'จุรินทร์'เคาะงบประกันรายได้มันฯ-ข้าวโพดหมื่นล้าน

'จุรินทร์'เคาะงบประกันรายได้มันฯ-ข้าวโพดหมื่นล้าน

"จุรินทร์"ดันครม.เห็นชอบ โครงการประกันรายได้2 สินค้า แตะ 1 หมื่นล้าน มันสำปะหลังที่กก.ละ 2.50 บาท ไม่เกิน 100 ตันต่อครัวเรือน ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์กก.ละ 8.50 บาท ไม่เกิน30 ไร่ต่อครัวเรือน เงื่อนไขขึ้นทะเบียนกับกรมส่งเสริมการเกษตร

นายทวี มาสขาว รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร เปิดเผยว่า ได้หารือในประชุมคณะกรรมการนโยบายบริหารจัดการมันสำปะหลัง คณะกรรมการจัดการข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ที่มีนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธาน ได้เห็นชอบ โครงการประกันรายได้สินค้าทั้ง 2 ชนิด

โดยมันสำปะหลัง จะประกันรายได้ที่หัวมันสำปะหลังสด เชื้อแป้ง 25% ในพื้นที่เพาะปลูกทั่วประเทศ กำหนดราคาและปริมาณประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลัง ปี 2562/63 ที่กิโลกรัมละ 2.50 บาท ไม่เกิน ครัวเรือนละ 100 ตัน

ทั้งนี้เกษตรกรที่มีสิทธิ์ได้รับเงินส่วนต่าง ดังกล่าวต้องขึ้นทะเบียนผู้ปลูกมันสำปะหลังกับกรมส่งเสริมการเกษตร หลังจากปลูกมันสำปะหลังไปแล้ว 15 วันเริ่มตั้งแต่ เดือน เม.ย. 2563- มี.ค. 2564 ซึ่งจะจ่ายเงินครั้งแรกในวันที่ 1 ธ.ค. 2563 และจ่ายต่อไปทุกวันที่ 1 ของเดือน โดยได้ให้คณะอนุกรรมการกำกับดุแลและกำหนดเกณฑ์อ้างอิงโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลัง เป็นผู้พิจารณากำหนดรายละเอียด วิธีการกำหนดเกณฑ์กลางอ้างอิง

โครงการดังกล่าวคาดว่าจะใช้งบดำเนินการทั้งสิ้น 9.7 พันล้านบาท แยกเป็นใช้แหล่งเงินทุนจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) 9.5 ล้านบาท เพื่อชดเชยส่วนต่างระหว่างเป้าหมายราคาอ้างอิง และค่าใช้จ่ายในการดำเนินการของ ธ.ก.ส. วงเงิน 219 ล้านบาทเพื่อชดเชยต้นทุนในอัตราเงินฝากประจำ 12 เดือน ของ ธ.ก.ส. 215 ล้านบาท และค่าบริหารจัดการรายละ 7 บาทเป็น 3.6 ล้านบาท

“ราคามันสำปะหลังขณะนี้อยู่ที่กิโลกรัมละ 2.10-2.20 บาท จากต้นทุนการผลิตที่ 1.70 บาท การประกันรายได้ครั้งนี้จะชดเชยส่วนต่างระหว่างราคาตลาดกับราคาที่ประกันรายได้ แต่ผลผลิตต้องเป็นไปตามเงื่อนไขที่กำหนด โดยเฉพาะเชื้อแป้ง 25 % นั้นต้องใช้ระยะเวลาปลูกประมาณ 8 เดือน “

ทั้งนี้เพื่อรักษาเสถียรภาพด้านราคาและการตลาด รวมทั้งเสริมสภาพคล่องเพิ่มอำนาจต่อรองและความสามารถในการบริหารจัดการผลผลิตหลังการเก็บเกี่ยวแก่กลุ่มเกษตรกรและสหกรณ์ เสริมสภาพคล่องให้กับเอกชน ให้สามารถรองรับผลผลิตของเกษตรกรในช่วงกระจุกตัวและปรับปรุงคุณภาพผลผลิตให้ได้มาตรฐาน ที่ประชุมได้เห็นชอบมาตรการคู่ขนานโครงการประกันรายได้ ประกอบด้วย

โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการเพาะปลูกมันสำปะหลัง โดย ธ.ก.ส. สนับสนุนเงินทุนในการพัฒนาการผลิตของเกษตรกรโดยใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสม เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรในการเพิ่มผลิตภาพการผลิต และคุณภาพของมันสำปะหลัง ลดต้นทุนการผลิต ซึ่ง ธ.ก.ส. จะจ่ายสินเชื่อเกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลัง 5 ,000 ราย ไม่เกินรายละ 2.3 แสนบาท วงเงินกู้รวม 1,150 ล้านบาท อันตราดอกเบี้ย 3.875 ต่อปี โดยรัฐบาลจะชดเชยดอกเบี้ยเพิ่มเติม 3 % ต่อปีเป็นระยะเวลาไม่เกิน 24 เดือน รวมวงเงิน 69 ล้านบาท

 โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมมันสำปะหลงและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร ทางธ.ก.ส. จะสนับสนุนเพื่อให้สถาบันเกษตรกรนำไปใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในการรวบรวมหรือรับซื้อหัวมันสด มันเส้น เพื่อจำหน่ายต่อ หรือแปรรูปเพื่อสร้างมูลค่า เพื่อช่วยดูดซับปริมาณมันสำปะหลังในช่วงที่ผลผลิตออกมาก วงเงิน1,500 ล้านบาท ดอกเบี้ยMLR-1 ต่อปี โดยคิดจากสถาบันเกษตรกรในอัตรา 1 % ต่อปี และรัฐบาลชดเชยให้ ธ.ก.ส. 3 % ต่อปี ระยะเวลาไม่เกิน 12 เดือน นับตั้งแต่วันรับกู้ งบประมาณ 45 ล้านบาท

และโครงการ ชดเชยดอกเบี้ยในการเก็บสต็อกมันสำปะหลัง โดยกรมการค้าภายใน สนับสนุนสินเชื่อ 225 ล้านบาท แก่ผู้ประกอบการแปรรูปมันสำปะหลัง ลานมัน และโรงแป้ง ที่เข้าร่วมโครงการเก็บสต็อกในรูปมันเส้นและแป้งมัน วงเงิน1.5 หมื่นล้านบาท รัฐบาลชดเชยดอกเบี้ย 3 %ให้ผู้ประกอบการผ่าน ธ.ก.ส. หรือธนาคารรัฐ ที่ผู้ประกอบการเป็นลูกค้า ตามมูลค่าของสินค้ามันสำปะหลัง และระยะเวลาการจัดเก็บ 60-180 วันนับตั้งแต่ที่รับซื้อ

สำหรับปี 2562 ไทยใช้มันสำปะหลังสดเพื่อแปรรูป 24..28 ล้านตัน เพื่อส่งออกในรูปมันเส้น 2.40 ล้านตัน มันอัดเม็ด 1 หมื่นตัน แป้งดิบ 2.84 ล้านตัน แป้งแปรรูป 1.04 ล้านตัน และกากอัดเม็ด 3.1 แสนตัน ในตลาดหลักคือจีน ญี่ปุ่น สหภาพยุโรป

นอกจากนี้ที่ประชุมยังได้รับทราบความก้าวหน้าโครงการป้องกันและกำจัดโรคใบด่าง งบประมาณ 62.7 ล้านบาท ปัจจุบันใช้ไปแล้ว 23 % แยกเป็นการทำลายพื้นที่ที่มีเอกสารสิทธิ์และไม่มีเอกสารสิทธิ์ 24.6 ล้านไร่ พร้อมทั้งชดเชยรายได้ให้เกษตรกรเฉพาะพื้นที่ที่มีเอกสารสิทธิ์ 4.8 ล้านบาท

 

 

สำหรับโครงการประกันรายได้ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ กำหนดราคาและปริมาณประกนรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปี 25636/64 ณ ความชื้น 14.5 % เท่ากับปีที่ผ่านมา กิโลกรัมละ 8.50 บาท ไม่เกินครัวเรือนละ 30 ไร่ เกษตรกรผู้มีสิทธิได้รับการชดเชย ต้องขึ้นทะเบียนเป็นผู้ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์กับกรมส่งเสริมการเกษตร โดยแจ้งเพาะปลูกตั้งแต่วันที่ 1 มิ.ย. 2563 – 31 พ.ค. 2564 และสามารถขึ้นทะเบียนได้แปลงละ 1 ครั้งเท่านั้นในรอบการผลิตดังกล่าว ทั้งนี้เพื่อป้องกันไม่ให้จ่ายเงินซ้ำซ้อน วงเงินชดเชยรวม 1,913 ล้านบาท แยกเป็น ใช้แหล่งเงินทุนของ ธ.ก.ส. สำรองจ่าย 1,867 ล้านบาท เป็นค่าใช้จ่ายการดำเนินการของ ธ.ก.ส. 45 ล้านบาท

ทั้งนี้ได้มีมาตรการคู่ขนาน คือ โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวโพดเลี้ยงสัตว์และสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร โดย ธ.ก.ส. ปล่อยสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ วงเงิน 1,500 ล้านบาท และโครงการชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการค้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในการสต็อก ปี 2563/64 60-120 วัน15 ล้านบาท

 

ทั้ง 2 โครงการนี้กระทรวงพาณิชย์จะเสนอให้คณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบต่อไป ในส่วนของกรมส่งเสริมการเกษตรจะแจ้งให้เกษตรกรผู้ปลูกมาขึ้นทะเบียนตามระยะเวลาที่กำหนด ซึ่งเกษตรกรสามารถขึ้นทะเบียนได้ทั้งที่ปลูกในพื้นที่ที่มีเอกสารสิทธิ์ และไม่มีเอกสารสิทธิ์ โดยทั้งหมดจะได้รับการชดเชยในลักษณะเดียวกัน

แต่ทั้งนี้ในรายละเอียดของการขึ้นทะเบียนเกษตรกรจะต้องแจ้งข้อมูลตามจริง แยกพื้นที่การเพาะปลูกทั้ง2 ประเภทให้ชัดเจน เพื่อให้ง่ายต่อการตรวจสอบย้อนกลับกรณีที่มีปัญหาอื่นๆตามมา