ทย.ชงของบปี 64 กว่า 5.8 พันล้าน อัพเกรดสนามบินภูมิภาค

ทย.ชงของบปี 64 กว่า 5.8 พันล้าน อัพเกรดสนามบินภูมิภาค

ทย.ชงของบปี 64 กว่า 5.8 พันล้าน ลงทุนอัพเกรดสนามบินภูมิภาคต่อเนื่อง ผุดโครงการใหม่กว่า 2 พันล้าน เพิ่มความยาวรันเวย์ “ตรัง-บุรีรัมย์” พร้อมขยายเทอร์มินอล “ร้อยเอ็ด” สร้างศูนย์ขนส่งผู้โดยสาร “อุบล-สุราษฎร์ฯ”

นายทวี เกศิสำอาง อธิบดีกรมท่าอากาศยาน (ทย.) เปิดเผยว่า ทย. ได้เสนอขอรับจัดสรรงบประมาณปี 2564 จำนวน 5,800 ล้านบาท ซึ่งใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมา โดยขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของกรรมาธิการ (กมธ.) งบประมาณ ของสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งงบประมาณในจำนวนนี้เป็นงบประมาณที่ใช้ในการลงทุนพัฒนาท่าอากาศยานต่างๆ ประมาณ 5,247 ล้านบาท คิดเป็น 90.48% ของงบประมาณปี 2564

 ประกอบด้วย 1.งบผูกพันเดิม 3,234 ล้านบาท คิดเป็น 61.63% ของงบลงทุน ซึ่งเป็นโครงการพัฒนาท่าอากาศยานต่อเนื่องของท่าอากาศยานกระบี่, ขอนแก่น, นครศรีธรรมราช, ตรัง, สุราษฎร์ธานี และบุรีรัมย์

และ 2. งบลงทุนใหม่ 2,013 ล้านบาท คิดเป็น 38.37% ของงบลงทุน ประกอบด้วย งบปีเดียว 1,082 ล้านบาท คิดเป็น20.61% ของงบลงทุนใหม่ แบ่งเป็น ค่าครุภัณฑ์ 289 ล้านบาท และสิ่งก่อสร้าง 793 ล้านบาท อาทิ งานปรับปรุงภายในอาคาร ท่าอากาศยานอุดรธานี งานก่อสร้างรั้วปิดเขตการบิน งานบำรุงเสริมผิวตามวาระที่ท่าอากาศยานชุมพร และอุดรธานี งานปรับปรุงต่อเติมอาคารที่พักผู้โดยสาร ท่าอากาศยานร้อยเอ็ด และงานก่อสร้างจุดตรวจค้นบุคคลและยานพาหนะ

นอกจากนี้ ภายใต้งบลงทุนใหม่ ยังมีงบผูกพันใหม่ 931 ล้านบาท คิดเป็น 17.75% ของงบลงทุนใหม่ โดยมีโครงการสำคัญ อาทิ งานก่อสร้างขยายความยาวทางวิ่ง (รันเวย์) ที่ท่าอากาศยานตรัง และบุรีรัมย์ จาก 2,100 เมตร เป็น 2,990 เมตร เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการรองรับอากาศยานขนาดใหญ่ เช่น โบอิ้ง B787 หรือแอร์บัส A330 รองรับการบินพิสัยไกล ในการบินตรงจากจีนตอนใต้ ตะวันออกกลาง และประเทศในแถบยุโรป โดยจะใช้เวลาก่อสร้างประมาณ 3 ปี

นายทวี ยังกล่าวอีกว่า สาเหตุที่ต้องขยายรันเวย์ เนื่องจากทั้ง 2 สนามบิน มีปริมาณผู้โดยสาร และเที่ยวบินเพิ่มขึ้นแบบก้าวกระโดด ในส่วนของท่าอากาศยานตรัง มีศักยภาพด้านการท่องเที่ยวอยู่แล้ว อีกทั้งช่วงก่อนโควิด-19 มีสายการบินจากจีนสนใจจะเปิดเที่ยวบินมายังท่าอากาศยานตรัง แต่เครื่องบินไม่สามารถลงจอดได้ เพราะความยาวรันเวย์ไม่พอสำหรับเครื่องบินขนาดใหญ่

ขณะที่ท่าอากาศยานบุรีรัมย์ มีการส่งเสริมเรื่องกีฬาภายในจังหวัด รวมถึงตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี มีการวางตำแหน่งยุทธศาสตร์ ให้ท่าอากาศยานแห่งนี้ เป็นศูนย์กลางทางการบินของอีสานใต้ เชื่อมการขนส่งทางอากาศกับกลุ่มประเทศ CLMV ได้แก่ กัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม รวมถึงกลุ่มอนุลุ่มแม่น้ำโขง

นอกจากนี้ยังมีงานก่อสร้างศูนย์ขนส่งผู้โดยสาร และปรับปรุงลานจอดรถยนต์ที่ท่าอากาศยานอุบลราชธานี และท่าอากาศยานสุราษฎร์ธานี ซึ่งจะตั้งอยู่ใกล้กับอาคารที่พักผู้โดยสาร เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ผู้โดยสารที่ต้องการเดินทางเชื่อมต่อโดยระบบขนส่งสาธารณะ ทั้งในส่วนของรถโดยสารประจำทาง รถแท็กซี่ เบื้องต้นคาดว่าจะใช้เวลาก่อสร้างประมาณ 2 ปี แล้วเสร็จในปี 2566