'สิงคโปร์' จัดเลือกตั้ง คุมเข้มโควิด-19

'สิงคโปร์' จัดเลือกตั้ง คุมเข้มโควิด-19

สิงคโปร์จัดการเลือกตั้งทั่วไปวันนี้ (10 ก.ค.) ในช่วงที่ประเทศเพิ่งฟื้นตัวจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19)

การเลือกตั้งจึงเกิดขึ้นภายใต้บรรยากาศที่แปลกออกไป การจัดเวทีหาเสียงแบบเดิมทำไม่ได้ ผู้สมัครทักทายประชาชนด้วยการแตะกำปั้น และผู้มาใช้สิทธิต้องสวมหน้ากาก

การที่สิงคโปร์ต้องห้ามหาเสียงใหญ่ก็เพื่อลดความเสี่ยงติดเชื้อ แต่ผู้สมัครไปพบประชาชนในเขตเลือกตั้งและหาเสียงกลุ่มเล็กๆ แบบเคาะประตูบ้านได้โดยต้องสวมหน้ากาก คู่มือเลือกตั้งฉบับทางการแนะนำให้ทักทายกันด้วยการชนกำปั้นแทนการจับมือ และสัมผัสกันให้น้อยที่สุด

การหาเสียงเริ่มตั้งแต่สัปดาห์ที่ผ่านมาแต่ส่วนใหญ่ทำกันเงียบๆ จนกระทั่งมีเรื่องให้ตื่นเต้นช่วงสุดสัปดาห์เมื่อกองเชียร์สองฝ่ายคู่แข่งตะโกนสโลแกนพรรคตนเข้าใส่กัน กระตุ้นให้คณะกรรมการการเลือกตั้งต้องเตือนว่า การหาเสียงแล้วตะโกนคำขวัญพรรคใส่กันแบบนี้เสี่ยงกระจายเชื้อไวรัส

อย่างไรก็ตาม แม้หาเสียงใหญ่ไม่ได้ แต่สถานีโทรทัศน์แห่งชาติก็จัดเวลาพิเศษให้ผู้สมัครได้ปราศรัยกับประชาชน และจัดหาเสียงถ่ายทอดสดผ่านแพลตฟอร์มอินเทอร์เน็ตอย่างซูมและเฟซบุ๊ค

นักสังเกตการณ์กล่าวว่า การห้ามหาเสียงมีแนวโน้มตัดกำลังพรรคฝ่ายค้านกลุ่มเล็กๆ ที่พยายามสื่อสารโดยตรงกับผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ในประเทศอย่างสิงคโปร์ที่สื่อกระแสหลักส่วนใหญ่สนับสนุนรัฐบาล

“การใช้สื่อกระแสหลักโดยมีทรัพยากรแตกต่างกัน ไม่ว่าจะเป็นแพ็กเกจหรือสารที่จะส่งออกไป สร้างความแตกต่างได้มาก” เอียน ชง รองศาสตราจารย์ด้านรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์กล่าวกับเอเอฟพี

กระนั้น รัฐบาลกล่าวว่า ผู้สมัครทุกคนมีโอกาสปราศรัยแถลงนโยบายทางทีวี ทั้งยังจัดเวทีให้ผู้สมัครทุกคนหาเสียงถ่ายทอดสดผ่านอินเทอร์เน็ตด้วย แถมกลุ่มฝ่ายค้านบางกลุ่มเชื่อว่า การหาเสียงแบบเสมือนจริงเสียส่วนใหญ่นี้อาจช่วยพวกเขาก็ได้

“วิธีนี้ปรับเวทีแข่งขันให้เท่าเทียมกัน ทั้งยังช่วยเหลือบางพรรคไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายโดยไม่จำเป็นด้วย โดยเฉพาะถ้าจัดหาเสียงแล้วคนมาฟังน้อย” โฮเซ เรย์มอนด์ ประธานพรรคประชาชนสิงคโปร์กล่าวกับเว็บไซต์ข่าว “ทูเดย์”

แต่ฝ่ายค้านที่อ่อนแอและแตกแยกของสิงคโปร์มีที่นั่งในสภาแค่ไม่กี่ที่จึงไม่เป็นภัยคุกคามต่อพรรคกิจประชาชน (พีเอพี) ที่บริหารประเทศมาหลายสิบปีและมั่นใจในชัยชนะ

159435211795
- นายกฯลี เซียน ลุง สวมหน้ากากอนามัยหาเสียงกับประชาชนช่วงก่อนวันเลือกตั้ง -

การไปลงคะแนนก็มีมาตรการป้องกันไวรัสกล่าวคือผู้มีสิทธิเลือกตั้งจะต้องสวมหน้ากาก มีเวลาใช้สิทธิไม่เกิน 2 ชั่วโมง ขณะที่ผู้สูงอายุได้รับคำแนะนำให้ไปใช้สิทธิในช่วงเช้า

ผู้ไปเลือกตั้งทุกคนจะต้องถูกตรวจอุณหภูมิ ล้างมือ และสวมถุงมือแบบใช้ครั้งเดียวทิ้งก่อนได้รับบัตรลงคะแนน ใช้สิทธิแล้วต้องออกจากคูหาภายใน 5 นาที คูหาและปากกาจะได้รับการทำความสะอาดทุกๆ ครึ่งชั่วโมงเป็นอย่างน้อย

ทั้งนี้ ผู้ป่วยโควิด-19 และคนที่ถูกกักตัว ซึ่งเป็นผู้ต้องสงสัยว่าติดไวรัส หรือถูกระบุว่าเป็นผู้สัมผัสใกล้ชิดกับผู้ติดไวรัส ไม่ได้รับอนุญาตให้ลงคะแนน แต่มีการจัดการพิเศษให้กับผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่กำลังกักตัวเองอยู่กับบ้าน ส่วนใหญ่เป็นคนที่เพิ่งกลับจากต่างประเทศ หรือคนที่กลับมาแล้วไม่ค่อยสบาย

คนกลุ่มนี้ได้รับอนุญาตให้ออกจากบ้านไปลงคะแนนภายในเวลา 1 ชั่วโมง โดยออกจากบ้านตรงไปหน่วยเลือกตั้งแล้วกลับเลยห้ามใช้รถสาธารณะ

ส่วนเจ้าหน้าที่ประจำหน่วยเลือกตั้งต้องสวมอุปกรณ์ป้องกันตัวครบถ้วนระหว่างเวลาลงคะแนน ฆ่าเชื้อคูหาและปากกาทุกครั้งหลังมีผู้ใช้สิทธิ

ด้วยการหาเสียงที่ส่วนใหญ่กระทำผ่านโซเชียลมีเดียนี่เอง การต่อสู้เพื่อช่วงชิงความคิดและจิตใจผู้คนจึงทำได้ตลอด 24 ชั่วโมง ทุก 9 วันที่หาเสียง พรรคการเมืองต่างพบว่าพรรคของตนถูกกดดันให้ตอบโต้กับการโจมตีอย่างปัจจุบันทันด่วน จากผู้สนับสนุนฝ่ายตรงข้ามทั้งในรูปมีมล้อเลียนหรือคลิปตัดต่อ

พรรคพีเอพี ตอกย้ำว่าเป็นเพียงพรรคเดียวเท่านั้นที่มีเครื่องมือนำพาประเทศผ่านพ้นวิกฤติเศรษฐกิจและสาธารณสุขสาเหตุจากโควิด-19 ระบาด ผู้นำพรรคชูนโยบาย “งานของเรา ชีวิตของเรา อนาคตของเรา”

ส่วนพรรคฝ่ายค้านประกาศนโยบายแตกต่างกันออกไป แต่ที่เหมือนกันคือวิจารณ์ว่า พรรครัฐบาลรับมือวิกฤติที่เป็นอยู่ไม่ได้ดีอย่างที่ควรจะเป็น และสภาควรมีฝ่ายค้านเข้าไปเป็นปากเสียงสร้างสมดุลกับพรรคพีเอพีอันทรงอำนาจ

ไม่มีใครคาดว่า ผลการเลือกตั้งครั้งนี้จะเกิดการเปลี่ยนแปลงมากมาย พรรคพีเอพีจะชนะตั้งรัฐบาลได้เหมือนเดิม แต่หลังจากนั้นเป็นสิ่งที่ต้องติดตาม การหาเสียงครั้งสำคัญเมื่อวันจันทร์ (6 ก.ค.) นายกรัฐมนตรีลี เซียน ลุง วัย 68 ปี ส่งสัญญาณว่า เขาจะวางมือก็ต่อเมื่อวิกฤติโควิด-19 บรรเทาเบาบางลงแล้วเท่านั้น

นายกฯ ลีกล่าวถึงวิกฤติโควิด-19 ว่า ไม่มีใครรวมทั้งตนคาดคิดว่าจะเจอวิกฤติใหญ่หลวงในช่วงสุดท้ายของการเป็นนายกฯ

นักวิเคราะห์การเมืองหลายคนมองว่า ความเห็นดังกล่าวอาจเป็นสัญญาณเบื้องต้นว่าแผนการถ่ายโอนอำนาจให้รองนายกฯ เฮง สวีเกียต ก่อนนายกฯ ลีอายุครบ 70 ปี อาจต้องเลื่อนออกไปเล็กน้อย ขึ้นอยู่กับแนวโน้มวิกฤติในปัจจุบัน