“สทท.-ททท.” ห่วงกำลังซื้อท่องเที่ยว คนไทยกระอักพิษ ศก.ครึ่งปีหลัง

“สทท.-ททท.” ห่วงกำลังซื้อท่องเที่ยว  คนไทยกระอักพิษ ศก.ครึ่งปีหลัง

แม้สถานการณ์โรคโควิด-19 ในประเทศไทยจะคลี่คลายจนติดอันดับ 2 ของโลกและเป็นอันดับ 1 ของเอเชียด้านการฟื้นตัวจากโควิดได้ดีที่สุดจาก 184 ประเทศทั่วโลก จากการจัดอันดับดัชนีของ Global COVID-19 Index 

แต่ปัญหาเศรษฐกิจและกำลังซื้อยังคงได้รับผลกระทบรุนแรงและน่ากังวลในครึ่งปีหลัง ส่งผลให้ภาครัฐต้องงัดมาตรการกระตุ้นท่องเที่ยวภายในประเทศมาปลุกมู้ดและการจับจ่ายให้คึกคักขึ้นอีกครั้ง หลังบรรยากาศท่องเที่ยวร้างราจากผู้คนตลอด 2-3 เดือนที่ต้องล็อคดาวน์เพื่อหยุดการระบาด

ชัยรัตน์ ไตรรัตนจรัสพร ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) ฉายภาพรวมว่า “กำลังซื้อ” ของนักท่องเที่ยวไทยช่วงครึ่งปีหลังยังคง “มีอยู่จำกัด” และน่าเป็นห่วงจากปัญหาเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบเป็นลูกโซ่

แต่ยังดีที่มีปัจจัยหนุนอยู่บ้างจากการฟื้นตัวจากโรคโควิด-19 หลังประเทศไทยสามารถควบคุมการแพร่ระบาดได้ดีต่อเนื่อง ส่งผลบวกต่อความเชื่อมั่นและบรรยากาศการเดินทาง นอกจากนี้น่าจะได้อานิสงส์จากมาตรการกระตุ้นท่องเที่ยวภายในประเทศของภาครัฐผ่าน 2 แพ็คเกจได้แก่ เราเที่ยวด้วยกัน และกำลังใจ วงเงินรวม 2.24 หมื่นล้านบาทที่คิกออฟในเดือน ก.ค.นี้

“บรรยากาศการจับจ่ายสินค้าและบริการท่องเที่ยวเริ่มฟื้นตัวดีขึ้นหลังประเทศไทยอยู่ในสภาวะล็อคดาวน์มานานราว 3 เดือน นักท่องเที่ยวไทยบางส่วนอัดอั้น ต้องการออกเดินทาง ส่งผลให้กระแสการจองห้องพักโรงแรมและเดินทางท่องเที่ยวคึกคักดีในช่วงสุดสัปดาห์และวันหยุดยาว โดยเฉพาะจุดหมายใกล้กรุงเทพฯ เช่น หัวหิน และพัทยา อย่างไรก็ตามยังคงต้องจับตาเรื่องกำลังซื้อท่องเที่ยวอย่างใกล้ชิด เพราะยังค่อนข้างน่าเป็นห่วงจากผลกระทบทางเศรษฐกิจ”

ส่วนปัจจัยเรื่องการเมืองภายในประเทศ มองว่าเศรษฐกิจไทยอยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อสำคัญ กำลังฟื้นตัวจากโควิด-19 หากมีการปรับเปลี่ยนคณะรัฐมนตรี ขอให้เป็นบุคคลที่ทำงานเป็น พร้อมสานต่อการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจไทยให้รอดพ้นจากปากเหว ซึ่งยังอยู่ในภาวะฟื้นตัวค่อนข้างยาก

ยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) กล่าวว่า หลังจากประชาชนเริ่มออกเดินทางท่องเที่ยวเพื่อผ่อนคลายความตึงเครียดจากวิกฤติโควิด-19 เมื่อเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมา พบว่ากลุ่มที่ออกท่องเที่ยวเป็นกลุ่มแรกคือ “กลุ่มที่มีรายได้ระดับบน” ซึ่งมีสัดส่วนตลาดอยู่ที่ 12% เนื่องจากเป็นกลุ่มที่มีกำลังในการใช้จ่ายและจะเดินทางเป็นกลุ่มเล็กๆ เพราะยังมีความกังวลต่อการติดเชื้อ

รูปแบบการเดินทางท่องเที่ยวจะเป็นการเที่ยวในพื้นที่ระยะใกล้ หรือท่องเที่ยวในจังหวัดตัวเองหรือใกล้เคียง และใช้เวลาท่องเที่ยวประมาณ 2-3 วัน หรือแบบวันเดย์ทริป เพื่อระมัดระวังการใช้จ่าย เนื่องจากยังไม่มั่นใจเศรษฐกิจในประเทศ

“ขณะกลุ่มที่มีรายได้ต่ำและปานกลางซึ่งเป็นกลุ่มที่มีสัดส่วนตลาดมากที่สุดถึง 73% จะเป็นกลุ่มที่ฟื้นตัวได้ช้า เนื่องจากเป็นกลุ่มแรงงานหลักที่มีความเสี่ยงจะได้รับผลกระทบสูงจากการระบาดของโรคโควิด-19 โดยจากข้อมูลของคณะกรรมการร่วมเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ระบุว่าวิกฤติโควิด-19 ได้ส่งผลกระทบให้แรงงานในไทยจะว่างงานประมาณ 7.2 ล้านคน ทำให้อัตราว่างงานขึ้นไปสู่ระดับ 28%

นอกจากนี้ยังต้องติดตามการฟื้นฟูเศรษฐกิจภายในประเทศช่วงไตรมาส 3 นี้ อาทิ การจ้างงาน และภาคการผลิต ในภาวะที่ทุกภูมิภาคทั่วโลกยังคงมีการระบาดของโรคโควิด-19 ในวงกว้าง (Pandemic) จำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นในอัตราสูง และมีการพบผู้ติดเชื้อรอบสอง เช่นในเกาหลีใต้ ญี่ปุ่น และจีน

“คาดหวังว่ามาตรการส่งเสริมการเดินทางท่องเที่ยวภายในประเทศของภาครัฐและ ททท. ผ่าน 2 แพ็คเกจ ได้แก่ เราเที่ยวด้วยกัน และ กำลังใจ ซึ่งเริ่มดำเนินการตั้งแต่เดือน ก.ค.-ต.ค.2563 จะช่วยกระตุ้นให้คนออกเดินทางท่องเที่ยวมากขึ้น หลังจากเมื่อเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมาการเดินทางโดยเครื่องบินเริ่มฟื้นตัว มีจำนวนเที่ยวบินไปกลับภายในประเทศ 3,931 เที่ยวบิน จึงคาดว่าจำนวนที่นั่งโดยสารภายในประเทศอยู่ที่ 372,611 ที่นั่ง เพิ่มขึ้น 33.2% จากเดือน พ.ค.ที่ผ่านมา”

อย่างไรก็ตามยังมีอีกเงื่อนไขที่ส่งผลกระแสการเดินทางในช่วงครึ่งปีหลัง นั่นคือการเปลี่ยนกำหนดการปิดเปิดภาคเรียนปี 2563 ทำให้ไม่มีช่วงปิดภาคเรียนในเดือน เม.ย.และ ต.ค. ส่งผลต่อการเดินทางท่องเที่ยวของกลุ่มครอบครัวซึ่งมีสัดส่วนกลุ่มตลาดมากที่สุดถึง 82% และกลุ่มนักเรียนนักศึกษา อายุระหว่าง 15-24 ปีที่มีสัดส่วน 9%

ผู้ว่าการ ททท. กล่าวเพิ่มเติมว่า แม้ในภาพรวมคนไทยยังมีความกังวลเรื่องเศรษฐกิจและกำลังซื้อ แต่ตลาดไทยเที่ยวไทยถือเป็น “น้ำบ่อใกล้” ที่ผู้ประกอบการท่องเที่ยวคาดหวังได้ในช่วงครึ่งปีหลัง เพื่อผลักดันรายได้รวมของภาคท่องเที่ยวไทยปี 2563 ให้ถึงเป้าหมาย 1.23 ล้านล้านบาท โดยล่าสุดได้ปรับเป้าหมายจำนวนนักท่องเที่ยวไทยปีนี้เป็น 120 ล้านคน-ครั้ง สร้างรายได้ 5 แสนล้านบาท เพิ่มจากเป้าเดิมซึ่งตั้งไว้ที่ 100 ล้านคน-ครั้ง สร้างรายได้ 4 แสนล้านบาท

จึงต้องปรับกลยุทธ์ด้วยการเน้นเพิ่มความถี่การเดินทางของนักท่องเที่ยว เพื่อสร้างการหมุนรอบของเงินสะพัด พร้อมกระตุ้นให้ตลาดคนไทยเที่ยวนอกซึ่งไม่สามารถเดินทางไปต่างประเทศได้หันมาเที่ยวไทย เนื่องจากปี 2562 มูลค่ารายได้ของตลาดไทยเที่ยวนอกอยู่ที่ 4.4 แสนล้านบาท จากฐานนักท่องเที่ยว 12-13 ล้านคน พอปีนี้มีวิกฤติโควิด-19 จึงคาดว่ารายได้ตลาดไทยเที่ยวนอกจะเหลือเพียง 1 แสนล้านบาท เหลือมูลค่ากำลังซื้อจำนวนมหาศาลถึง 3.4 แสนล้านบาทที่พร้อมจ่ายแต่ไม่สามารถเดินทางได้

โดยจากการสำรวจความคิดเห็นของตลาดไทยเที่ยวนอก จากจำนวนกลุ่มตัวอย่าง 3,000 คน ระบุว่าหากภายในปีนี้ไม่สามารถไปเที่ยวต่างประเทศได้ จาก 68.9ของกลุ่มตัวอย่างระบุว่าจะเลือกไปเที่ยวในประเทศไทยแทน จึงถือเป็นโอกาสของผู้ประกอบการท่องเที่ยวในสถานการณ์ที่ไม่สามารถหวัง “น้ำบ่อหน้า” จากตลาดนักท่องเที่ยวต่างชาติให้กลับมาเป็นปกติในระยะสั้น