กนอ.ไม่หวั่นพิษโควิด เร่งแผนเพิ่มนิคมฯใหม่“อีอีซี”

กนอ.ไม่หวั่นพิษโควิด  เร่งแผนเพิ่มนิคมฯใหม่“อีอีซี”

การลงทุนในนิคมอุตสาหกรรมชะลอตัวลง แต่การเตรียมพื้นที่รองรับการลงทุนยังเดินหน้าต่อ เพื่อรับการลงทุนเมื่อการระบาดของโรคโควิด-19 คลี่คลายลง โดยช่วงที่ผ่านมามีการขอจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมใหม่

นางสาวสมจิณณ์ พิลึก ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เปิดเผยว่า กนอ.ประเมินสถานการณ์การลงทุนหลังวิกฤติโควิด-19 คลี่คลายจะทำให้มูลค่าการลงทุนในนิคมอุตสาหกรรมจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติและมียอดขายที่เพิ่มขึ้น เนื่องจากได้รับอานิสงส์จากสงครามการค้าระหว่างประเทศมหาอำนาจสหรัฐและจีน ซึ่งทำให้นักลงทุนบางส่วนที่มีฐานในจีนและไต้หวันย้ายฐานการผลิตมาที่ประเทศไทย 

รวมทั้งเป็นผลให้นิคมอุตสาหกรรมได้รับความสนใจในการจัดตั้งโรงงานในประเทศไทย และส่วนใหญ่ทำสัญญาจองเช่าและมัดจำไว้ก่อนหน้านั้นแล้ว ดังนั้น ในช่วงต้นปีงบประมาณ 2563 จึงทยอยมายื่นการใช้ที่ดินรอไว้กับผู้พัฒนานิคมอุตสาหกรรมและผู้ประกอบการ จึงทำให้มีการจ้างงานเพิ่มขึ้น

นอกจากนี้แม้ว่าช่วงการระบาดของโรคโควิด-19 จะกระทบต่อเศรษฐกิจทั่วโลกรวมทั้งประเทศไทย แต่ยังนับว่าเป็นโอกาสดีที่มีการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้น 2 แห่ง คือ 

1.นิคมอุตสาหกรรมปิ่นทอง โครงการ 6 ตั้งอยู่ในพื้นที่อำเภอปลวกแดง อำเภอบ้านค่าย และอำเภอนิคมพัฒนา จังหวัดระยอง พื้นที่ 1,322.40 ไร่ มูลค่าการลงทุนโครงการ ประมาณ 2,625.78 ล้านบาท

2.นิคมอุตสาหกรรมเวิลด์ ฟู๊ด วัลเลย์ ไทยแลนด์ ตั้งอยู่ในพื้นที่อำเภอไชโย จังหวัดอ่างทอง พื้นที่ 1,398.04 ไร่ มูลค่าการลงทุน 4,237.17 ล้านบาท

ขณะเดียวกันมีนิคมอุตสาหกรรมที่ได้ลงนามสัญญากับ กนอ.แล้ว และอยู่ระหว่างการประกาศเขตอีก 2 แห่ง ประกอบด้วย 

1.นิคมอุตสาหกรรมโรจนะชลบุรี 2 (เขาคันทรง) พื้นที่ 902.59 ไร่ มูลค่าการลงทุน 2,100 ล้านบาท

2.นิคมอุตสาหกรรมเอเชีย คลีน อินดัสเตรียล ปาร์ค จ.ชลบุรี พื้นที่ 1,319.89 ไร่ มูลค่าการลงทุน 2,447.75 ล้านบาท

159447331773  

การลงนามดังกล่าวเป็นผลให้มีพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมสะสม 177,261 ไร่ แบ่งเป็นพื้นที่ที่นิคมอุตสาหกรรมดำเนินการเอง 39,332 ไร่ และเป็นนิคมอุตสาหกรรมร่วมดำเนินงาน ประมาณ 137,929 ไร่ เป็นพื้นที่ขายและให้เช่า 114,852 ไร่ รวมทั้งเป็นพื้นที่ขายหรือให้เช่าไปแล้ว 92,019 ไร่ จึงยังคงมีพื้นที่คงเหลือสำหรับขายหรือให้เช่าอีก 22,833 ไร่ มีมูลค่าการลงทุนภาพรวมสะสม 4.02 ล้านล้านบาท มีโรงงานในนิคมอุตสาหกรรมประมาณ 6,112 โรง และมีการจ้างงานรวม 515,962 คน

สำหรับภาพรวมการลงทุนในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมภายใต้การกำกับดูแลของ กนอ.ทั้งนิคมอุตสาหกรรมที่ กนอ.ดำเนินการเอง และนิคมอุตสาหกรรมร่วมดำเนินงาน รวม 61 แห่ง และท่าเรืออุตสาหกรรม 1 แห่งใน 17 จังหวัด เป็นนิคมอุตสาหกรรมที่ กนอ.ดำเนินการเอง 14 แห่ง และนิคมอุตสาหกรรมร่วมดำเนินงาน 47 แห่ง

“จากการที่รัฐบาลเริ่มผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์นับเป็นการส่งสัญญานที่ดีที่จะทำให้เกิดการลงทุนใหม่ หลังจากที่นักลงทุนชะลอการตัดสินใจที่จะลงทุนมาระยะหนึ่ง" 

ทั้งนี้ กนอ.เห็นถึงโอกาสนี้เพื่อพลิกฟื้นวิกฤติด้วยการจัดโปรโมชั่นส่งเสริมการขายหรือเช่าที่ดินในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมของ กนอ.เพื่อจูงใจนักลงทุนให้หันมาลงทุนในนิคมอุตสาหกรรมเพิ่มมากขึ้น โดยแต่ละโปรโมชั่นขึ้นอยู่กับพื้นที่ของนิคมอุตสาหกรรม ซึ่งนอกจากจะจูงใจให้เกิดการลงทุนเพิ่มขึ้นแล้วยังเป็นการบรรเทาความเดือดร้อนให้กับผู้ประกอบการในนิคมอุตสาหกรรมเดิมซึ่งถือเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศให้มีความแข็งแกร่งมากยิ่งขึ้น

ในช่วง 8 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2563 (ต.ค.2562-พ.ค.2563) กนอ.มียอดขายหรือเช่าพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม 1,696.92 ไร่ ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 3.86% มีการแจ้งเริ่มกิจการใหม่ 114 โรงงาน เกิดการจ้างงานเพิ่ม 12,019 คน โดยยอดการขายหรือเช่าพื้นที่ที่ลดลงเพราะการระบาดของโควิด-19 ทำให้นักลงทุนที่ยังไม่จองที่ดินและมัดจำกับผู้พัฒนาที่ดินหรือจองเช่ากับ กนอ.ต้องยืดเวลาไปเพราะเดินทางมาไม่ได้

“เมื่อพิจารณาตัวเลขยอดขายหรือเช่าพื้นที่ในช่วง 9 เดือน ที่สูงเกือบ 1.7 พันไร่ ใกล้เคียงยอดขายหรือเช่าพื้นที่ในช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ได้ 1,765 พันไร่ แบ่งเป็นในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) 1,640 ไร่ นอกอีอีซี 124 ไร่" 

ทั้งนี้ช่วง 2 ไตรมาสแรกของปีนี้ยอดขายสูงมากจากการย้ายฐานลงทุนจากสงครามการค้า ชี้ให้เห็นว่าไทยเป็นประเทศน่าลงทุนทำให้ กนอ.คาดว่ายอดปีนี้จะไม่ถึง 2,500 ไร่ แต่หลังจากการระบาดตั้งแต่เดือน ก.พ.ก็เริ่มหยุดชะงัก เพราะนักลงทุนเดินทางมาไทยไม่ได้ ทำให้คาดว่าจะต่ำกว่าเป้าที่วางไว้ แต่ก็มั่นใจว่าจะใกล้เคียงปี 2562

รวมทั้งในอีอีซีรอบ 8 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2563 มียอดการขายหรือเช่า 1,598.95 ไร่ ทำให้มีพื้นที่ขายหรือเช่าไปแล้วรวมทั้งหมด 72,353 ไร่ เหลือพื้นที่ 15,315 ไร่ มีนิคมอุตสาหกรรม 33 แห่ง มีโรงงานรวม 3,354 โรง เงินลงทุน 2.04 ล้านล้านบาท

ส่วนนอกอีอีซี 97.97 ไร่ ทำให้มีพื้นที่ขายหรือเช่าไปแล้วรวมทั้งหมด 19,666 ไร่ คงเหลือพื้นที่ 7,518 ไร่ มีจำนวนนิคมอุตสาหกรรม 27 แห่ง จำนวนโรงงาน 2,754 โรง เงินลงทุน 1.98 ล้านล้านบาท