เกาะติดงบฟื้นฟู 'กรมทางหลวงชนบท' ชงของบ 2.5 หมื่นล้าน

เกาะติดงบฟื้นฟู 'กรมทางหลวงชนบท' ชงของบ 2.5 หมื่นล้าน

โครงการพัฒนาถนนอยู่ในกลุ่มที่หลายหน่วยงานยื่นขอใช้งบประมาณตาม พ.ร.ก.กู้เงิน ในส่วนของกรอบวงเงินฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมวงเงิน 4 แสนล้านบาท มีการขอเข้ามาถึง 17,442 โครงการ

ปัจจุบันมีการขอใช้งบวงเงินฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมวงเงิน 4 แสนล้านบาท ประเภทถนนเข้ามามาก โดยมีทั้งกระทรวงคมนาคม องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) และจังหวัด ยื่นของบเข้ามารวมถึงปัจจุบัน 17,442 โครงการ

การของบประมาณที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาถนนกระจายอยู่เกือบทุกจังหวัด โดยข้อมูลจากเว็บไซต์สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ระบุถึงโครงการถนนในจังหวัดกระบี่ 56 โครงการ มีมูลค่าโครงการตั้งแต่ 2 แสนบาทถึง 213 ล้านบาท

โครงการถนนในจังหวัดกาญจนบุรี 222 โครงการ มีมูลค่าโครงการตั้งแต่ 4.9 แสนบาท ถึง 280 ล้านบาท รวมถึงโครงการถนนในจังหวัดกาฬสินธุ์ 1,120 โครงการ 

คณะกรรมการกลั่นกรองการใช้งบประมาณเงินกู้ยังไม่มีการพิจารณาโครงการที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาถนน โดยที่ผ่านมามีการกำหนดกรอบการพิจารณาโครงการ คือ การไม่พิจารณาโครงการที่ใช้งบประมาณลงไปกับที่ปรึกษโครงการหรือผู้รับเหมามากกว่าที่จะเกิดประโยชน์กับคนในชุมชน

รวมทั้งโครงการที่เกี่ยวกับการก่อสร้างต้องมาดูว่าตอบโจทย์เรื่องความเข้มแข็งหรือไม่ สามารถสร้างงาน สร้างความเข้มแข็งให้เศรษฐกิจฐานรากหรือไม่ ก่อนที่ สศช.จะพิจารณาเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติงบประมาณ

159438785224

นายปฐม เฉลยวาเรช อธิบดีกรมทางหลวงชนบท เปิดเผยว่า กรมทางหลวงชนบท ได้เสนอโครงการเพื่อขอรับจัดสรรงบประมาณฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมวงเงิน 4 แสนล้านบาท ซึ่งโครงการที่กรมทางหลวงชนบทเสนอรวมวงเงิน 25,280 ล้านบาท อาทิ โครงการนำแผ่นยางธรรมชาติครอบกำแพงคอนกรีต (Rubber Fender Barrier : RFB) และหลักนำทางยางธรรมชาติ (Rubber Guide Post : RGP)

รวมไปถึงการก่อสร้างถนนเลียบชายฝั่งทะเลด้านตะวันตกของอ่าวไทย หรือไทยแลนด์ริเวียร่า ที่ ทช.บูรณาการร่วมกับกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เป้าหมายเพื่อพัฒนาถนนสายรอง หรือสเปอร์ไลน์ เชื่อมต่อเข้าแหล่งท่องเที่ยวตามแผนที่กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาต้องการพัฒนา โดยโครงการก่อสร้างถนนที่กรมทางหลวงชนบทเสนอไปนั้น ส่วนใหญ่เป็นโครงการถนนสายรองขนาดเล็ก จะมีสัญญาก่อสร้างประมาณ 1 ปีแล้วเสร็จ และจัดใช้งบประมาณไม่สูงนัก

“โครงการที่กรมทางหลวงชนบทเสนอส่วนใหญ่เป็นโครงการทำถนนเพื่อสนับสนุนแหล่งท่องเที่ยว หรือเป็นถนนสายรองในชุมชน"

โดยเป็นโครงการขนาดเล็ก เมื่อมีการประมูลงานส่วนใหญ่ก็จะเป็นผู้รับเหมารายเล็กเข้ามา เชื่อว่าโครงการลักษณะนี้จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ ขับเคลื่อนเม็ดเงินลงชนบทได้

เช่นเดียวกับโครงการนำแผ่นยางธรรมชาติครอบกำแพงคอนกรีต (Rubber Fender Barrier : RFB) และหลักนำทางยางธรรมชาติ (Rubber Guide Post : RGP) เป็นนโยบายของนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ที่ต้องการเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกรชาวสวนยาง จัดระบบให้หน่วยงานเข้าไปซื้อยางพารากับเกษตรการโดยตรง ไม่ผ่านพ่อค้าคนกลาง ช่วยเพิ่มรายได้ให้เกษตรกรมากขึ้น

นายปฐม ยังกล่าวอีกว่า ส่วนตัวเชื่อว่าโครงการของกรมทางหลวงชนบทจะมีบางส่วนได้รับการอนุมัติงบประมาณ เพราะเป็นโครงการที่ช่วยเหลือชุมชนโดยตรง แต่หากโครงการใดไม่ได้รับจัดสรรงบ หรือโครงการก่อสร้างถนนส่วนใดไม่ได้รับงบประมาณ กรมทางหลวงชนบทก็มีแผนที่จะตั้งของบประมาณประจำปี 2565–2566 พัฒนาให้ต่อเนื่อง แต่รู้สึกเสียดายโอกาส เพราะหากได้รับงบประมาณจะสามารถเร่งรัดดำเนินการได้