‘เงินฝาก’ท่วมระบบแบงก์ เดือนพ.ค.ยอดแตะ 14.63 ล้านล้านเพิ่มขึ้น 8.76%

‘เงินฝาก’ท่วมระบบแบงก์ เดือนพ.ค.ยอดแตะ 14.63 ล้านล้านเพิ่มขึ้น 8.76%

นายแบงก์ยอมรับ ‘เงินฝาก’ ท่วมระบบ แม้ดอกเบี้ยลดลง เหตุประชาชน-ภาคธุรกิจ ปิดความเสี่ยง ชะลอลงทุน หันนำเงินฝากแบงก์ ส่งผลปริมาณเงินฝาก 5 เดือนพุ่งกว่า 1.18 ล้านล้าน หรือราว 8.76% คาดแนวโน้มยังเพิ่มต่อเนื่อง

เงินฝากในระบบธนาคารพาณิชย์ยังคงเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง สวนทางกับอัตราดอกเบี้ยเงินฝากที่ปรับลดลง โดยข้อมูลล่าสุด ณ สิ้นเดือนพ.ค.2563 ธนาคารพาณิชย์ทั้งระบบมียอดเงินฝากรวมกันที่ 14.63 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปลายปีที่ผ่านมา 1.18 ล้านล้านบาท คิดเป็นการเพิ่มขึ้น 8.76% 

นายอดิศร เสริมชัยวงศ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ และประธานเจ้าหน้าที่บริหารธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย กล่าวว่า สภาพคล่องในระบบธนาคารพาณิชย์ถือว่ายังค่อนข้างล้น เนื่องจากนักลงทุนชะลอการลงทุนในสินทรัพย์ต่างๆ และนำเงินเหล่านี้มาฝากไว้กับธนาคารพาณิชย์เพื่อหลบความเสี่ยง ส่งผลให้ปริมาณเงินฝากในระบบเพิ่มขึ้นค่อนข้างมาก

สำหรับ ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย พบว่า ตั้งแต่ต้นปีถึงปัจจุบันปริมาณเงินฝากเพิ่มขึ้นราว 3-4% โดย ณ สิ้นเดือนพ.ค.2563 ธนาคารมีเงินฝากอยู่ประมาณ 2.16 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงสิ้นปีที่ผ่านมาซึ่งอยู่ที่ 1.99 แสนล้านบาท 

“สภาพคล่องในวันนี้ถือว่าล้นเหลือเฟือ เพราะคนไม่รู้ว่าจะเอาเงินไปไหน ไปลงทุนอะไร แม้เวลานี้ดอกเบี้ยเงินฝากจะต่ำลง แต่เรายังเห็นเงินไหลเข้ามาฝากอย่างต่อเนื่อง มองไปข้างหน้าเชื่อว่าเงินฝากจะยังทรงตัวในระดับสูงต่อเนื่อง แต่อาจลดลงบ้างในกรณีที่คนเริ่มคลายกังวลกับการลงทุนโดยเฉพาะการลงทุนในหุ้นกู้เอกชน ซึ่งตอนนั้นเราอาจเห็นคนโยกเงินฝากไปลงทุนผ่านในกองทุนรวมกันมากขึ้น"

นายทวีลาภ ฤทธาภิรมย์ กรรมการผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ กล่าวว่า ถ้าดูปริมาณเงินฝากในระบบธนาคารพาณิชย์ จะพบว่า เพิ่มขึ้นในทิศทางเดียวกัน เนื่องจากช่วงนี้นักลงทุนต้องการลดความเสี่ยงจากความไม่แน่นอน อีกทั้งนักลงทุนยังอยู่ในโหมดระมัดระวังการขยายกิจการ หรือลงทุนในการทำธุรกิจใหม่ๆ ทำให้มีการนำเงินมาฝากในระบบธนาคารพาณิชย์เพิ่มขึ้น เพราะการพักเงินไว้ในเงินฝาก จะมีความคล่องตัวสูง สามารถนำออกไปบริหารจัดการได้ง่าย มากกว่าลงทุนในสินทรัพย์ประเภทอื่น

การนำเงินมาพักไว้ก็เพื่อรอให้เศรษฐกิจฟื้นตัว และเตรียมพร้อมรองรับสถานการณ์ที่เอื้อต่อการลงทุน ดังนั้นเชื่อว่า เงินฝากในระบบธนาคาร น่าจะอยู่ในระดับสูงต่อเนื่องตลอดปีนี้

อย่างไรก็ตาม เงินฝากของธนาคารที่อยู่ในระดับสูง เชื่อว่าจะไม่กระทบต่อต้นทุนที่เพิ่มขึ้น เนื่องจากธนาคารมีช่องทางบริหารจัดการเงินฝาก ตามช่องทางต่างๆได้ดีในปัจจุบัน จึงเชื่อว่าจะไม่เป็นอุปสรรคต่อการบริหารจัดการเงินฝากในปัจจุบัน

ทั้งนี้ ยอดเงินฝากของธนาคารกรุงเทพ ณ สิ้นเดือนพ.ค. มียอดคงค้างที่ 2.5 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นหากเทียบกับ สิ้นปีก่อน ที่เงินฝากอยู่เพียง 2.3 ล้านล้านบาท

 นางสาวกาญจนา โชคไพศาลศิลป์ ผู้บริหารงานวิจัย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย กล่าวว่า หากดูข้อมูลดอกเบี้ยเงินฝากของระบบธนาคารพาณิชย์ พบว่าปรับลดลงต่อเนื่อง ในไตรมาสแรกที่ผ่านมา และจะเห็นดอกเบี้ยเงินฝากของธนาคารพาณิชย์ น่าจะปรับลดลงต่อเนื่อง ในไตรมาส 2 ตามการปรับดอกเบี้ยลงของดอกเบี้ยนโยบาย

 อย่างไรก็ตามหากดูเงินฝากในเดือนก่อนหน้า โดยเฉพาะมี.ค. พบว่า ทั้งระบบธนาคารพาณิชย์ มีเงินฝากเพิ่มขึ้นถึง 7.5 แสนล้านบาทต่อเดือน และเม.ย. เพิ่มขึ้น 2.38 แสนล้านบาท เดือนพ.ค. เพิ่มขึ้นที่ 5.5 หมื่นล้านบาทต่อเดือน หากเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน สะท้อนว่านักลงทุนและภาคธุรกิจยังมีความต้องการฝากเงินมากขึ้น โดยเฉพาะในช่วงมี.ค.ที่เกิดความกังวลจากการเทขายสินทรัพย์เสี่ยง มาไว้ในเงินฝาก

 โดยเงินฝากที่เพิ่มขึ้น ส่งผลให้ ครึ่งปีแรก เงินฝากในระบบธนาคารพาณิชย์เติบโตราว 12 % หากเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน และคาดว่าสิ้นปีนี้ เงินฝากจะเติบโตต่อเนื่องที่ระดับ 9-12 % หรือคิดเป็นการเพิ่มขึ้น 1.4 ล้านล้านบาท ทำให้เงินฝากคงค้างในระบบธนาคารพาณิชย์ ณ สิ้นปีอยู่ที่ 14.6 ล้านล้าน ซึ่งเป็นระดับที่มากสุดในรอบ 9 ปีนับจากปี 2555

 อย่างไรก็ตาม หากดูสภาพคล่องในระบบธนาคารพาณิชย์ที่อยู่ระดับสูง สะท้อนว่า แบงก์มีสภาพคล่องเพียงพอในการบริหารธุรกิจ และปล่อยสินเชื่อ ทำให้มีความต้องการเงินฝากลดลง ดูจากการทำแคมเปญเงินฝากที่เห็นลดลงต่อเนื่อง

นายนริศ สถาผลเดชา ผู้บริหาร ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบี ธนาคารทหารไทย หรือ TMB Analytics กล่าวว่า ยอดเงินฝากในระบบธนาคารพาณิชย์ยังคงเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง สาเหตุเพราะนักลงทุนยังลดการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยง จึงเห็นการนำเงินมาฝากไว้กับธนาคารพาณิชย์เพิ่มขึ้น 

สำหรับเงินที่นำมาฝากไว้กับธนาคารพาณิชย์ ส่วนใหญ่โยกมาจากการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงต่างๆ ซึ่งรวมถึงกองทุนรวม ทำให้มูลค่าสินทรัพย์สุทธิ(เอยูเอ็ม) ของกองทุนรวมทั้งระบบลดลงราว 10% เมื่อเทียบกับสิ้นปี 2562 โดย ณ สิ้นเดือนพ.ค.2563 เอยูเอ็มของกองทุนรวมทั้งระบบอยู่ที่ 4.81 ล้านล้านบาท เทียบกับสิ้นปีที่ผ่านมาอยู่ที่ 5.38 ล้านล้านบาท แม้การหดตัวของการลงทุนในกองทุนจะลดลงหากเทียบกับมี.ค. ที่กองทุนติดลบถึง 15.3% สะท้อนว่า นักลงทุนบางส่วนยังกังวลกับการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยง

"การไหลเข้ามาในเงินฝาก ส่วนหนึ่งโยกมาจากกองทุนต่างๆ ทำให้เงินฝากในระบบสิ้นพ.ค.เพิ่มมาอยู่ที่ 14.6 ล้านล้านบาทเพิ่มขึน 13.59% หรือราว 1.17 ล้านล้านบาท หากเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน และเพิ่มขึ้น 8.76% หากเทียบกับสิ้นปีก่อน โดยปัจจุบันเห็นทิศทางการไหลเข้ามาของเงินฝากลดลง แต่ก็ยังเป็นภาพที่เพิ่มขึ้น เมื่อเทียบกับช่วงที่ผ่านมา"

นายนริศ กล่าวด้วยว่า ถ้าดูปริมาณเงินฝากของ 5 ธนาคารพาณิชย์ใหญ่ ในช่วง 5 เดือนแรก พบว่า เติบโตขึ้นทุกธนาคาร โดยเฉพาะธนาคารกรุงไทยที่เงินฝากเติบโตถึง 10.75% ถัดมาคือกสิกรไทย 10.16% และธนาคารกรุงเทพ 8.95% กรุงศรีอยุธยา 6.27% และไทยพาณิชย์ที่ 3.82% ซึ่งหากดูเงินฝากโดยรวมทั้งระบบ พบว่าเพิ่มขึ้นราว 8.62% ซึ่งโตเร็วกว่าสินเชื่อ 2 เท่า