'โค้ชจิมมี่' พจนารถ ซีบังเกิด : ‘ไลฟ์โค้ช' ตัวจริง ไม่อิงกระแส!

'โค้ชจิมมี่' พจนารถ ซีบังเกิด : ‘ไลฟ์โค้ช' ตัวจริง ไม่อิงกระแส!

เปิดใจโค้ชจิมมี่ "ไลฟ์โค้ช" คนแรกๆ ของเมืองไทย ที่นำศาสตร์ "โค้ชชิ่ง" เข้ามาเมื่อกว่า 10 ปีที่แล้ว นอกจากจะโค้ชให้กับผู้บริหารองค์กรมามากมาย เธอยังเปิดอบรมให้กับผู้มีจิตสาธารณะเพื่อทำหน้าที่ส่งสารความสุขไปทั่วประเทศด้วย

ในวันที่โลกออนไลน์เต็มไปด้วย ‘โค้ช’ ทั้งเรื่องชีวิต การงาน ความสำเร็จ ความร่ำรวย พร้อมๆ ไปกับข่าวด้านลบของบรรดาโค้ชที่มีชื่อเสียงทั้งหลายเหล่านั้น

โค้ชจิมมี่’ พจนารถ ซีบังเกิด ผู้นำศาสตร์ ‘โค้ชชิ่ง’ (Coaching) เข้ามาในเมืองไทยเป็นคนแรกๆ เมื่อ 10 กว่าปีที่แล้ว ยังคงยืนหยัดที่จะใช้ความรู้และทักษะที่ได้ร่ำเรียนมาถ่ายทอดสู่สังคม ด้วยความเชื่อมั่นว่าโค้ชชิ่งจะช่วยให้คนค้นพบความสุขได้ด้วยตนเอง

“โค้ช ทำหน้าที่เป็นพื้นที่โล่งๆ ของใครบางคนให้เขารู้สึกปลอดภัย”  

“โค้ชชิ่ง ไม่ใช่การเยียวยา ไม่ใช่ที่ปรึกษา ไม่ใช่เมนเทอร์ และไม่ใช่ทิชเชอร์”

โค้ชจิมมี่ เรียนจบด้านนิเทศศาสตร์ ก่อนจะทำงานและศึกษาต่อในด้านการบริหารทรัพยากรมนุษย์ ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้รู้จักศาสตร์ที่เรียกว่า ‘โค้ชชิ่ง’ หลังจากนั้นจึงได้ศึกษาอย่างจริงจังด้านการโค้ชขั้นสูงที่ The Coaching Institute  เมลเบิร์น ประเทศออสเตรเลีย และได้รับการรับรองมาตรฐานจาก International Coach Federation (ICF) ในระดับ Professional Certified Coach (PCC) ปัจจุบันเป็นประธานกรรมการและผู้ก่อตั้ง กลุ่มบริษัท จิมมี่เดอะโค้ช 

นอกจากจะรับหน้าที่โค้ชผู้บริหารระดับสูง เธอยังก่อตั้ง Thailand Coaching Academy เพื่อถ่ายทอดความรู้ ‘Life Coaching’ รวมถึงริเริ่มโครงการ Happy life Happy Thailand ด้วยความเชื่อว่าศาสตร์นี้จะทำให้คนไทยมีความแข็งแรงจากภายในด้วยศักยภาพที่แท้จริงของตนเอง

 

  • ทำไมถึงได้สนใจศาสตร์ 'โค้ชชิ่ง'

ตอนนั้นบริษัทข้ามชาติเริ่มมองหาโค้ชคนไทยที่โค้ชฝรั่งได้ เป็นลักษณะการพัฒนาความเป็นผู้นำ ซึ่งเราทำงานอยู่บริษัทคอนเซาท์ (Consult) ก็เลยได้ไปโค้ชผู้บริหารฝรั่งจากบริษัทต่างชาติ จริงๆ ตอนนั้นยังไม่ได้เรียนด้านโค้ชชิ่งนะ แต่อ่านหนังสือแล้วก็ถูกโค้ชโดยเจ้าของบริษัทก็เริ่มสนใจ คิดว่าน่าจะทำตรงนี้เป็นอาชีพควบคู่กับงานคอนเซาท์ ก็เลยไปเรียนเป็นเรื่องเป็นราว ที่ The Coaching Institute ออสเตรเลีย ประมาณปี 2009 เขาสอนด้านการโค้ชที่เรียกว่า ไลฟ์โค้ช

  • พอได้เรียนแล้ว สิ่งที่เรียกว่า 'โค้ชชิ่ง' ต่างจากที่คิดไหมคะ

พอไปเรียนถึงรู้ว่า อ๋อ มันอย่างนี้เองเหรอ ตอนที่เราไปทำงานเป็นโค้ชโดยที่ยังไม่รู้ว่าโค้ชชิ่งจริงๆ คืออะไร พอลูกค้าบอกว่าอยากเข้าใจวัฒนธรรมไทย เราก็ไปนั่งฟังว่าเขาไม่เข้าใจวัฒนธรรมตรงไหน แต่โค้ชชิ่งมันไม่ใช่การบอก คือการเปลี่ยนจากข้างใน ไม่ใช่ทำให้เขาเข้าใจด้วยหัวแต่ต้องเข้าใจด้วยใจ เพราะคนเรามันไม่ได้เปลี่ยนกันง่ายๆ ต้องแก้ที่ต้นตอไม่ใช่ปลายเหตุ

  • อะไรคือความแตกต่างระหว่างโค้ชกับนักจิตวิทยา

จริงๆ การดำเนินชีวิตทั้งหมดของมนุษย์ก็คือจิตวิทยานั่นแหละ คือวิทยาศาสตร์ของจิต ทีนี้ถ้าเรียกว่าจิตวิทยา คนที่ใช้ต้องไปเรียนจริงๆ ต้องรู้หลักการทำงานของสมอง ของพฤติกรรม แต่ว่าโค้ชชิ่งไม่ได้เรียนลึกขนาดนั้น มาเข้าใจพฤติกรรมเลย แล้วก็สงสัยว่าพฤติกรรมนี้มาจากไหนนะ ซึ่งมาจากไหนไม่ได้เกี่ยวกับสมองอย่างเดียว เราสนใจเรื่องศาสนา วัฒนธรรม แล้วก็สภาพแวดล้อม การหล่อหลอมเลี้ยงดู ช่วงอายุคนด้วย พอเป็นอย่างนี้ก็เลยศึกษาทุกด้าน โดยเอาศาสตร์ที่เรียนมาจากต่างประเทศมาเป็นพื้นฐาน

ถามว่าทำไมถึงต้องเรียน เพราะมันไม่ใช่แค่เข้าใจทฤษฎี แต่ต้องปฏิบัติด้วย ช่วงที่ปฏิบัติ เรียกว่าบรรลุธรรมในห้องเรียนเลย คืออาจารย์เขามีสาธิต เช่น ถามว่าใครบ้างที่มีเรื่องทุกข์ใจแล้วเล่าไม่ได้เลย แล้ววันนั้นมีผู้หญิงคนหนึ่งในห้องบอกว่าเขารู้สึกว่าตัวเองเป็นแม่ที่แย่มาก เพราะว่าในวันที่ลูกเขาหายใจไม่ออก หน้าเขียวแล้ว เขาได้แต่กรี๊ดๆ พอรถพยาบาลมาเขาไม่สามารถดูลูกได้ คิดว่าลูกต้องตายแน่ แล้วก็ปล่อยให้หมอจัดการไป ในที่สุดถึงลูกจะรอด แต่หลังจากนั้นเขารู้สึกว่าเป็นแม่ที่แย่มาก

เขาไม่เคยเล่าเรื่องนี้ได้เลย แค่คิดก็น้ำตาไหลแล้ว พออยู่ในคลาสอาจารย์ก็ใช้วิธีการบางอย่างของโค้ชชิ่ง แล้วผู้หญิงคนนี้ก็เล่าได้ เราก็เลยสนใจและศึกษามาเรื่อยๆ แล้วก็พบว่าคนที่เป็นโค้ชฟังอะไรก็ได้ เข้าใจโดยไม่ต้องไปตัดสินเขา ซึ่งเรารู้สึกว่ามันเป็นศาสตร์การใช้ชีวิตที่ต้องเอากลับมาเมืองไทยให้ได้ พอกลับมาเมืองไทยก็เริ่มนำสิ่งที่เรียนมากลับมาทดลองจัดคอร์ส บอกลูกค้าว่ามันเป็นไลฟ์โค้ชนะ ไม่ใช่โค้ชเพอร์ฟอร์แมนแบบที่องค์กรเคยจ้าง ซึ่งอันนั้นเป็นการโค้ชให้คนที่ทำอะไรบางอย่างไม่ได้ให้ทำให้ได้ แต่ไม่ได้เปลี่ยนชีวิตเหมือนไลฟ์โค้ช

159454860149

  • ไลฟ์โค้ชกับนักสร้างแรงบันดาลใจเหมือนกันไหมคะ

ไม่เหมือนค่ะ ไลฟ์โค้ชไม่ต้องให้แรงบันดาลใจ แต่ไปฟังจนเขาเข้าใจตัวเอง แล้วคนคนนั้นให้แรงบันดาลใจตัวเอง โดยส่วนตัวคิดว่าถ้าเรายังไม่แข็งแรงเพียงพอ แล้วต้องการแรงบันดาลใจที่คนอื่นมาให้ แปลว่าเรามีภาวะพึ่งพิง เราไม่มีทางที่จะเดินไปข้างหน้าแล้วรอดได้ตลอด เหมือนกับจิตตกปุ๊บอยู่คนเดียวไม่ได้ แล้วต้องหาแรงบันดาลใจ ถ้าเกิดไม่มีคนเหล่านั้นแล้วจะอยู่อย่างไร

สิ่งที่เรามีแพชชั่นมากที่จะทำ ก็คือทำให้คนแข็งแรงจากข้างใน ถ้าก้าวข้ามคำว่า โค้ชชิ่ง ศาสตร์นี้มันคือการช่วยให้คนเดินไปข้างหน้าได้อย่างมีความสุขมากขึ้น เป็นเจ้าของชีวิตตัวเองมากขึ้น ดังนั้นในบางแง่มุมมันก็คือ ธรรมมะ

  • อะไรคือคุณสมบัติและคุณธรรมของโค้ชที่ดี

ไม่ตัดสิน เก็บความลับ ใช้ทักษะที่ไม่ล่วงล้ำเข้าไปในพื้นที่ของคนที่เรากำลังคุยอยู่ด้วย โดยไปทำให้เขาแย่ลงกว่าตอนที่เดินมาหาเรา

อีกอย่างคือมายเซ็ต เป็นสิ่งที่เราต้องเชื่อก่อนที่จะมีทักษะโค้ช คือมนุษย์ทุกคนเป็นคนดี ไม่มีใครอยากแย่ ไม่มีใครอยากเลวหรอก แต่วันนี้ถ้าเห็นพฤติกรรมเขาแย่ เขาเลว อันนั้นเป็นสิ่งที่สังคมมอง จริงๆ เขาอาจมีต้นทุนไม่พอที่จะคิดได้ว่ามันไม่ดี ก็เลยทำเลว หรือมีความจำเป็นบางอย่างที่ทำอย่างนั้น เพราะบางคนรู้นะว่าอย่างนี้เรียกว่าโกง แต่ถ้าไม่โกงลูกจะเอาอะไรกิน อ้นนี้แสดงว่าต้นทุนไม่พอ โค้ชต้องไม่ตัดสินว่า คนคนนี้ขี้โกง ยังไงก็ไม่คุยด้วย โค้ชต้องฟังเขา ต่อไปก็เป็นทักษะแล้วล่ะว่าทำอย่างไรให้เขาเห็นว่า อย่างนี้มันไม่โอเค ให้เขาเห็นว่ายังมีทางเลือกอีกตั้งหลายทางที่ได้ผลลัพธ์เหมือนกัน แต่ไม่ต้องทำแบบที่สังคมเห็นว่าไม่ดี

ไลฟ์โค้ชต้องรับฟังได้ทุกเรื่อง เข้าใจแต่ไม่ต้องไปแก้ไขให้ ต้องมีทักษะว่าตอนนี้ที่เขามานั่งเล่าเขารู้สึกอะไร แล้วตั้งคำถามให้เขาเห็นเองว่าจะใช้ชีวิตต่อไปอย่างไร อันนี้คือทักษะที่จำเป็น ฟังเพื่อที่จะพาไปข้างหน้า ซึ่งเขาอาจจะมีแรงบันดาลใจขึ้นมาเอง จากการที่เราฟังนั่นแหละ แต่ไม่ได้ตั้งใจที่จะสร้างแรงบันดาลใจ

  • คนส่วนใหญ่ที่มาโค้ช เป้าหมายของเขาคืออะไร

ตลาดของเราคือผู้บริหารในองค์กร เพราะฉะนั้นเป้าหมายที่มาส่วนใหญ่คือ อยากเป็นลีดเดอร์ (Leader) ที่ดี แต่พอเข้าไปนั่งคุยแล้ว เราคุยพฤติกรรม 360 องศา เรื่องนั้นเป็นแค่องค์ประกอบ เราพยายามหา why ของเขา ถ้าคุณเป็นลีดเดอร์ที่ดีแล้วคุณได้อะไร คือมันต้องได้กับชีวิตเขาก่อนเขาถึงจะเปลี่ยน

  • แล้วเป้าหมายของโค้ชล่ะคะ

เราเชื่อว่าโค้ชชิ่งคือธรรมมะ แต่ในประเทศไทยไม่ได้มีศาสนาเดียว ก็เลยใช้โค้ชชิ่งเพื่อให้คนมีความสุขขึ้น เป้าหมายคือการส่งสารนี้ไปให้ถึงทุกคนที่เป็นคนไทยแม้กระทั่งอยู่ในต่างประเทศ เพราะในช่วงล็อกดาวน์จากโควิดที่ผ่านมา ไม่รู้จะทำอะไรก็เลยส่งวิดีโอคอร์สให้คนดูฟรีๆ ปรากฎว่าไปถึงต่างประเทศ เราก็เริ่มรู้สึกว่าออนไลน์มันมีพลัง ศาสตร์ที่ตั้งปณิธานไว้ว่าให้ถึงคนในประเทศไทย มันถึงคนไทยที่อยู่ต่างประเทศด้วยนะ

  • ดูเหมือนพลังของออนไลน์ทำให้เกิดโค้ชเต็มไปหมด คิดว่าจำเป็นต้องสร้างมาตรฐานหรือมีใบรับรองอะไรไหมคะ

พอตลาดมันเริ่มเติบโต มีคนสนใจใช้บริการมาก มีก็ดี เพราะอย่างน้อยก็รู้ว่าเขาจะต้องทำอะไร ใบเซอร์ (certificate) เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้มั่นใจ แต่ไม่ได้บอกว่าทุกคนที่มีใบเซอร์จะเป็นโค้ชที่ดี และก็ไม่ได้บอกว่าคนที่ไม่มีใบเซอร์เป็นโค้ชที่ดีไม่ได้ เพราะมันอยู่ที่มายเซ็ตกับทักษะและความตั้งใจที่ไปทำด้วย

159454860149

  • ใครที่สมควรได้รับการโค้ชบ้าง

ในชีวิตของมนุษย์ควรจะมีใครสักคนที่สามารถรับฟังเรา ซึ่งบางครั้งเราอาจจะเรียบเรียงออกมาเป็นคำพูดไม่ได้ด้วยซ้ำไป เพราะฉะนั้นทุกคนต้องการโค้ช โดยอาจจะไม่เรียกว่าโค้ชก็ได้

ในโปรเจ็คที่ทำอยู่ Happy life Happy Thailand อันนี้ไม่ได้สอนให้เป็นโค้ชนะ แต่สอนให้มีทักษะทุกอย่างที่โค้ชมี เช่น ฟังให้เป็น ฟังให้ได้ยินมากกว่าเสียง ได้ยินความรู้สึก ได้ยินความต้องการ ได้ยินความกลัว ทั้งๆ ที่เขาอาจไม่รู้ว่าสิ่งนั้นคือความกลัวด้วยซ้ำไป แล้วก็บอกเขาหรือถามเขาเพื่อให้เขาได้คิด ซึ่งถ้ารอบๆ ตัวเรามีคนแบบนี้สักคนก็คงจะดี อาจเป็นพ่อเป็นแม่เป็นพี่เป็นเพื่อน เพราะฉะนั้นโปรเจ็คที่เราทำคืออยากสร้างคนแบบนี้ไว้ทุกตำบล ทุกหมู่บ้าน เพื่อที่จะได้มีใครสักคนที่มีทักษะแบบนี้ไว้คอยรับฟังคนที่ตกทุกข์ได้ยาก

  • รูปแบบของโครงการนี้เป็นอย่างไร

เราให้ทุน โดยเลือกจากคนที่มีจิตสาธารณะ และคิดว่าเขามีกลุ่มที่ส่งต่อได้แน่ๆ ให้เขามาเรียนฟรี ประมาณ 20 คนต่อรุ่น พอจบแล้ววิธีใช้ทุนก็คือให้ไปส่งต่ออีกอย่างน้อยร้อยคน เพราะฉะนั้นถ้าเราสร้าง 1 คนก็ได้ 101 คน ถ้าสร้าง 7,426 ตำบล ทั่วประเทศ ก็ได้ 7 แสนกว่าคน เราทำมา 17 รุ่นก่อนโควิด ไม่มีใครที่ส่งต่อแล้วส่งแค่ร้อยคน มันเหมือนว่ายน้ำ พอว่ายได้แล้วก็ว่ายไปเรื่อยๆ เพราะฉะนั้นเมื่อเขามีทักษะใหม่แล้ว ใครมาคุยกับเขาก็จะได้รับประโยชน์ด้วย

ที่ผ่านมาพระก็มาเรียน หมอก็มาเรียน ทหาร ตำรวจ เขาส่งต่อกันไปเป็นพันคน พอทำแล้วรู้สึกดี ตั้งเป้าว่าจะทำ 5 ปี นี่ปีเดียวเอง ทำไป 17 รุ่นแล้ว ส่งไป 77 จังหวัดทั่วประเทศ เหลืออีก 500 กว่าอำเภอ 1,600 กว่าตำบล อันนี้คือความตั้งใจที่ตอบคำถามว่าใครบ้างต้องการโค้ช สำหรับเรามันคือทุกคน

  • จากประสบการณ์ในฐานะโค้ช คิดว่าทำไมคนยุคนี้ถึงต้องการโค้ช หรือเมนเทอร์ หรือนักสร้างแรงบันดาลใจอะไรทำนองนี้  

คิดว่ามาจากหลายอย่างประกอบกัน อันที่หนึ่งคือเทคโนโลยีมันทำให้คนใช้ชีวิตไม่ละเอียด เมื่อก่อนกว่าจะหุงข้าวได้ต้องทำให้ฟืนมันร้อนก่อน แต่เดี๋ยวนี้แค่กดปุ่ม เพราะฉะนั้นชีวิตมันไปเร็วมาก ไม่มีความละเอียดในชีวิต มันเลยขาด self learning (การเรียนรู้ด้วยตนเอง) อยากได้สูตรสำเร็จ อยากได้อะไรที่เหมือนกดปุ่มก็ได้เลย ถ้าอยากรวยก็อยากได้คนที่สอนให้รวยแบบกดปุ่มแล้วได้เลย ฉะนั้นมันคือ อิทัปปัจจยตา ทุกสิ่งทุกอย่างมันอิงอาศัยกัน เมื่อมีคนอยากได้เร็วๆ ก็มีคนดิลิเวอร์แบบเร็วๆ ก็ตอบสนองตามกลไกมาเก็ตติ้งธรรมดา

แต่ทีนี้มันดันเป็นมนุษย์ไง สิ่งที่เร็วๆ แล้วไม่ละเอียดกับตัวเอง แปลว่ามันต้องพึ่งปุ่มใดสักปุ่ม ถ้าวันใดวันหนึ่งปุ่มนี้หายไป คุณจะทำยังไงกับชีวิต เราอยากติดทักษะชีวิต อันนี้คือแพชชั่นของตัวเอง