นายกฯ ระดมนักธุรกิจฟื้นเศรษฐกิจ สร้างโมเดลทำงานแบบใหม่

นายกฯ ระดมนักธุรกิจฟื้นเศรษฐกิจ สร้างโมเดลทำงานแบบใหม่

นายกฯ ระดมเอกชนหารือทีมเศรษฐกิจ รับข้อเสนอยึดโมเดล ศบค.ตั้งศูนย์ฟื้นฟูหลังโควิด เร่งแผนช่วยเอสเอ็มอี “สมคิด” เผยไม่มีปัญหาทำงานร่วมที่ปรึกษาเศรษฐกิจนายกฯ

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา  นายกรัฐมนตรี ประชุมคณะกรรมการที่ปรึกษาด้านแนวทางการช่วยเหลือและฟื้นฟูเศรษฐกิจจากการแพร่ระบาดโควิด-19 ที่ทำเนียบรัฐบาล วานนี้ (10 ก.ค.) โดยมีนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง รวมถึงนายทศพร ศิริสัมพันธ์เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร

รวมทั้งมีภาคเอกชนเข้าร่วม เช่น นายกลินท์ สารสิน ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) นายปรีดี ดาวฉาย ประธานสมาคมธนาคารไทย นายไพบูลย์ นลินทรางกูร ประธานกรรมการสภาธุรกิจตลาดทุนไทย

นายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานสภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย นางสาวกัญญภัค ตันติพิพัฒนพงศ์ ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.)

นายสมคิด กล่าวก่อนการประชุมว่า แม้นายกรัฐมนตรีจะยกเลิกการประชุมคณะกรรมการรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ (ครม.เศรษฐกิจ) ที่มีกำหนดวานนี้ (10 ก.ค.) และจัดประชุมที่ปรึกษาแทนแต่จะไม่น่ามีปัญหาการทำงานเพราะรู้จักกันทุกคน และเป็นสิ่งดีที่นายกรัฐมนตรีจะได้เห็นข้อมูลที่รอบด้าน รวมทั้งได้ข้อมูลจากภายนอกที่เพียงพอก่อนพิจารณามาตรการต่างๆ

“เป็นเรื่องดีที่นายกฯ จะเห็นข้อมูลทั้งหมด เพราะเรื่องที่นายกฯ สนใจแก้ปัญหาขณะนี้ คือ การช่วยเหลือเอสเอ็มอี ซึ่งนายกฯ ได้เรียกประชุมแล้วและกระทรวงการคลังเตรียมมาตรการไว้แล้ว และเมื่อนายกฯเข้าใจจะได้เสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ช่วยเหลือเอสเอ็มอีได้ทันท่วงที”นายสมคิด กล่าว 

นายสมคิด กล่าวว่า จะเป็นผู้ดูแลมาตรการของกระทรวงการคลังเป็นหลัก ส่วนการแก้ปัญหาเศรษฐกิจไม่ใช่กระทรวงการคลังหน่วยงานเดียวที่จะแก้ไขได้ โดยทุกกระทรวงเกี่ยวข้องกันหมด เช่น กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ดูการแก้ปัญหาสินค้าเกษตรและการว่างงานภาคเกษตร กระทรวงแรงงานดูการแก้ไขปัญหาการว่างงาน กระทรวงพาณิชย์ดูการแก้ปัญหาการค้าขาย ซึ่งเป็นเรื่องถูกต้องแล้วที่นายกรัฐมนตรีบอกว่าตนเองเป็นหัวหน้าทีมเศรษฐกิจ เพราะในรัฐบาลผสมต้องเดินไปข้างหน้าพร้อมกัน

นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ในฐานะเลขานุการ ครม.เศรษฐกิจ กล่าวว่า การประชุมครั้งนี้นายกรัฐมนตรีชี้แจงการทำงานรูปแบบใหม่หรือ New Normal เพื่อให้ได้มุมมองเศรษฐกิจที่หลากหลาย โดยมีทีมที่ปรึกษาเศรษฐกิจของนายกรัฐมนตรี  ซึ่งจะเพิ่มเติมมุมมองจากที่ปกติรับฟังจากข้าราชการ และใน ครม.ซึ่งข้อเสนอที่ได้และสามารถที่จะทำได้ทันทีก็จะนำเข้าสู่ที่ประชุม ครม. ส่วนที่ยังต้องมีการหารือกันเพิ่มเติมก็จะเป็นการหารือใน ครม.เศรษฐกิจซึ่งท่านนายกรัฐมนตรีจะกำหนดระยะเวลาในการประชุมต่อไป 

สำหรับข้อเสนอของที่ปรึกษาเศรษฐกิจนายกรัฐมนตรีและภาคเอกชน 3-4 ราย มีความเห็นร่วมกันให้รัฐบาลตั้งศูนย์ฟื้นฟูเศรษฐกิจจากโควิด โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นหัวหน้าในการบริหาร และรูปแบบคล้ายศูนย์ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) ที่ได้ผลสำเร็จมาแล้ว ซึ่งนายกรัฐมนตรีรับข้อนี้และมอบทีมกฎหมายดูข้อกฎหมายและแนวทางในการจัดตั้ง

ขณะที่นายไพบูลย์ เสนอว่ารัฐบาลควรเร่งรัดส่งเสริมให้ไทยเป็นศูนย์กลางทางตลาดเงินและตลาดทุนของภูมิภาคให้ได้แท้จริง ส่วนภาคเอกชนบางส่วนเสนอให้แก้ไขปลดล็อกปัญหาอุปสรรคในการทำธุรกิจ โดยผ่านกลไกคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมายที่มีอยู่ให้รวดเร็ว 

ถกแผนช่วยเอสเอ็มอี

ส่วนการหารือเรื่องมาตรการช่วยเหลือเอสเอ็มอีได้มีการหารือเรื่องมาตรการช่วยเหลือเอสเอ็มอีเพิ่มเติม ได้แก่ การขยายระยะเวลาพักชำระดอกเบี้ยเงินกู้และเงินต้นให้กับเอสเอ็มอีที่เป็นลูกค้าของสถาบันการเงินจากเดิมที่ขยายไปให้ถึงวันที่ 22 ต.ค. โดยมีข้อเสนอให้มีการขยายออกไปหรือมีมาตรการช่วยเหลือเพิ่มเติม เนื่องจากผลกระทบทางเศรษฐกิจที่เกิดจากโควิดที่ประเมินมีผลกระทบมากกว่าที่มีการคาดการณ์ไว้ตั้งแต่แรก 

ส่วนมาตรการอื่นที่กำลังพิจารณา เช่น การตั้งกองทุนช่วยเหลือเอสเอ็มอีวงเงิน 50,000 ล้านบาท อยู่ขั้นตอนการหารือกับ สศช.ในการขอใช้เงินกู้จาก พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงิน วงเงิน 1 ล้านล้านบาท ซึ่งเมื่อผ่านการพิจารณาแล้วจะเสนอ ครม.เศรษฐกิจก่อนที่จะเข้า ครม.

สรท.เสนอแก้ซอฟต์โลน

นางสาวกัณญภัค ตันติพิพัฒพงษ์ ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) กล่าวว่า เป็นเรื่องดีที่ภาคเอกชนและนายกรัฐมนตรีได้ประชุมเพื่อแก้ปัญหาเศรษฐกิจจากผลกระทบโควิด-19 โดยเฉพาะการเสนอตั้งศูนย์ช่วยเหลือและฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังการระบาดของโควิด-19 เพื่อดูแลเรื่องเศรษฐกิจโดยเฉพาะ

สำหรับข้อเสนอของ สรท.ส่วนใหญ่เป็นเรื่องของการพัฒนาระบบโลจิสติกส์ทั้งทางรางและทางเรือให้ต่อเนื่อง รวมถึงการคืนภาษีมูลค่าเพิ่มให้ทำให้รวดเร็วเพื่อเป็นเงินที่ผู้ประกอบการนำมาหมุนเวียนช่วงขาดสภาพคล่องทาง รวมถึงขยายเวลายกเว้นภาษีหัก ณ ที่จ่าย 

รวมทั้งเสนอปัญหาเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ (ซอฟต์โลน) ที่กู้ได้ไม่มากนัก และการช่วยเอสเอ็มอีที่มีปัญหาขาดสภาพคล่องทางการเงิน ที่จะมีมาตรการใดที่จะทำให้ผู้ประกอบการการเอสเอ็มอีเข้าถึงแหล่งเงินทุน ซึ่งในส่วนนี้อยากให้รัฐบาลมองว่าเป็นเรื่องเร่งด่วนที่ต้องเร่งดำเนินการแก้ไข ถ้าทำได้ก็จะแก้ปัญหาในสิ่งที่เรากังวลได้ เช่น การเลิกจ้างแรงงาน น่าจะคลี่คลายมากขึ้น เพราะจะเป็นสิ่งที่จะช่วยเอสเอ็มอีได้ในระยะยาว

“การประชุมในครั้งนี้อย่างน้อยก็ได้มีการเสนอต่อนายกฯโดยตรง ถือเป็นเรื่องที่ดี แต่ก็ยอมรับว่า ปัญหาที่เสนอไปเกี่ยวข้องกับหลายภาคส่วน ซึ่งต้องนำไปพิจารณาร่วมกับหน่วยงานนั้นๆ อย่างไรก็ตามทุกคนเห็นตรงกันว่า ทำให้ฟื้นเศรษฐกิจรากหญ้า ซึ่งเห็นว่า นายกฯก็เข้าใจปัญหาภาคเศรษฐกิจและตั้งใจที่จะแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น”