ครป.ออกแถลงการณ์ขอให้ทบทวน โครงการจะนะเมืองต้นแบบอุตสาหกรรมก้าวหน้า

ครป.ออกแถลงการณ์ขอให้ทบทวน โครงการจะนะเมืองต้นแบบอุตสาหกรรมก้าวหน้า

ครป.ออกแถลงการณ์ขอให้ทบทวนโครงการจะนะเมืองต้นแบบอุตสาหกรรมก้าวหน้า จ.สงขลา แนะตั้งคณะกรรมการระดับชาติ มีตัวแทนฝ่ายหน่วยงานภาครัฐ-ภาคเอกชน

เมื่อวันที่ 12 ก.ค.63 คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) ออกแถลงการณ์คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) ฉบับที่ 5 /2563 เรื่องขอให้ทบทวนโครงการจะนะเมืองต้นแบบอุตสาหกรรมก้าวหน้า

ตามที่ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ได้ผลักดันโครงการนิคมอุตสาหกรรมจะนะหรือโครงการจะนะเมืองต้นแบบอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต ตามมติคณะรัฐมนตรีในยุคคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) โดยใช้พื้นที่ชายฝั่งทะเลของจังหวัดสงขลาจำนวนมากถึง 16,753 ไร่เพื่อพัฒนาให้เป็นนิคมอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่สุดของภาคใต้ และได้มีการอนุมัติงบประมาณ 18,680 ล้านบาท เพื่อพัฒนาระบบสาธารณูปโภคก่อนการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นและการประชาพิจารณ์ในภายหลัง โดยเชิญชวนประชาชนในพื้นที่สนับสนุนโครงการนี้ด้วยรูปแบบวิธีการต่างๆ ซึ่งผิดกระบวนการในการทำโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ของรัฐอย่างชัดเจน และขาดการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างกว้างขวาง

คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) เห็นว่าผลกระทบที่จะเกิดขึ้นของโครงการนี้ไม่ได้มีเพียงเรื่องวิถีชีวิตประมงชายฝั่งและอาชีพของคนในพื้นที่เท่านั้น แต่โครงการยังมีผลต่อระบบนิเวศน์ทางทะเลอันเป็นทรัพยากรธรรมชาติของส่วนรวม รวมถึงมลพิษจากโรงงานและน้ำเสียที่จะปล่อยลงสู่ทะเลซึ่งจะทำลายระบบนิเวศโดยรวมของทะเลจังหวัดสงขลา อันเป็นแหล่งสัตว์น้ำทะเลที่สำคัญของประเทศ ครป. จึงมีความเห็นและข้อเสนอ ดังนี้

1. ครป.ขอให้ชะลอโครงการนิคมอุตสาหกรรมจะนะเอาไว้ก่อน เพื่อให้มีการจัดทำการประชาพิจารณ์ในระดับประเทศและระดมความเห็นอย่างกว้างขวางถึงแนวทางการพัฒนาในรูปแบบนิคมอุสาหกรรมแบบเก่าที่ส่งผลต่อทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอันประเมินค่าไม่ได้ และการพัฒนาโครงการขนาดใหญ่ของรัฐเพื่อเอื้ออำนวยประโยชน์ให้กับกลุ่มทุนต่างๆ ไม่ใช่คำตอบของสังคมสมัยใหม่อีกต่อไปที่ต้องการการพัฒนาที่ยั่งยืน มีส่วนร่วมของชุมชนและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และนโยบายที่ส่งเสริมแหล่งความมั่นคงทางอาหารของประเทศหลังวิกฤตเศรษฐกิจและโควิด-19 นอกจากนี้ โครงการดังกล่าวยังไม่มีการประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม(EIA) อย่างละเอียด ทั้งผลกระทบต่อสุขภาพ(EHIA) และการประเมินสิ่งแวดล้อมในระดับยุทธศาสตร์(SEA) อย่างรอบด้าน ซึ่งจะเกิดความขัดแย้งในชุมชนเหมือนที่เกิดขึ้นในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC)

2.เนื่องจากเป็นโครงการของรัฐบาลเก่า ครป.ขอให้รัฐบาลใหม่ปรับโครงการนิคมอุตสาหกรรมจะนะเป็นโครงการพัฒนาที่สามารถอนุรักษ์ทรัพยากรชายฝั่งทะเลและส่งเสริมการพัฒนาอาชีพตามวิถีชีวิตของชุมชนที่ต้องการ โดยการพัฒนาอุตสาหกรรมการประมงภาครัฐควบคู่ไปกับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม โดยเริ่มดำเนินการสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมอย่างแท้จริงจากประชาชนที่หลากหลายและชุมชนที่กว้างขวางเพื่อพัฒนาพื้นที่สงขลาและจังหวัดชายแดนใต้บนฐานศักยภาพที่มีอยู่ และควรมีการตั้งคณะกรรมการระดับชาติ โดยประกอบด้วยตัวแทนฝ่ายหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องและภาคเอกชน ในสัดส่วนที่ไม่มากเกินไป ร่วมกับตัวแทนภาคประชาชนในพื้นที่ องค์กรสิทธิมนุษยชน นักวิชาการด้านระบบนิเวศวิทยา ผู้ทรงคุณวุฒิด้านต่างๆ ทั้งด้านสิทธิชุมชน ด้านความรับผิดชอบของธุรกิจต่อสังคม(CSR) ด้านเศรษฐศาสตร์สังคม (Social Economic) ฯลฯ เป็นต้น

3. ครป. ขอให้รัฐบาลและศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ทำหน้าที่อำนวยความยุติธรรมและสันติสุขแก่ประชาชนในจังหวัดชายแดน ไม่ใช่มุ่งการพัฒนาอุตสาหกรรมที่เป็นประโยชน์เฉพาะกลุ่มทุนของตัวเอง เพื่อลดปัญหาความขัดแย้งในพื้นที่และยึดผลประโยชน์ของประชาชนเป็นหลัก ดังนั้นจะต้องไม่ทำหน้าที่อย่างบิดเบือนและสร้างความแตกแยก โดยต้องกำชับให้เจ้าหน้าที่และหน่วยงานฝ่ายความมั่นคงระมัดระวังการปฏิบัติหน้าที่ที่อาจก่อให้เกิดความขัดแย้งรุนแรง และส่งผลต่อการละเมิดเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของประชาชนหรือการละเมิดสิทธิมนุษยชนต่างๆ โดยขอให้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติซึ่งมีหน้าที่ตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชนของเจ้าหน้าที่รัฐตามกฎหมายได้ตรวจสอบเหตุการณ์และติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด ส่วนการปกป้องคุ้มครองสิทธิตามกฎหมายของประชาชนเป็นหน้าที่ของรัฐและเจ้าหน้าที่รัฐโดยตรง