กคช. เตรียมสร้างบ้าน 100,000 หลัง ช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อย

กคช. เตรียมสร้างบ้าน 100,000 หลัง ช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อย

กคช. เตรียมสร้างบ้าน 100,000 หลัง ภายใน 5 ปี ช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อย

วานนี้ (9 ก.ค. 63) เวลา 13.15 น. ที่ห้องประชุมชั้น 2 กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ถนนกรุงเกษม กทม. นายจุติ ไกรฤกษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์(รมว.พม.) เป็นประธานการประชุมคณะผู้บริหารการเคหะแห่งชาติ (กคช.) เพื่อติดตามการดำเนินงานและมอบนโยบายการขับคลื่อนงานด้านที่อยู่อาศัยสำหรับผู้มีรายได้น้อย โดยมีนายณัฐพงศ์ พันธเกียรติไพศาล ประธานกรรมการการเคหะแห่งชาติ และคณะผู้บริหาร กคช. เข้าร่วมประชุม

1594376694100

นายจุติ กล่าวว่า วันนี้ ตนได้รับฟังการขับเคลื่อนโครงการที่สำคัญของการเคหะแห่งชาติ (กคช.) โดยเฉพาะโครงการช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ที่ส่งผลให้ประชาชนถูกเลิกจ้างงาน ไม่มีรายได้ เนื่องจากกิจการได้ปิดตัวลงและไม่มีที่อยู่อาศัย กคช. จึงได้จัดทำโครงการบ้านเช่า 999 บาทต่อเดือน เพื่อช่วยเหลือด้านที่อยู่อาศัยให้แก่ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากโรคโควิด-19 ซึ่งขณะนี้ มีผู้เข้าพักอาศัยบ้านเช่าในโครงการดังกล่าวแล้วกว่า 3,000 ราย รวมทั้งการพักชำระหนี้เป็นระยะเวลา 3 เดือน เพื่อแบ่งเบาภาระแก่ผู้พักอาศัยในโครงการของ กคช.

นายจุติ กล่าวต่อไปว่า ตนได้มอบนโยบายการขับเคลื่อนภารกิจที่สำคัญและช่วยเหลือกลุ่มคนที่มีรายได้น้อยถึงปานกลาง ที่มีปัญหาเรื่องที่อยู่อาศัย โดยได้มอบให้ กคช. เตรียมขับเคลื่อนโครงการสำคัญ ได้แก่ 1. บ้านสำหรับผู้มีรายได้น้อย จำนวน 100,000 หน่วย ภายในเวลา 5 ปี แบ่งเป็นปีละ 20,000 หน่วย 2. การ Re-Branding องค์กร โดยมุ่งเน้นการช่วยเหลือประชาชนที่มีรายได้น้อยให้มีความมั่นคงด้านที่อยู่อาศัยมากกว่าเชิงพาณิชย์ 3. การสร้างที่อยู่อาศัยสำหรับผู้สูงอายุเพื่อรองรับสังคมผู้สูงอายุของประเทศไทย ในปี 2564 โดยกำหนดแผนเริ่มต้นในพื้นที่ 4 มุมเมืองของ กทม. หรือปริมณฑล ซึ่งจำเป็นต้องให้ กคช. วางแผนดำเนินงานต่อไป 4. การนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาใช้ในการทำงานการคิดค้นนวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อความสะดวกแก่ผู้ใช้บริการ

159437669443


นายจุติ กล่าวเพิ่มเติมว่า 5. คณะกรรมการและผู้บริหาร ตลอดจนเจ้าหน้าที่ของ กคช. ต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความโปร่งใสตามหลักธรรมาภิบาล การบริหารทรัพย์สินขององค์กรให้เกิดประโยชน์อย่างคุ้มค่า และ 6. เร่งดำเนินการซ่อมแซมที่อยู่อาศัยของโครงการบ้านเอื้ออาทรที่ไม่มีผู้อยู่อาศัย ให้มีความน่าอยู่ พร้อมให้ผู้ที่ทำการซื้อหรือเช่าอาศัยเข้ามาพักอาศัยได้ทันที และต้องคำนึงถึงคุณภาพชีวิตและสภาพแวดล้อมของผู้พักอาศัยเป็นสำคัญ