ถึงเวลาเช็คบิลรายการ เรียก 'ผี' มาเล่าเรื่อง

ถึงเวลาเช็คบิลรายการ เรียก 'ผี' มาเล่าเรื่อง

รายการแนว “ผีๆ” เอาข้อมูลเรื่องผีๆ มาจากไหน หัวหน้าศูนย์ข้อมูลคนหาย มูลนิธิกระจกเงา ที่ทำงานเรื่องคนหายที่เสียชีวิต มีข้อมูลที่เชื่อมโยงเรื่องนี้

เพราะเสียงที่ดัง ฟังชัด และความกล้าหาญของเจ้าของเพจแหม่มโพธิ์ดำ รวมถึงนักคิด นักเขียน นักวิจารณ์อีกหลายคน ที่ช่วยทำให้ความเชื่อเรื่องผีๆ ถูกเปิดโปงที่มาที่ไปมากขึ้นเรื่อยๆ  

ล่าสุด “รายการช่องส่องผี” สถานีโทรทัศน์ช่อง 8 ซึ่งมี เรนนี่ สุระประภาคำขจร หรือ เรนนี่ พิธีกรประจำรายการที่อ้างว่า มีญาณพิเศษ สามารถติดต่อสื่อสารกับวิญญาณได้ มีอันต้องเลิกผลิตรายการ เพราะการเล่นกับความเชื่อของคน จนล้ำเส้นความเป็นจริง

เชื่อว่า รายการทีวี หรือ คนเข้าทรง ที่หากินกับความเชื่อเรื่องผีๆ คงไม่หมดไปจากสังคมไทย เพราะเรื่องผีๆ อยู่คู่กับสังคมมานาน คนยังต้องการที่พึ่ง เพราะเมื่อใดที่มีความทุกข์ มีคนในครอบครัวหายไปโดยไม่ทราบสาเหตุ ไม่ว่าจะเป็นหรือตาย ญาติ พี่น้อง พ่อ แม่ ย่อมอยากรู้ความจริง

นั่นเป็นช่องทางให้คนผลิตรายการ เล่นกับความเชื่อที่ไม่มองเห็น จึงเป็นที่มาของรายการผีๆ 

000000000

"บางครอบครัวมีคนหายไป เพราะถูกฆาตกรรม ญาติก็อยากรู้ว่า หายไปไหน ก็ให้เราติดตาม แต่ที่มากกว่านั้นคือ มีผู้ผลิตหลายรายการทีวีขอข้อมูลเรื่องคนหาย เพื่อจะติดต่อญาติไปออกรายการ บางทีก็ติดต่อโดยตรง เนื่องจากเรื่องราวคนหายแนวนี้ ไม่เหมือนคนเสียชีวิตทั่วไป เพราะเมื่อเกิดเหตุคนหายลักษณะนี้ จะอ้างอิงเชิงอาชญากรรม อาจถูกฆาตกรรม เกิดอุบัติเหตุ หรือเสียชีวิตโดยไม่ทราบสาเหตุ แต่พบศพ” เอกลักษณ์ หลุ่มชมแข หัวหน้าศูนย์ข้อมูลคนหาย มูลนิธิกระจกเงา เล่า

เนื่องจากมูลนิธิกระจกเงา เป็นองค์กรที่ช่วยเหลือคนหายมานาน การค้นหาของพวกเขาจะมีการเก็บข้อมูลอย่างเป็นระบบและทำบนพื้นฐานหลักวิทยาศาสตร์ จึงเป็นแหล่งข้อมูลคนหายที่น่าเชื่อถือ แต่ละปีมีคนหายเฉลี่ยกว่าหนึ่งพันคน พวกเขาสามารถติดตามเจอประมาณ 80 เปอร์เซ็นต์ และในจำนวนนั้นมีคนเสียชีวิตประมาณ 20 คน

“ปัญหาที่เราเจอ คือ ผู้ผลิตรายการทีวีแนวผีๆ ติดต่อมาที่ญาติ แล้วบอกว่า สามารถเรียกวิญญาณมาคุยได้ เพื่อให้วิญญาณมาเล่าว่าเสียชีวิตได้ยังไง และเสียชีวิตที่ไหน” เอกลักษณ์ เล่า ทั้งๆ ที่เขาเองก็ไม่รู้ว่า ใครเป็นผู้ก่อเหตุฆาตกรรม แล้วพิธีกรบางรายการจะมาชี้นำโดยไม่มีเหตุผล คงไม่ได้  

"จำเป็นต้องปกป้องสิทธิของญาติไม่ให้ถูกคุกคาม หรือถูกชักชวนให้เกิดความเข้าใจผิด คนทำงานเกี่ยวกับคนหายจึงต้องมีหลักเกณฑ์ในการทำงานและให้ข้อมูลที่ชัดเจน เพราะญาติถูกรบเร้าและถูกทำให้เชื่อว่า พวกเขาสามารถคุยกับลูกที่ตายไปแล้วได้ โดยเอาอารมณ์ความรู้สึก ความห่วงใยมาเป็นตัวล่อ”

000000000

แม้จะบอกว่า ทั้งหมดทั้งปวงเป็นเรื่องความสมัครใจในการออกรายการ แต่การใช้วาทกรรมชวนเชื่อหรือหลอกลวง เอกลักษณ์ มองว่า พวกเขารู้อยู่แก่ใจว่า มันไม่จริง มันไม่ใช่ แล้วจะทำสิ่งนี้ไปทำไม

“เวลาทำรายการแบบนี้ คุณมองแบบอุดมการณ์หรือแค่ความบันเทิงเรียกเรตติ้ง หรืออยากช่วยเหลือญาติคนหาย ต้องตอบตรงนี้ให้ได้ก่อน หลายๆ รายการบอกว่า เป็นความเชื่อส่วนบุคคล ถ้าคิดว่าจะนำเสนออะไรก็ได้ ไม่ว่าเรื่องความรุนแรง ความโหดร้าย เรื่องบีบคั้นความรู้สึก แล้วยกภาระให้คนดู โดยบอกว่า แล้วแต่วิจารญาณและความเชื่อส่วนบุคคล การผลักภาระแบบนี้ มันใช้ไม่ได้ เพราะคนผลิตรู้อยู่แก่ใจว่า เรื่องนี้โกหกหลอกลวงหรือไม่ ความเชื่อบางอย่างก็ต้องเอาเหตุผลหลักวิทยาศาสตร์ หรือความรู้สมัยใหม่มาตอบโจทย์”

"มีกรณีหนึ่ง แม่ของเขาหายไปสามปีแล้ว ปรากฏว่า ถูกฆาตกรรม ตามหา อย่างไรก็ไม่เจอ จนไปเจอเป็นศพนิรนามฝังอยู่ในสุสาน ก็มีผู้ผลิตรายการติดต่อไปที่ลูก บอกว่า ติดต่อวิญญาณของแม่เขาได้แล้ว อยากให้มาออกรายการ พวกเขาต้องการขายความเป็นดราม่า ทำแล้วได้ประโยชน์อะไร ครอบครัวเขาก็เจ็บปวดแล้ว”

เอกลักษณ์ มองว่า เนื้อหาในรายการแนวผีๆ ก็มักจะวนเวียนอยู่กับเรื่องเดิมๆ คนทำรายการจึงต้องหาเนื้อหาใหม่ๆ ก็คือหาผีตัวใหม่

"ถ้าพวกเขาเชิญวิญญาณได้จริง ทำไมตอนที่เราค้นหาคนหาย ทั้งๆ ที่เสียชีวิตไปแล้ว เขาช่วยค้นหาไม่ได้  ผู้ดำเนินรายการก็จะอ้างว่าเป็นเรื่องกรรม ยังไม่เปิดทาง จึงมองไม่เห็น เพราะมีกรรมหนัก แต่นำเรื่องราวคนที่เสียชีวิตมาใช้เป็นเครื่องมือเรียกเรตติ้ง

มีกรณีหนึ่ง แม่ของเขาหายไปสามปีแล้ว ปรากฏว่า ถูกฆาตกรรม ตามหา อย่างไรก็ไม่เจอ จนไปเจอเป็นศพนิรนามฝังอยู่ในสุสาน ก็มีผู้ผลิตรายการติดต่อไปที่ลูก บอกว่า ติดต่อวิญญาณของแม่เขาได้แล้ว อยากให้มาออกรายการ พวกเขาต้องการขายความเป็นดราม่า ทำแล้วได้ประโยชน์อะไร ครอบครัวเขาก็เจ็บปวดแล้ว”

000000000

เอกลักษณ์ ยอมรับไสยศาสตร์เป็นความเชื่อ ช่วยเยียวยาจิตใจญาติคนหายได้ระดับหนึ่ง แต่ต้องไม่ชี้นำ ไม่ทำให้เสียกระบวนการ เคยมีกรณีหนึ่งที่ใช้ไสยศาสตร์ชี้นำ แล้วทำให้เกิดความยุ่งยาก

กรณีที่เขากล่าวถึง คือ เด็ก 5 ขวบหายตัวไป โดยหมอดูพระ ชี้ทางว่า เด็กจมอยู่ใต้น้ำ มีก้อนหินทับอยู่

“แทนที่จะไล่ดูกล้องวงจรปิดหรือดูบุคคลที่เข้ามาในพื้นที่ กลับใช้กำลังคนค้นเด็กใต้น้ำ สูบน้ำออกจากบ่อ ลงนาข้าวที่ยังไม่เก็บเกี่ยว ทำให้น้ำท่วมนาเกิดความขัดแย้ง แล้วหินก้อนใหญ่ก็ช่วยกันขยับไม่ได้ใช้เวลาสามสี่วัน ค้นแล้วปรากฏว่าไม่เจอ จนพบว่า เด็กยังมีชีวิตอยู่”

นี่คือ สิ่งที่เขาอยากบอกว่า ต้องมีหลักการพื้นฐาน วิเคราะห์ก่อนว่าเด็กเล็กๆ จะเดินไปที่ไหนได้บ้าง

“ถ้าใช้หลักวิทยาศาสตร์ คนหายตรงไหนให้ตามตรงนั้น คนหายไปจากการใช้โทรศัพท์ เราก็ตามสิ่งนั้น เด็กเล่นโซเชียลเน็ตเวิร์คหายไป ก็สืบค้นว่า นัดแนะกับใครในแชท หรือกรณีเด็กถูกลักพาตัว เราก็ต้องกลับไปดูแผนข้อมูลคนร้ายที่ก่อเหตุในประเทศ พวกเขาใช้วิธีการแบบไหนลักพาเด็ก เราก็แกะรอยตาม ไม่ใช่สรุปว่า แก๊งรถตู้พาขึ้นรถ ในรอบสิบปีที่ผ่านมาไม่มีแบบนั้นแล้ว”

องค์ความรู้ในการค้นหาคนหายเชิงอาชญากรรมเป็นอีกเรื่องที่พวกเขาใช้เป็นเครื่องมือ บางกรณีไม่น่าจะติดตามเจอ แต่ก็เจอ  เขายกตัวอย่าง คนที่หายไปนานจนครบรอบ 6 ปี ถ้ายังมีชีวิตอยู่ ก็ต้องไปเปลี่ยนบัตรประชาชน บัตรประกันสังคม บัตรทอง บัตรประกันสุขภาพ แต่บางคนหายไปนานเกินปกติ ขาดการติดต่อกับครอบครัว ทั้งๆ ที่ไม่ได้มีพฤติกรรมแบบนั้น จึงประเมินได้ว่า คนหายลักษณะนี้เสียชีวิตแล้ว

“เมื่อเดือนที่แล้ว มีพริตตี้คนหนึ่งอาศัยอยู่ที่ชลบุรีหายตัวไปเมื่อ 6 ปีที่แล้ว ปกติเธอจะส่งเสียเงินให้พ่อแม่ เป็นห่วงพ่อแม่ เป็นคนที่ใส่ใจครอบครัว แต่หายไปไม่ส่งเงิน ไม่ติดต่อ เฟซบุ๊คที่โพสต์ทุกวัน ไม่โพสต์อีกเลย เราคิดว่า คนนี้เสียชีวิตแน่นอน”

กรณีนี้ เอกลักษณ์และทีมงานตามไปดูคนป่วยไม่ทราบชื่อทุกโรงพยาบาล ปรากฏว่า ไปเจอศพนิรนามที่ถูกฆาตกรรม ฝังไว้ในสุสาน

สื่อบันเทิงที่เล่าเรื่องผี ก็ต้องมีกรอบ ไม่ควรรุกล้ำความเป็นส่วนตัวของญาติที่สูญเสีย ควรมีความเห็นอกเห็นใจ สื่อไม่ควรผลิตซ้ำความเศร้าโศกเสียใจหรือความรุนแรงที่เกิดขึ้น

“คนนี้เสียชีวิตไปหกปีแล้ว ญาติก็ไปหาหมอดู ก็ไม่เจอศพ พอเจอศพ เราตรวจดีเอ็นเอเปรียบเทียบ หรือกรณีแม่หายไปและเสียชีวิตแล้ว ลูกก็จัดงานศพทำบุญให้ แต่มีผู้ผลิตรายการทีวีโทรมาตื้อให้ไปออกรายการ บอกว่า จะติดต่อแม่ที่เสียชีวิตให้ ทั้งๆ ที่ลูกเขาก็ลอยอังคารไปแล้ว

ผมมองว่าสื่อบันเทิงที่เล่าเรื่องผี ก็ต้องมีกรอบ ไม่ควรรุกล้ำความเป็นส่วนตัวของญาติที่สูญเสีย ควรมีความเห็นอกเห็นใจ สื่อไม่ควรผลิตซ้ำความเศร้าโศกเสียใจหรือความรุนแรงที่เกิดขึ้น

ผมไม่เชื่อเรื่องเชิญวิญญาณมาได้ คนผลิตรายการต้องถามตัวเองก่อนว่า ถ้าคนเหล่านั้นเป็นญาติของคุณ คุณอยากพูดซ้ำ ผลิตซ้ำไหม แล้วเชิญคนที่ตายจากความรุนแรงมาคุยไหม”