'พาณิชย์'เล็งคุมราคาเนื้อหมู

'พาณิชย์'เล็งคุมราคาเนื้อหมู

กรมการค้าภายในเล็งงัดมาตรการคุมส่งออก-ธงฟ้า คุมราคาหมูหลังหน้าฟาร์มพุ่ง75-80 บาท หลังโควิด-19 คลี่คลายปลดล็อคธุรกิจท่องเที่ยว ร้านอาหาร ส่งให้ความต้องการหมูสูง

นายวัฒนศักย์ เสือเอี่ยมรองอธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยว่า นายวิชัย โภชนกิจอธิบดีกรมการค้าภายในได้หารือกับสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติในการดูแลสถานการณ์ราคาหมูโดยเฉพาะหมูหน้าฟาร์มไม่ให้เกิน 80 บาทต่อกก. จากปัจจุบันอยู่ระดับ75-80 บาทต่อกก. เพื่อไม่ให้ราคาหมูเนื้อแดงราคาเกิน 150-160 บาทต่อกก. ซึ่งหากราคาเฉลี่ยหมูหน้าฟาร์มทั่วประเทศเกิน 80 บาทต่อกก.ทางกรมการค้าภายในก็จะมีมาตรการเข้ามาควบคุม เช่น จำกัดปริมาณส่งออกหมูไปยังประเทศเพื่อนบ้าน และการนำเนื้อหมูธงฟ้ามาจำหน่ายในกับประชาชนเป็นต้น เพื่อป้องกันไม่ให้ผู้บริโภคได้รับความเดือดร้อนมากนัก

ทั้งนี้สาเหตุที่ทำให้ราคาหมูหน้าฟาร์มปรับตัวสูงขึ้นส่วนหนึ่งมาจากนโยบายการผ่อนคลายให้ธุรกิจต่างๆสามารถเปิดดำเนินการได้มากขึ้นหลังจากสถานการณ์การระบาดโควิด-19 ในประเทศคลี่คลายในทิศทางที่ดีส่งผลให้ธุรกิจร้านอาหาร ภัตตาคาร ห้างค้าปลีก และโรงแรมต่างสั่งซื้อเนื้อหมูมาสำรองสต็อกเพื่อรองรับนักท่องเที่ยวและผู้บริโภค ประกอบกับเป็นช่วงที่โรงเรียนเพิ่งเปิดเทอมทำให้ความต้องการเนื้อหมูมากจากก่อนหน้านี้ อย่างไรก็ตามสถานการณ์ดังกล่าวน่าจะเกิดขึ้นระยะสั้นๆและไม่นานราคาหมูก็จะกลับมาอยู่ในระดับปกติ

    

 “หากราคาปรับขึ้นในระยะสั้นๆจากความต้องการที่สูงก็ต้องปล่อยให้เป็นไปตามกลไกตลาดเพราะตรงนี้ก็จะช่วยให้เกษตรกรผู้เลี้ยงหมูมีรายได้เพิ่มขึ้นจากในอนาคตเกษตรกรได้รับความเดือดร้อนจากราคาที่ตกต่ำ แต่หากค่าเฉลี่ยราคาหน้าฟาร์มยืนอยู่เกินระดับ 80บาทต่อกก.ก็คงต้องมีมาตรการที่ทางกรมการค้าภายในได้เตรียมไว้หมดแล้วมารักษาความสมดุลทั้งในส่วนของผู้บริโภคและเกษตรกรผู้เลี้ยงหมูไม่เดือดร้อน อย่างไรก็ตามในการดูแลราคาเรื่องของหมูนั้นก็เน้นความสำคัญให้มีปริมาณเพียงพอต่อความต้องการของคนในประเทศก่อน“

นายวัฒนศักย์ กล่าวว่า นอกจากนี้ปัจจัยที่ทำให้ราคาหมูในไทยและทั่วโลกยังคงอยู่ในระดับสูงมาจากประเทศเพื่อนบ้าน และจีน ประสบปัญหาโรคอหิวาต์แอฟริกันในสุกรระบาด ขณะที่ในประเทศไทยผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐเอกชน และเกษตรกร ได้ร่วมมือกันจนสามารถป้องกันโรคอหิวาต์แอฟริกันในสุกรระบาดได้ อย่างไรก็ตามสถานการณ์ของการปรับราคาของหมูก็จะคล้ายกับกรณีของไข่ไก่ที่บางช่วงราคาปรับเพิ่มมากอย่างมากจนภาครัฐต้องออกมาตรการการห้ามส่งออกชั่วคราวและกำหนดราคาหน้าฟาร์มและป้องกันพ่อค้าแม่ค้าเก็งกำไร จนสถานการณ์ราคาไข่ไก่เข้าสู่ภาวะปกติแล้ว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าการส่งออกหมูเป็น ก่อนหน้านี้ไทยเคยส่งออกสูงถึงปีละ3ล้านตัว และปีที่แล้วส่งออก4-5แสนตัว แต่มาปีนี้หากส่งออกเฉลี่ยวันละ 6,000-8,000ตัว เดือนหนึ่งจะส่งออก1.8-2.4แสนตัว ทั้งปี2.16-2.88ล้านตัว ซึ่งสามารถทำได้ และไม่กระทบต่อการบริโภคในประเทศ โดยแต่ละปีไทยสามารถผลิตหมูเป็นได้ประมาณ22ล้านตัว ขณะที่ประเทศเพื่อนบ้านมีความต้องการบริโภคเนื้อหมูอย่างมาก ทำให้ช่วงที่ผ่านมาราคาหมูหน้าฟาร์มในไทยปรับไปอยู่ในระดับ150 บาทต่อกก., เวียดนาม110บาท กัมพูชา88-90บาทต่อไป ซึ่งเอื้อต่อการส่งออกไปขาย

ก่อนหน้านี้สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ(สคต.) ณ ฮ่องกง รายงานว่า จากที่ฮ่องกงประสบปัญหาการขาดแคลนเนื้อหมู เนื่องจากการตรวจพบโรคอหิวาต์แอฟริกันในสุกรในจีน และจีนระงับการขนส่งสุกรมีชีวิตนับตั้งแต่เดือนพ.ค. 62 ทำให้งฮ่องกงแก้ปัญหา โดยหาแหล่งนำเข้าสินค้าจากประเทศในอาเซียนมาทดแทน โดยเฉพาะประเทศไทยที่พบว่าในปี 62 มีการนำเข้าเนื้อหมูจากไทยเพิ่มขึ้นในระดับ 2,000%เมื่อเทียบกับปี 61 เพราะไทยสามารถป้องกันโรคระบาดได้ดีกว่าประเทศอื่นๆ