์ใจเป็นเรื่องสำคัญในการรักษาคำมั่นชุมชนที่ก่อตั้งมา กรณีดราม่าที่ยอดคนติดตามหายไปกว่า 1 ล้านคน สิ่งสำคัญคือความจริงใจ บริสุทธ์ใจ และตราบใดที่ยังเคลียร์ความสงสัยในสังคมไม่ได้ ความศรัทธาที่เคยได้รับก็เริ่มลดลง ดังนั้นการสร้างความไว้ใจ (Trust) จึงสำคัญที่ไม่ควรปล่อยให้มีคำถามใดๆ จากสังคม จึงต้องรีบเคลียร์ตัวเองให้เร็วที่สุด”

กรณีศึกษาตลาดนัดลูกแม่โดม
3 สิ่งที่แบรนด์ใหญ่ทำไม่ได้


ภาวรินทร์ รามัญวงศ์ เจ้าของธุรกิจทัวร์ อีเวนท์ และร้านอาหารแมกซิกัน Taco Factory ผู้ก่อตั้งกรุ๊ปธรรมศาสตร์และการฝากร้าน ความคิดเกิดขึ้นในช่วงว่างงาน ธุรกิจถูกปิด จึงตั้งกลุ่มให้เป็นตัวกลางเชื่อมเพื่อนในเครือข่ายแต่ละคณะให้ซื้อขายกันเอง อุดหนุนกันเอง เพราะรู้ว่าเพื่อนหลายคนกำลังได้รับผลกระทบจากโควิด ในช่วงกักตัวที่เดลิเวอรี่กำลังเติบโต เพราะคนอยู่บ้านเน้นสั่งซื้อสะดวกสบาย จึงอยากให้เงินที่เติบโตเหล่านี้มาอยู่ในผู้ที่ได้รับผลกระทบ แพลตฟอร์มเพื่อนช่วยเพื่อนจึงเกิดขึ้น เพื่อเปิดพื้นที่ให้เพื่อนได้ซื้อสินค้าจากเพื่อนแทนการไปซื้อผ่านแพลตฟอร์มอื่น ทั้งเฟซบุ๊ค และ แกร็บ


กลุ่มธรรมศาสตร์และการฝากร้านจึง เริ่มต้นจากเครือข่ายศิษย์เก่าลูกแม่โดมต่างคณะมารวมกัน 30 คน ก็ขยายมาเป็น หลักเกิน 2 แสนในปัจจุบัน ยอดขายเปิดบิลในกรุ๊ป มีตั้งแต่หลักแสนจนถึงหลักล้าน จนทำให้เพื่อนแต่ละคนหลุดพ้นจากวิกฤติโควิด


มีหนึ่งกรณี ภโวทัย นิพนาถรวีอาภากร เคยบวชพระแล้วสึกมาช่วยพ่อแม่เพื่อทำนาขายข้าวสารมะลิสุรินทร์เพื่อปลดหนี้ ในช่วงโควิด นำข้าวไปเป็นหลักประกันในการกู้เงินจากธ.ก.ส.จึงใช้ในห้องธรรมศาสตร์ เป็นพื้นที่การขายจนกระทั่งปลดหนี้ได้ และที่สำคัญยังขยายไปรับซื้อข้าวจากชุมชนมาขายผ่านห้องเพิ่มเติม ไม่ใช่แค่ตัวเองรอด แต่ยังช่วยชาวนาคนอื่นๆ รอดด้วย


“วิธีการกรุ๊ปมีจุดประสงค์เปิดพื้นที่ให้เพื่อนเริ่มจาก 30 คน จนทำให้ดึงเพื่อนๆศิษย์เก่าต่างคณะมาร่วมกันแลกเปลี่ยนสินค้า เพราะต้องการให้ทุกคนได้มีโอกาสขายของมีรายได้ มีอาชีพ แทนที่เงินหมุนเวียน กระจายไปหาคนรวย แบรนด์ดัง ดิลิเวอรี่ดังๆ ก็กระจายมากับคนที่ลำบากจริง แทนที่เอาเงินไปให้คนอื่น ก็เอาเงินตรงนี้มาช่วยเพื่อนเรากันเองก่อน ให้เพื่อนเรารอด”


ส่วนเนื้อหาการโพสต์นอกจากขายของในกลุ่มนี้ เป็นแนวสนุกสนานเฮฮาแซวเพื่อน รำลึกความหลังวัยเรียนในรั้วมหาลัย มีกิจกรรมต่างๆ มากมายทำให้เพื่อนร่วมสถาบันมาทำร่วมกันผ่านออนไลน์ช่วงกักตัว เช่น บายศรีสู่ขวัญ เต้นแอโรบิค


เธอเล่าว่า เพจเดินทางมาได้เกือบ 3 เดือน โดยที่แม้แต่ปัจจุบันก็ซื้อขายกันอยู่เปิดบิล แม้โควิดเริ่มลดความแรงลงและบางคนก็กลับไปทำงานแล้ว แต่ก็ยังมีการสั่งซื้ออุดหนุนกันอยู่เรื่อยๆ


เธอเล่าว่า การเป็นแอดมินบริหารกลุ่มที่มีสมาชิกเรือนแสน เป็นสิ่งแม้จะเน้นความสนุกสนาน แต่ในฐานะความรับผิดชอบต่อสังคม และทำให้ความสัมพันธ์และความไว้ใจกลุ่มยืนยาว ต้องรักษาความน่าเชื่อถือความจริงใจ ซื่อสัตย์ โปร่งใส และรักษาคำมั่นของการก่อตั้งในวันแรก คือการช่วยเพื่อนร่วมสถาบัน มากกว่าการคิดเรื่องการค้า ทำให้เมื่อสปอนเซอร์เสนอตัวขอลงโฆษณาในเพจก็จะเน้นเนื้อหาสาระเป็นหลัก


“หลังจากที่เกิดวิกฤติเป็นระยะในช่วงแรกๆ ระหว่างซื้อขาย รวมถึงสมาชิกที่เพิ่มขึ้น มีครั้งหนึ่งเราเล่นๆ บอกคนในกรุ๊ปให้กด999 กดในคอมเมนท์ถึงสองพันกว่าคน เราก็รู้ทันทีว่าเราไม่ใช่แค่การเปิดเพจ ที่จะมีคอนเทนท์ขำขันตลกไม่ได้ เพราะเรามีฐานะเป็นสื่อกลางที่พร้อมจะมีคนเชื่อตาม”


ทีมโฮมรัน คอนซัลติ้ง (Homerun consulting) ที่ปรึกษาธุรกิจศิษย์เก่าจากรั้วแม่โดมได้ถอดบทเรียนจากการทำสร้างกรุ๊ป ได้ประสบความสำเร็จ เริ่มต้นจากการตั้งชื่อกลุ่ม "ธรรมศาสตร์และการฝากร้าน” ในความหมายที่กว้างขวาง จึงทำให้มีทั้งศิษย์เก่าและศิษย์ปัจจุบันหลากหลายสาขาอาชีพ และหลายเจเนเรชั่น เข้ามามีส่วนร่วมทั้งการซื้อและการขาย แลกเปลี่ยน


โดยสูตรสำเร็จที่เกิดขึ้นสร้างมูลค่าสูงและมีหลากหลายรูปแบบที่เกื้อกูลกัน เริ่มจากซื้อมาขายไป ทำให้คนตกงาน มีรายได้ และยังเกิดการจับคู่ธุรกิจ (Business Matching) ธุรกิจสปา เซ็นต์สั่งซื้อชานมไข่มุก 3,500 แก้วต่อเดือนเป็นเวลา 1 ปี หรือคนไทยสมาชิกในต่างประเทศ มีการเซ็นต์ให้กับธุรกิจโลจิสติกส์ในไทย จัดหาสินค้าที่พิเศษไม่มีขายทั่วไปในเว็บเพจ หรือในแพลตฟอร์มออนไลน์หลักๆ เช่น ไม้กวาดจากจ.สุพรรณบุรี


สุดท้ายทีมโฮมรัน มองว่า การค้าขายทำธุรกิจในกลุ่มนี้ เทคนิคการเล่าเรื่องอาจจะไม่สำเร็จเสมอไปหากไม่ได้อยู่บนพื้นฐานความจริงใจ สิ่งสำคัญจึงเป็นความจริงใจ ตัวตนที่แท้จริง ไม่ประดิษฐ์ เช่น น้องโอ.. ขายข้าวสาร คนต่างจังหวัด มีความรักสวยรักงาม นำเสนอ ตัวตน ออกมาแบกข้าวสาร หรือทำกิจกรรมสอดคล้องกับข้าวสาร ก็เป็นอีกวิธีในการขายข้าวสาร


สิ่งที่แอดมิดกรุ๊ป เน้นย้ำการค้าขายระหว่างเพื่อนกับเพื่อนที่เกื้อกูลกัน จุดสำคัญจึงไม่ใช่กลยุทธ์ทางการตลาด ที่ทุกคนรู้กันหมด ตั้งแต่จัดวางรูปสวย ๆ เล่าเรื่องเก่งๆ น่าสนใจ ดึงดูดคน เทคนิคเหล่านี้คนขายของต่างก็มีวิธีการของตัวเอง แต่สิ่งสำคัญที่สุดทำให้มีลูกค้าอุดหนุนและคบหากันยืนยาว กลับเป็นพื้นฐานของความสัมพันธ์นั่นคือ “ความจริงใจ” ที่ตอบทุกโจทย์ทำให้ความไว้ใจทำการค้ายั่งยืน


แอดมินเล่าถึงการต่อยอดเมื่อแบรนด์กรุ๊ปธรรมศาสตร์และการฝากร้านเกิดขึ้นในโลกออนไลน์แล้ว สิ่งที่อยากจะต่อยอดต่อไปคือการพบทำตลาดนัดจริง (On Ground) ทำให้คนซื้อคนขายมาเจอกันในรูปแบบตลาดเห็นหน้ากัน ซื้อขายและหยอกล้อกันตอกย้ำความสัมพันธ์คนรั้วเดียวกัน



พลัง Engagement รั้วจามจุรี


ปาณพล จันทรสุกรี (อาร์ม) ผู้ก่อตั้งและแอดมินกลุ่มจุฬาฯมาเก็ตเพลส และจุฬามาเก็ตเพลส แฟนเพจ ก่อนทำหน้าที่แอดมินช่วงโควิด ศิษย์เก่าคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์นี้ ตำแหน่ง Project Manager บริษัททูบีเอเบิ้ล ธุรกิจที่ปรึกษาทางการตลาด และเป็นกรรมการผู้จัดการบริษัท ซีรีย์ เซเว่น จำกัด ธุรกิจอีเวนท์ ออแกไนเซอร์ จึงได้รับผลกระทบเต็มๆ โควิด ทำให้ว่างงาน ขาดรายได้มาดูแลพนักงาน จึงหารายได้เสริมช่วยแม่โพสต์ทำขนมขาย จุดเริ่มจุดประกายเขาก่อตั้งจุฬาฯมาร์เก็ตเพลส เกิดจากการเรียนรู้กรุ๊ปไลน์ขายของชุมชนเล็กๆในหมู่บ้านที่มีสมาชิกกว่า 300 คน มีการซื้อขายแลกเปลี่ยนกัน เป็นช่องทางให้มีทำขนมไทยโบราณไปโพสต์ขายในห้องไลน์กรุ๊ป


การตอบรับออเดอร์ขนมของแม่ จากกลุ่มค้าขายเล็กๆ ในหมู่บ้าน ทำให้อาร์ม มองว่าสเกลน่าจะใหญ่ขึ้นหากเปิดแพลตฟอร์มใหม่ให้มีลูกค้าเพิ่ม จึงตั้ง”จุฬาฯมาร์เก็ตเพลส” ในเวลาหลังจาก ธรรมศาสตร์และการฝากร้านตั้งได้ไม่นาน เพื่อเป็นช่องทางขายสินค้า
ปัจจุบัน จุฬาฯมาร์เก็ตเพลส ถือเป็นตลาดนัดออนไลน์สถาบันที่น่าจะมีสมาชิกสูงสุด ก่อตั้งตั้งแต่วันที่ 11 เม.ย. ปัจจุบันมีจำนวนสมาชิกมากกว่าสองแสนคน ภายในเวลาเกือบ 3 เดือน เป็นกลุ่มคนมีกำลังซื้อ ผู้นำองค์กร เจ้าของกิจการ จำนวนมาก


ปาณพล คำนวณคร่าวถึงยอดเปิดบิลการซื้อขายในกลุ่มนี้มีทั้งรายย่อยจนถึงรายใหญ่ ตั้งแต่หลักร้อยจนถึงหลักพันล้านบาท นั่นคือขายที่ดินมูลค่า 2,000 ล้านบาท สินค้ามูลค่าสูงก็อย่างเช่น คอนโด ขายมาแล้วในไม่ต่ำกว่า 10 ห้อง ตั้งแต่หลัก 2-3 ล้านบาทต่อยูนิต จนถึง 20 ล้านต่อยูนิต จนถึงหลัก จึงทำให้มีการซื้อขายในเพจยอดรวมน่าจะแตะหมื่นล้านตั้งแต่เริ่มต้นเปิดกรุ๊ป


เขามองว่าปัจจัยที่ทำให้ห้องจุฬาฯได้มีความคึกคักเปิดบิลได้ต่อเนื่อง จนถึงปัจจุบัน ความไว้เนื้อเชื่อใจ ของคนมีประสบการณ์ร่วมกัน มารวมตัวกันในกลุ่ม หลายคนรู้จักกัน มีสายสัมพันธ์ต่อกันการได้กลับมาเจอกันในตลาดนัดแห่งนี้ จึงเหมือนเป็นการอัพเดทคนที่รู้จักพี่น้อง เพื่อนร่วมสถาบัน ที่สำคัญทุกคนอยากช่วยเพื่อนร่วมสถาบันเมื่อได้รับผลกระทบจากโควิด หลายคนเปลี่ยนอาชีพมาขายสินค้า โดยเฉพาะ คนทำสายการบิน ท่องเที่ยว และโรงแรม การมีตลาดนัดเป็นอาชีพใหม่ คั่นเวลาในช่วงที่ธุรกิจยังไม่เปิด


“ตลาดถูกไดรฟ์โดยสมาชิกในแต่ละวันก็มาโพสต์ขายสินค้ากันเอง เหมือนเดินเข้าไปในตลาดที่มีสินค้าเรียงรายกว่า 2 แสนรายการมาให้เราเลือกสรร มีความหลากหลายมาก ส่วนใหญ่เป็นอาหาร ตั้งแต่โฮมเมด ยันกาผลิตในอุตสาหกรรม คนมาซื้อก็ช่วยให้คนอื่นรอดจากผลกระทบวิกฤติโควิด”


จนปัจจุบันถือว่าตลาดนัดแห่งนี้ไปไกลกว่าโควิด เพราะเมื่อคนกลับมาไปทำงาน ก็ยังใช้พื้นที่แห่งนี้ในการขายสินค้า จัดโปรโมชั่นทำการตลาด เช่น ผู้บริหารโรงแรมแมนดาริน โอเรียลเต็ล โพสต์ขายบัตร Voucher รับประทานอาหารขายหมดภายในเวลาอันรวดเร็ว แม้แต่แอดมินก็ได้รับโอกาส ได้งานเข้ามาจากพื้นที่ตรงนี้ หลังจากจัดคอนเสิร์ต ดึงศิลปินศิษย์เก่าจากจุฬาฯ มาเล่นคอนเสิร์ต โชว์เคส จึงมีลูกค้าเข้ามา ทำให้อัพสเกลจัดอีเวนท์ ทั้งรูปแบบคอนเสิร์ต VR (Virtual Reality) และ งานแสดงสินค้า ขายสินค้าเปิดตัวผลิตภัณฑ์ใหม่ รวมไปถึงอีเวนท์ตลาดนัดออนกราวน์ ซื้อขายเห็นหน้าจริง พื้นที่ 200 บูท จะเริ่มจัดครั้งแรกในเดือนพ.ย.


“เมื่อเกิดการรวมตัวในหลากหลายเจเนเรชั่น และสินค้าหลากหลาย และเชื่อมความสนใจด้วยคอนเน็คชั่น สายสัมพันธ์สถาบันการซื้อขายจึงเกิดขึ้นเร็ว และเป็นแรงส่งคนมีจุดร่วมเหมือนกัน ทั้งเพื่อนแนะนำกัน ซื้อตามกัน กลายป็นไวรัล บอกต่อ เช่น หากเพื่อนคนใกล้ตัวได้รับผลกระทบหยุดบิน ต้องมาขายของก็เกิดเรื่องราวเป็นไวรัลดึงเพื่อนช่วยอุดหนุน แม้แต่ตัวแอดมินก็รอดจากโควิดได้ลูกค้าจากกรุ๊ปนี้”


ห้องกลุ่มตรงนี้ในปัจจุบันเติบโตแต่การรักษาให้เพจอยู่ยืนยาวก็เป็นเรื่องที่ท้าทาย สิ่งที่หล่อเลี้ยงห้องจุฬาฯให้อยู่มาได้จนถึงปัจจุบันเกิดจากคอนเทน์ของสมาชิกกว่า 2 แสนคน ที่ไม่มีจบ บวกกับคอนเทนท์จากอดมิน ที่เน้นสาระน่ารัก ทำให้สมาชิกรู้สึกสนุกและบอกเล่าประสบการณ์ โดยเฉพาะเรื่องเล่าในรั้วจุฬามีความประทับใจมากมายที่ทำให้คนชอบติดตาม รวมถึงความสนุกและบันเทิงจากคอนเสิร์ต จัดรายการทอล์คบ้าง ยอด Engage อีเวนท์สูงสุดมีถึง 30,000 คน

เขามองว่า แม้กลุ่มจะเติบโตอย่างรวดเร็ว ก็ควรจะมีการวางกฎกติกา เพื่อป้องกันที่กรณีดราม่าที่เกิดขึ้นจากหลากหลายด้าน ทั้งการซื้อขายสินค้าระหว่างผู้ซื้อผู้ขาย ที่จะต้องปล่อยให้สะสางปัญหา รวมถึงการออกกฎกติกาไม่ให้มีเรื่องการเมืองมาเกี่ยวข้อง ทำให้ซื้อขายได้อย่างสบายใจไม่มีการปะทะกันทางความคิดในตลาดแห่งนี้