บีทีเอส - บีอีเอ็ม เปิดศึกชิงรถไฟฟ้า ซื้อซองสายสีส้มวันแรก

บีทีเอส - บีอีเอ็ม เปิดศึกชิงรถไฟฟ้า ซื้อซองสายสีส้มวันแรก

บีทีเอส - บีอีเอ็ม โดดชิงรถไฟฟ้าสายสีส้ม หลัง รฟม.ขายซองวันแรก คาดเอกชนรอตบเท้าลงสนามอีกเพียบ ลุ้นต่างชาติเข้าร่วม หวังเพิ่มการแข่งขัน เตรียมเปิดยื่นซอง 23 ก.ย.นี้

นายสุรเชษฐ์ เหล่าพูลสุข รองผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ในฐานะประธานคณะกรรมการคัดเลือกเอกชนลงทุนในโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ – มีนบุรี (สุวินทวงศ์) เปิดเผยว่า วันนี้ (10 กรกฎาคม 2563) รฟม.ได้เปิดขายเอกสารสำหรับการคัดเลือกเอกชน (Request for Proposal Documents: RFP) เป็นผู้ร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ – มีนบุรี (สุวินทวงศ์) เป็นวันแรก โดยมีเอกชนให้ความสนใจติดต่อขอซื้อเอกสารข้อเสนอการร่วมลงทุนฯ ในวันนี้ จำนวนทั้งสิ้น 4 ราย ดังนี้

  • 1. บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน)
  • 2. บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน)
  • 3. บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน)
  • 4. บริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน)

159437483770

ทั้งนี้ ผู้ที่สนใจสามารถซื้อเอกสารสำหรับการคัดเลือกเอกชน (Request for Proposal Documents : RFP) โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มฯ ตั้งแต่วันที่ 10 - 24 กรกฎาคม 2563 เวลา 9.00 น. ถึง 15.00 น. ณ ห้องนิทรรศการ ชั้น 1 อาคาร 1 รฟม. โดย รฟม.มีกำหนดเปิดให้เอกชนยื่นข้อเสนอ 23 ก.ย.นี้ หลังจากนั้นจะเปิดซองข้อเสนอในวันที่ 30 ก.ย.2563 

สำหรับโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ – มีนบุรี (สุวินทวงศ์) มีแนวเส้นทางเชื่อมระหว่างกรุงเทพมหานครทิศตะวันออกและทิศตะวันตก ระยะทาง 35.9 กิโลเมตร แบ่งเป็นส่วนตะวันออก (ช่วงศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย –   มีนบุรี) ระยะทาง 22.5 กิโลเมตร จำนวน 17 สถานี (สถานีใต้ดิน 10 สถานี และ สถานียกระดับ 7 สถานี) และส่วนตะวันตก (ช่วงบางขุนนนท์ – ศูนย์วัฒนธรรมฯ) ระยะทาง 13.4 กิโลเมตร จำนวน 11 สถานี (สถานีใต้ดินตลอดสาย) โดยมีมูลค่าการลงทุนรวมก่อสร้างงานโยธาส่วนตะวันตก และงานระบบทั้งเส้นทาง รวมมูลค่า 1.4 แสนล้านบาท

นายสุรเชษฐ์ ยังกล่าวอีกว่า จากการประเมินเอกชนเข้าซื้อซองประมูลโครงการ คาดว่าเอกชนที่เข้าซื้อซองในขณะนี้ จะเข้าร่วมยื่นข้อเสนอทั้งหมด อีกทั้ง รฟม.ยังเชื่อว่าจะมีเอกชนต่างชาติสนใจเข้าซื้อซองเพิ่ม ซึ่งจะทำให้เกิดการแข่งขัน แต่เหตุผลที่ปัจจุบันยังไม่เข้ามาเพราะติดปัญหาโควิด -19

อย่างไรก็ดี งานโยธาส่วนตะวันตก (ช่วงบางขุนนนท์ – ศูนย์วัฒนธรรมฯ) ที่เอกชนผู้ชนะการประมูลจะต้องก่อสร้าง พร้อมวางระบบรถไฟฟ้านั้น จะต้องเร่งรัดให้แล้วเสร็จภายในปี 2566 เนื่องจากงานโยธาส่วนตะวันออก (ช่วงศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย –   มีนบุรี) ปัจจุบันอยู่ระหว่างการก่อสร้าง และมีกำหนดแล้วเสร็จในปี 2565 ดังนั้นต้องเร่งรัดก่อสร้างให้เปิดบริการพร้อมกัน