‘สังคมสูงวัย’ โจทย์วิจัยท้าทายประเทศ

 ‘สังคมสูงวัย’ โจทย์วิจัยท้าทายประเทศ

ปัจจุบันประเทศไทยก้าวเข้าสู่การเป็น "สังคมสูงวัย" ซึ่งจะมีผลกระทบต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และคุณภาพชีวิต จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องวางแผนและกำหนดทิศทางงานวิจัยอย่างเหมาะสม

หากมองอย่างผิวเผินดูเหมือนคนไทยจำนวนมากยังไม่ให้ความสำคัญกับการเข้าสู่ ‘สังคมสูงวัย’ เท่าที่ควร อาจเพราะการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรสู่สังคมสูงวัยไม่เห็นผลชัดเจนสัมผัสได้เท่ากับการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิโลก จึงทำให้หลายคนรู้สึกว่าสังคมสูงวัยยังเป็นเรื่องห่างไกล จนไม่เกิดการเตรียมพร้อมและตระหนักถึง ขณะที่ผลกระทบซึ่งจะตามมานั้นถือเป็นเรื่องใหญ่และไม่ได้จำเพาะแค่ผู้สูงวัย แต่เกี่ยวข้องกับทุกเพศทุกวัยและทุกมิติในสังคม

ศาสตราจารย์ ดร.วรเวศม์ สุวรรณระดา อดีตคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ และอดีตคณบดีวิทยาลัยประชากรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้เชี่ยวชาญในการวิจัยเจาะลึกเรื่องสังคมสูงวัยมาอย่างต่อเนื่อง กล่าวว่า เวลาพูดถึง 'สังคมสูงวัย' หลายคนมักใช้คำว่า 'สังคมผู้สูงอายุ' ซึ่งมีความหมายที่แคบ และชวนให้เข้าใจผิดคิดถึงแต่สังคมที่มีผู้สูงอายุจำนวนมากเท่านั้น และนั่นเป็นการมองเพียงมิติเดียว เพราะในแง่ของประชากรศาสตร์ การเปลี่ยนแปลงสู่สังคมสูงวัยเป็นการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของประชากรทั้ง 3 กลุ่มพร้อมๆ กัน นั่นคือ ผู้สูงอายุเพิ่มขึ้น ประชากรวัยทำงานมีแนวโน้มลดลง และเด็กเกิดใหม่ที่น้อยลงด้วย ดังนั้นคำว่า 'สังคมสูงวัย' จึงสะท้อนปัญหาในภาพรวม และสื่อสารให้คนเข้าใจสถานการณ์ที่แท้จริงได้มากกว่า

  • เมื่อ ‘ผู้สูงวัย’ มีเพิ่มขึ้น

ประเทศไทยเริ่มเข้าสู่สังคมสูงวัย ตั้งแต่ปี 2547 ตามนิยามขององค์การสหประชาชาติ คือมีผู้สูงอายุหรือประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไป คิดเป็นสัดส่วน 10 เปอร์เซ็นต์ ของประชากรทั้งหมด ขณะที่ปัจจุบัน (ปี 2563) มีประชากรผู้สูงอายุประมาณ 18 เปอร์เซ็นต์ และคาดการณ์ว่าภายในปี 2583 จะมีประชากรผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นเป็น 30 เปอร์เซ็นต์ หรือ เกือบ 1 ใน 3 ของประชากรทั้งประเทศ คำถามคือการเปลี่ยนแปลงประชากรในลักษณะนี้จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคมของประเทศอย่างไรบ้าง

ศาสตราจารย์ ดร.วรเวศม์ กล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรสู่สังคมสูงวัยจะส่งผลในแง่มุมต่างๆ อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ผลกระทบอันดับแรกเลย คือ ‘หลักประกันทางการเงิน’ เมื่ออายุมากขึ้น ความต้องการในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับคุณภาพชีวิตในยามชราจะมีมากขึ้น ยิ่งหากไม่มีลูกหลาน เมื่อเกิดโรคภัยไข้เจ็บ หลักประกันทางการเงินที่เตรียมไว้จะมีเพียงพอหรือไม่

“แน่นอนเมื่อผู้สูงวัยจำนวนมากเลิกทำงาน โดยที่ประชากรวัยทำงานมีแนวโน้มลดน้อยลงเรื่อยๆ ผลกระทบที่ตามมา คือ ความตึงตัวของตลาดแรงงาน ซึ่งจะส่งผลต่อทั้งภาคการเกษตร ภาคอุตสาหกรรมและภาคบริการ รวมถึงการขยายตัวทางเศรษฐกิจ แม้วันนี้จะมีแรงงานต่างชาติจำนวนมาก แต่ในไม่ช้าประเทศเพื่อนบ้านก็เข้าสู่สังคมสูงวัยเช่นเดียวกัน อีกทั้งอนาคตแรงงานจำนวนหนึ่งอาจจะหายไปเพราะต้องดูแลผู้สูงอายุและเลี้ยงดูลูก การหวังพึ่งพิงแรงงานเป็นหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจคงทำไม่ได้อีกต่อไป คุณภาพของคนจะทวีความสำคัญมากขึ้น ดังนั้นภาคอุตสาหกรรมต้องเริ่มปรับตัวนำเครื่องจักร เทคโนโลยีและนวัตกรรมมาทดแทน ภาคเกษตรก็อาจจะต้องหันมาทำ Smart Farming”

ไม่เพียงการขาดแคลนวัยแรงงาน แต่อัตราการเกิดของเด็กยังลดลงด้วย อีกภาคส่วนที่จะได้รับผลกระทบอย่างเห็นได้ชัดคือ ‘ระบบการศึกษา’ ปัจจุบันเริ่มปรากฏข่าวจำนวนนักเรียนและนักศึกษาเริ่มมีน้อยลง นอกจากนี้ยังมีผลกระทบเรื่อง ‘ความเหลื่อมล้ำเชิงพื้นที่’ ที่จะมีความรุนแรงแตกต่างกันไปตามสัดส่วนของผู้สูงวัยในแต่ละพื้นที่ ศักยภาพเชิงเศรษฐกิจที่มีความแตกต่างกันเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ความเหลื่อมล้ำนั้นมีโอกาสถูกถ่างออกโดยความแตกต่างของโครงสร้างอายุของประชากรของแต่ละพื้นที่

 “ถ้าลองพิจารณาผู้สูงอายุรายจังหวัด จะพบว่าแต่ละจังหวัดมีระดับสังคมสูงวัยไม่เท่ากัน ภาคอีสาน ภาคเหนือ ภาคกลางตอนล่างมีผู้สูงอายุค่อนข้างมาก ภาระในการช่วยเหลือดูแลจะมีมากกว่าพื้นที่อื่น ฉะนั้นต่อไปปัญหาความเหลื่อมล้ำไม่ใช่แค่รวย-จน แต่ยังมีเรื่องความเหลื่อมล้ำเชิงพื้นที่อันเป็นผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสู่สังคมสูงวัยที่ต้องเร่งศึกษาวิจัยอย่างจริงจัง”

ในวิกฤตย่อมมีโอกาส ศาสตราจารย์ ดร.วรเวศม์ บอกว่า ผลกระทบจากสังคมสูงวัย ใช่จะมีแต่เรื่องที่เลวร้าย เพราะผู้สูงอายุที่เพิ่มมากขึ้น คือ ‘กลุ่มลูกค้าใหม่’ ที่จะนำไปสู่การสร้าง ‘ธุรกิจใหม่’ เช่น ผลิตภัณฑ์นวัตกรรมเพื่อผู้สูงอายุ ที่อยู่อาศัยสำหรับผู้สูงอายุและคนสามวัย สถานบริบาลผู้สูงอายุ การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ถือว่าเป็นธุรกิจที่มีอนาคตและมีศักยภาพเป็นศูนย์กลางการค้าในระดับอาเซียนได้

159444892366

  • 4 โจทย์วิจัย ท้าทายประเทศ

เมื่อสังคมสูงวัยจะมีผลกระทบต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และคุณภาพชีวิตของคนในประเทศอย่างมาก ทิศทางงานวิจัยที่ควรพุ่งเป้าให้ความสำคัญ ศาสตราจารย์ ดร.วรเวศม์ มองว่า มี 4 เรื่องด้วยกัน

“เรื่องแรกคือ การสร้างเสริมคุณภาพชีวิตที่ดีของผู้สูงอายุ ทั้งความมั่นคงทางการเงิน การดำรงชีวิตประจำวัน สุขภาพ และสภาพแวดล้อมในการดำรงชีวิต รวมถึงการเปลี่ยนมุมมองของผู้สูงอายุที่ว่าเป็นภาระให้เป็นพลังพึ่งพิงตนเองได้ และเป็นพลังให้กับลูกหลาน ชุมชนและสังคม 2.การเตรียมพร้อมของคนวัยทำงาน การส่งเสริมการเตรียมตัวเข้าสู่วัยสูงอายุล่วงหน้า ทั้งในด้านสุขภาพและเงินออม รวมถึงทักษะเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลง

3.การสร้างทุนมนุษย์ที่เข้มแข็ง เมื่อคนวัยทำงานจะลดลง ทำอย่างไรให้ประเทศไทยยังมีทุนมนุษย์ที่มีศักยภาพสูงได้ ต้องสร้างคนทำงานที่มีความรู้และทักษะขั้นสูง และสร้างความกระปรี้กระเปร่าให้กับสังคมภายใต้บริบทสังคมสูงวัย เพราะเป็นกลไกสำคัญของการขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจ และ 4.การเตรียมระบบการเงินการคลังรองรับผู้สูงวัย หัวข้อนี้คือทิศทางใหญ่เลย เพราะรัฐบาลคงจะต้องมีค่าใช้จ่ายทั้งในด้านการดูแลคุณภาพชีวิต บริการสาธารณะ และสวัสดิการของประชาชน ซึ่งรัฐบาลจะมีเงินเพียงพอหรือไม่ และจะหาเงินจากที่ไหน เป็นสิ่งที่ต้องเตรียมการ”

นอกจากนี้ยังมีโจทย์วิจัยเรื่องสังคมสูงวัยที่ไม่เกี่ยวข้องกับผู้สูงอายุที่ยังมีคนทำน้อย ศาสตรจารย์ ดร.วรเวศม์ ยกตัวอย่างให้เห็นภาพ เช่น การปรับตัวของผู้ประกอบการ ซึ่งปัจจุบันมีข้อมูลน้อยมาก หรือเรื่องของบทบาทองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นกับสังคมสูงวัย เช่น การกระจายอำนาจให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีบทบาทหน้าที่ดูแลผู้สูงอายุได้มากขึ้น นอกจากนี้ยังมีเรื่องการปรับตัวของตลาดแรงงาน เช่น การส่งเสริมให้คนทำงานต่อเนื่องยาวนานขึ้น โดยเฉพาะในภาคการจ้างงาน

  • วิจัยสูงวัย มิติการใช้ประโยชน์

งานวิจัยสังคมสูงวัย ไม่เพียงต้องศึกษาวิเคราะห์บริบทให้รอบด้านแล้ว แนวทางการขับเคลื่อนงานวิจัยไปสู่การใช้ประโยชน์ยังมีหลายมิติ ศาสตราจารย์ ดร.วรเวศม์ กล่าวว่า งานวิจัยในสายสังคมไม่เหมือนสายวิทยาศาสตร์ เช่น การผลิตยา การพัฒนาวัคซีน ที่เมื่อทำเสร็จแล้วนำไปใช้งานได้ทันที แต่งานวิจัยสังคมสูงวัย แม้จะไม่เห็นผลทันตาแต่เป็นงานที่สำคัญและจำเป็น เพราะเป็นงานที่สร้างสังคมให้เกิดปัญญา ชี้ให้เห็นปัญหา เสนอแนะทางเลือกให้สังคม เป็นแสงสว่างปลายอุโมงค์ที่แม้บางครั้งอาจจะอยู่ไกลหน่อย แต่ถ้าไม่เริ่มต้นทำ เมื่อถึงเวลาอาจสายเกินไป

“จากประสบการณ์การทำวิจัยเรื่องสังคมสูงวัยที่ผ่านมามีรูปแบบการนำไปใช้งานที่ต่างกัน ส่วนแรกคืองานวิจัยที่นำไปใช้จริงได้ทันที ยกตัวอย่างเช่น  สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติให้ทุนวิจัยเรื่องการดูแลผู้สูงอายุ หรือสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุขให้ทุนวิจัยในการประมาณการต้นทุนในการดูแลผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพาในสถาบัน ผลวิจัยจะถูกนำไปใช้ประโยชน์ตามบทบาทของหน่วยงานโดยตรง ส่วนงานวิจัยอีกกลุ่มอาจนำไปใช้ไม่ได้ทันที แต่เป็นงานวิจัยเพื่อชี้ให้เห็นสถานการณ์หรือนำเสนอทางเลือกให้สังคม เช่น โครงการวิจัยมิติทางเศรษฐกิจของการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากร ภายใต้ทุน สกว. (ปัจจุบันคือ สกสว.) ซึ่งถือเป็นครั้งแรกของงานวิจัยไทยในการนำเครื่องมือทางเศรษฐศาสตร์มาจับกับสังคมสูงวัยที่ไม่ใช่แต่เรื่องผู้สูงอายุ ทำให้ผลวิจัยถูกนำไปใช้อ้างอิงและต่อยอดในเชิงวิชาการและเชิงนโยบาย  

ขณะเดียวกันแนวทางการขับเคลื่อนก็มีส่วนสำคัญ เช่น การจัดเวทีสาธารณะ เวทีที่จะช่วยเป็นกระบอกเสียงผลักดันงานวิจัยไปสู่กระบวนการจัดทำนโยบายได้ ยกตัวอย่าง งานวิจัยของมูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย (มส.ผส.) เมื่อได้ผลวิจัยแล้วจะจัดเวทีสาธารณะเพื่อดึงผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งหน่วยงานราชการ ผู้ที่ได้รับผลกระทบโดยตรง และนักวิชาการมาดีเบตร่วมกัน ซึ่งงานวิจัยที่มีนัยยะสำคัญมากๆ จะถูกนำเสนอคณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติเพื่อพิจารณาว่ามีข้อดี ข้อเสียอย่างไร หรือบางงานวิจัยถูกนำไปใช้โดยภาคประชาชน หรือแม้แต่นักการเมืองหากเห็นว่าเป็นประโยชน์ก็จะนำไปใช้ อาทิ งานระบบบำนาญแห่งชาติและเบี้ยยังชีพสำหรับผู้สูงอายุที่ได้ทุน สกว. และต่อยอดการวิจัยมาเรื่อยๆ จนในที่สุดได้ถูกนำไปใช้ตกผลึกเป็นร่างข้อเสนอเข้าไปพิจารณาร่วมกับร่าง พ.ร.บ.กองทุนการออมแห่งชาติ เมื่อครั้งนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกรัฐมนตรี”

อย่างไรก็ดี ขณะนี้ภาครัฐได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของงานวิจัย และมีการเร่งขับเคลื่อนปฏิรูปทิศทางระบบวิจัยให้เห็นผลเป็นรูปธรรมมากขึ้น เช่น การจัดสรรงบวิจัยจะผ่านกองทุน ววน. ภายใต้การดำเนินงานของ สกสว. ที่ออกแบบการให้ทุนแบบใหม่เพื่อแก้ปัญหางบวิจัยแบบ ‘เบี้ยหัวแตก’ รวมถึงการให้ทุนแบบเป็นก้อนระยะยาวที่เรียกว่า ‘Block Grant‘ และ ‘Multi Years‘

159444894214

ศาสตราจารย์ ดร.วรเวศม์ แสดงทัศนะต่อเรื่องดังกล่าวว่า การบริหารจัดการทุนเพื่อไม่ให้เกิดงานวิจัยซับซ้อน ข้อดีคือทำให้เกิดการเกาะติด ทำงานวิจัยได้ต่อเนื่อง แต่กระบวนการตรงนี้ต้องมีการพิจารณาอย่างโปร่งใส ตรวจสอบได้ มีคณะกรรมการกลั่นกรองว่าผู้ที่ได้รับทุนมีความเชี่ยวชาญและเกาะติดเรื่องนั้นจริงๆ หากแต่ว่าบางงานวิจัยยังต้องการความหลากหลาย โดยเฉพาะเรื่องของผู้สูงอายุที่มีความเชื่อมโยงกับทางเลือกเชิงนโยบาย ควรมีนักวิจัยหลายกลุ่มการศึกษาเพื่อเป็นทางเลือกที่หลากหลายให้กับสังคม อาจไม่เหมาะหากเป็นงานวิจัยที่ผูกขาดมาจากคนกลุ่มเดียว

“ส่วนการให้ทุนแบบเป็นก้อนระยะยาว สำหรับงานวิจัยสังคมสูงวัยถือว่าเป็นเรื่องดี เพราะหากต้องการผลวิจัยที่นำไปใช้ประโยชน์ได้ หรือต้องมีการขับเคลื่อนผ่านเวทีสาธารณะก็ต้องอาศัยเวลา อีกทั้งงานที่จะขับเคลื่อนให้มีผลเชิงประจักษ์ต้องมีการผลิตสื่อที่อ่านง่ายสำหรับประชาชน การให้ทุนระยะยาวจะทำให้เกิดการทำงานที่ต่อเนื่อง และขยายผลไปสู่สาธารณะได้มากขึ้น”

แน่นอนว่าการมีชีวิตที่ยืนยาวล้วนเป็นสิ่งที่ใครก็ปรารถนา ทว่าจะแก่ชราอย่างมีคุณภาพหรือยากลำบากคงไม่ใช่หน้าที่ของใครคนใดคนหนึ่ง แต่เป็นการร่วมกันของทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ นักวิชาการ เอกชน ภาคประชาสังคม หรือแม้แต่ประชาชนที่ต้องตื่นรู้และเตรียมพร้อมเพื่อนำพาตนเองและประเทศชาติก้าวสู่สังคมสูงวัยได้อย่างเข้มแข็ง