กางรัฐธรรมนูญ 2560 'ประยุทธ์' นั่งนายกฯถึง 10 ปี?

กางรัฐธรรมนูญ 2560 'ประยุทธ์' นั่งนายกฯถึง 10 ปี?

ความคิดเห็นของ ‘บิ๊กจิ๋ว’ ที่จะให้ ‘บิ๊กตู่’ เป็นนายกฯ 10 ปี จะเป็นไปได้หรือไม่ กลายเป็นประเด็นที่น่าสนใจทางการเมือง

ภายหลัง พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ อดีตนายกรัฐมนตรี และอดีตหัวหน้าพรรคความหวัง ออกมาให้ความเห็นสนับสนุนให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม อยู่ในตำแหน่งนานถึง 10 ปี

“ตอนนี้ จำเป็นต้องให้กำลังใจ พล.อ.ประยุทธ์ ถ้าไม่ให้แล้ว จะให้ใคร ส่วนรัฐบาลนี้ จะอยู่ครบวาระ 4 ปีหรือไม่ คงไม่มีใครรู้ อาจจะอยู่ถึง 10 ปีก็ได้ หรือ ต้องไปถามนายโสรัจจะ นวลอยู่ โหรดัง” คำพูดจากพล.อ.ชวลิต

เมื่อมองกลับมายังเสถียรภาพของรัฐบาลในเวลานี้ ถือว่ามีมากพอสมควร เนื่องจากสามารถรวบรวมเสียงข้างมากในสภาได้มากถึง 273 เสียง ซึ่งเป็นตัวเลขล่าสุดที่ออกมาจากการลงมติรับหลักการแห่งร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณพ.ศ.2564 ซึ่งคงทำให้พออุ่นใจได้ว่าการคุมเสียงในสภาไม่น่าจะมีปัญหา แต่อาจจะมีปัญหาภายในพรรคพลังประชารัฐหรือพรรคร่วมรัฐบาลอยู่บ้าง ซึ่งเมื่อถึงที่สุดแล้วรัฐบาลก็คงจะกอดคอกันไปก่อน

อย่างไรก็ตาม ข้อคิดเห็นของพล.อ.ชวลิต เป็นปัญหาในเชิงกฎหมายว่าพล.อ.ประยุทธ์ จะสามารถอยู่ในตำแหน่งได้นานถึง 10 ปีหรือไม่ โดยในประเด็นนี้ต้องไปหาคำตอบกันในรัฐธรรมนูญพ.ศ.2560

เดิมทีรัฐธรรมนูญไม่เคยกำหนดจำนวนสมัยที่คนหนึ่งจะสามารถเป็นนายกรัฐมนตรีได้กี่สมัยมาก่อน กล่าวคือ คนหนึ่งสามารถเป็นนายกรัฐมนตรีได้ไม่จำกัดสมัย ตราบเท่าที่ตนเองยังชนะเลือกตั้ง หรือ มาด้วยกระบวนการเข้าสู่อำนาจด้วยวิธีพิเศษอย่างการรัฐประหาร แต่เมื่อมาถึงการจัดทำรัฐธรรมนูญ 2550 ปรากฏว่าได้มีการเปลี่ยนหลักการใหม่

โดยกำหนดเป็นบุคคลหนึ่งที่ไม่ว่าจะชนะเลือกตั้งกี่ครั้งและสภาผู้แทนราษฎรจะมีมติให้เป็นนายกฯกี่ครั้ง แต่สุดท้ายแล้วจะเป็นนายกรัฐมนตรีรวมกันไม่เกิน 8 ปี ซึ่งเมื่อครั้งการยกร่างรัฐธรรมนูญ 2560 ก็ได้นำหลักการที่ว่านี้มาใช้เช่นกัน ดังที่ปรากฏไว้ในมาตรา 158

“นายกรัฐมนตรีจะดํารงตําแหน่งรวมกันแล้วเกิน 8 ปีมิได้ ทั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นการดํารงตําแหน่งติดต่อกันหรือไม่ แต่มิให้นับรวมระยะเวลาในระหว่างที่อยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปหลังพ้นจากตําแหน่ง” เนื้อหาในมาตรา 158

ทั้งนี้คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญยังกำหนดเจตนารมณ์ของมาตรา 158 ไว้ในเอกสารบันทึกความมุ่งหมายและคำอธิบายประกอบรายมาตราของรัฐธรรมนูญ ดังนี้

"เรื่องการเสนอรายชื่อบุคคลเพื่อให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีได้กำหนดเงื่อนไขว่าบุคคลดังกล่าวจะต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามเช่นเดียวกับการเป็นรัฐมนตรีรวมทั้งจะต้องเป็นบุคคลที่พรรคการเมืองมีมติเสนอรายชื่อล่วงหน้า เพื่อเป็นการเปิดโอกาสให้ประชาชนที่มีสิทธิเลือกตั้งได้ทราบและเป็นเหตุผลหนึ่งในการพิจารณาตัดสินใจในการลงคะแนนให้ผู้สมัครของพรรคการเมืองใด

อันเป็นการเน้นถึงความสำคัญของพรรคการเมืองที่จะต้องพิจารณาบุคคลที่จะเสนอให้เป็นนายกรัฐมนตรี นอกจากนี้ยังกำหนดให้พรรคการเมืองที่จะเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีนั้น จะต้องเป็นพรรคการเมืองที่มีสมาชิกได้รับเลือกเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไม่น้อยกว่าร้อยละห้าของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร”

“การนับระยะเวลาแปดปีนั้น แม้บุคคลดังกล่าวจะมิได้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีติดต่อกันก็ตาม แต่หากรวมระยะเวลาทั้งหมดที่ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของบุคคลดังกล่าวแล้วเกินแปดปี ก็ต้องห้ามมิให้ดำรงตาแหน่งนายกรัฐมนตรี แต่อย่างไรก็ตาม ได้กำหนดข้อยกเว้นไว้ว่าการนับระยะเวลาการดำรงตาแหน่งของนายกรัฐมนตรีในระหว่างรักษาการภายหลังจากพ้นจากตำแหน่ง จะไม่นำมานับรวมกับระยะเวลาการดำรงตำแหน่งของนายกรัฐมนตรีดังกล่าว การกำหนดระยะเวลาแปดปีไว้ก็เพื่อมิให้เกิดการผูกขาดอำนาจในทางการเมืองยาวเกินไปอันจะเป็นต้นเหตุเกิดวิกฤติทางการเมืองได้”

สำหรับกรณีของพล.อ.ประยุทธ์นั้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีจนถึงปัจจุบันนับได้ถึง 2 วาระ แบ่งเป็น 1.วาระก่อนการมีรัฐธรรมนูญ 2560 คิดเป็นเวลาประมาณ 3 ปี และ 2.หลังจากประกาศใช้รัฐธรรมนูญ2560 ตั้งแต่ 6 เม.ย. 2560 จนถึงปัจจุบันรวมประมาณ 3 ปี

การตีความในประเด็นนี้ ‘วิษณุ เครืองาม’ เคยออกมาให้ความคิดเห็นเมื่อปี 2562 ว่าการเริ่มนับวาระการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของพล.อ.ประยุทธ์ ต้องเริ่มนับจากการประกาศใช้รัฐธรรมนูญในปี 2560

จนถึงปัจจุบันพล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกรัฐมนตรีมาแล้ว 3 ปีนับตั้งแต่ประกาศใช้รัฐธรรมนูญ 2560 จึงเหลือระยะที่จะสามารถเป็นนายกฯได้อีกเพียง 5 ปี ซึ่งจะครบ 8 ปี ไม่ว่าจะ ส.ส. และ ส.ว. จะมีมติเลือกให้พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกฯอีกกี่ครั้งก็ตาม

เว้นเสียแต่ว่าจะมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญย้อนกลับไปเหมือนในรัฐธรรมนูญ 2540 ที่ผ่านมาแล้วเกิน 20 ปี