'ประยุทธ์' จ่อรื้อโควตาพรรคร่วม ยอมรับ '4 กุมาร' โควตานายกฯ

'ประยุทธ์' จ่อรื้อโควตาพรรคร่วม ยอมรับ '4 กุมาร' โควตานายกฯ

"4 กุมาร" เปิดแถลงลาออกจากสมาชิก พปชร. - "อุตตม" แจงภารกิจการเมืองลุล่วง "สนธิรัตน์" ยืนยันไม่ตั้งพรรคใหม่ ขณะที่ "ประยุทธ์" จ่อรื้อโควตา ครม. พรรคร่วม ยอมรับ 4 กุมารโควตานายกฯ พร้อมถก พปชร.เขย่าใหม่ เผยยังไม่ทาบทามคนนอก

ภายหลังที่พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ปรับโครงสร้างพรรค เมื่อวันที่ 27 มิ.ย.63 ที่ผ่านมา
โดยเปลี่ยนทีมผู้บริหารชุดใหม่ ผลักดัน พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ขึ้นเป็นหัวหน้าพรรค ขณะที่กรรมการบริหารพรรค(กก.บห.)ส่วนใหญ่ยังเป็นคนเดิม แต่ไม่มีชื่อ “กลุ่ม 4 กุมาร” ซึ่งประกอบด้วย นายอุตตม สาวนายน รมว.คลัง อดีตหัวหน้าพรรค นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รมว.พลังงาน อดีตเลขาธิการพรรค นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รมว.การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และนายกอบศักดิ์ ภูตระกูล รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี

ล่าสุด วานนี้ (9 ก.ค.) กลุ่ม 4 กุมาร ได้รวมตัวแถลงข่าวลาออกจากการเป็นสมาชิกพรรค พปชร.อย่างเป็นทางการ ที่โรงแรมเซ็นทารา แกรนด์ โดยนายอุตตม กล่าวว่า การทำงานร่วมกับพรรคมา 2 ปี ถือว่าภารกิจนำพาพรรคเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล ก้าวข้ามปัญหาต่างๆ ได้สำเร็จ โดยมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี และเวลานี้ถึงเวลาที่เหมาะสมแล้ว จึงขอยุติบทบาทในทางการเมืองกับพรรค พปชร.ที่มีผู้บริหารพรรคชุดใหม่เข้ามาทำหน้าที่ต่อไป

สำหรับพวกตน จะเดินหน้าทำหน้าที่ฝ่ายบริหาร ในตำแหน่งที่ได้รับมอบหมายจากนายกฯ และยังไม่ได้มีความคิดที่จะไปตั้งกลุ่ม หรือพรรคการเมือง ส่วนการจะปรับเปลี่ยนตำแหน่งใดๆ ในอนาคตเป็นเรื่องที่เข้าใจกันได้ โดยขึ้นอยู่กับนายกฯ เวลานี้ขอทำหน้าที่อย่างเต็มที่ ทั้งนี้พวกเราทำปัจจุบันให้เต็มที่ วันข้างหน้าเป็นเรื่องของวันข้างหน้า

นายสนธิรัตน์ กล่าวว่า เราไม่ได้ยึดติดกับตำแหน่ง และแยกแยะบทบาทในพรรค พปชร.กับฝ่ายบริหาร โดยจะทำหน้าที่ให้ถึงที่สุด ที่ผ่านมาพวกตนเป็นส่วนหนึ่งของ พปชร.แม้จะไม่เคยทำงานการเมือง แต่ก็สร้างพรรคจนเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล และอยากให้พรรคเข้มแข็ง เดินหน้าเป็นสถาบันการเมืองต่อไป และสายใยความผูกพันกับสมาชิกจะไม่หายไป ยังมีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน ยังเป็นครอบครัวกัน ไม่ได้ขัดแย้งกัน

ขีดเส้นใต้“ไม่คิดตั้งพรรค”

ผมเคยพูดเสมอว่า ไม่ถอดใจ การมาทำงานการเมืองคือความเสียสละ ทำหน้าที่ให้ดีตราบใดที่มีหน้าที่ จะทำให้ไม่ได้ยึดตำแหน่ง หรือหวังอะไร ก่อนตัดสินใจลาออกจากสมาชิกพรรค ได้บอกกล่าวกับ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี แล้ว ซึ่งท่านให้กำลังใจในการทำงาน แต่ไม่ได้แนะนำอะไรเพราะท่านเคารพการตัดสินใจของพวกเรา และขอให้ขีดเส้นใต้เอาไว้ได้เลยว่าไม่คิดตั้งพรรค” นายสนธิรัตน์ กล่าว

ปรับครม.ต้องหารือทุกพรรคร่วม

วันเดียวกันนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ตอบข้อถามสื่อมวลชนหลังการประชุมสภาความมั่นคงแห่งชาติ(สมช.)ที่ทำเนียบรัฐบาล ถึงเรื่องดังกล่าวว่า “ผมก็เคารพการตัดสินใจของทั้ง 4 คน ถือเป็นเรื่องภายในพรรค ส่วนผมก็ต้องเตรียมการพิจารณาว่า จะเดินหน้าอย่างไรต่อไป วันนี้ขอให้มั่นในตัวผม”

นายกฯ ยังข้อคำถามถึงการปรับเปลี่ยนคณะรัฐมนตรี (ครม.)ด้วยว่า "ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง ซึ่งเป็นวิถีทางการเมือง การเข้ามาเป็น ส.ส. การเข้ามาเป็นรัฐมนตรี การจะเข้ามาเป็น ครม. การเป็นพรรคร่วมรัฐบาลจะต้องมีการไปพูดคุยเจรจากันอีกครั้ง ผมยังไม่มีคำตอบให้ใคร ว่าใครจะเป็น ใครจะเข้า ใครจะออก เพราะเราต้องคุยกับพรรคการเมือง พรรคร่วมรัฐบาล ซึ่งเป็นไปตามกลไกทางการเมือง ขอให้ใจเย็นๆ” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่า เหตุที่ไม่กำหนดชัดเจนว่าจะปรับครม.เมื่อไหร่ เกรงจะเกิดการวิ่งเต้นขอตำแหน่งหรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวย้อนถามว่า “วิ่งกับใคร ผมก็ยืนยันว่า ใครจะวิ่ง ใครจะอะไร คนวิ่งมากๆ ก็อาจจะไม่ได้ ก็ได้ แต่ขอร้องว่าอย่าทำให้เกิดความสับสนอลหม่านได้หรือไม่ ใครจะวิ่ง ก็วิ่งไปเถอะ ผมจะตัดสินใจด้วยตัวของผมเอง และผมก็ต้องคุยกับหัวหน้าพรรคทุกพรรค

ยอมรับ 4 กุมารโควตานายกฯ

เมื่อถามต่อว่า กลุ่ม 4 กุมารไม่ได้เป็นสมาชิกพรรค พปชร. จะส่งผลต่อเก้าอี้รัฐมนตรีหรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า “เป็นเรื่องกลไกภายในพรรค เพราะสัดส่วนในการเข้ามาเป็นรัฐมนตรี มาจากพรรคการเมืองเป็นอันดับแรก โควตาคนนอกก็เป็นอีกส่วนหนึ่ง อย่าลืมว่าผมก็ไม่ได้เป็นสมาชิกพรรคพปชร. ฉะนั้นสัดส่วนรัฐมนตรีก็ต้องฟังจากพรรคเป็นหลัก การจะนำคนนอกเข้ามา ก็เป็นโควตาของเขา ซึ่งผมก็ขอเขามา และเขาก็ให้ผมเข้ามาตรงนี้ รวมทั้งมีรัฐมนตรีหลายคนที่มากับผมด้วย”

เมื่อถามว่ากรณีกลุ่ม 4 กุมาร ถือว่าเป็นโควตาของนายกฯ ใช่หรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า "เดิมก็เป็นเช่นนั้นอยู่ และเป็นตั้งแต่แรกอยู่แล้ว ดังนั้นวันนี้ต้องไปดูว่า โควตาเหมาะสมแล้วหรือยัง ใครจะได้เพิ่ม ใครจะได้ลดอย่างไร ก็ไปว่ากันอีกที และการลาออกของ 4 คนไม่ได้กดดันให้ต้องรีบปรับครม.

พร้อมถกโควตาใหม่-คนนอก

เมื่อถามว่า สัดส่วน ครม.ของนายกฯ เฉพาะตำแหน่งเดิมที่มีอยู่ใช่หรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า "ผมถึงถามว่า เมื่อเอาเขาเข้ามาแล้ว จำเป็นจะต้องคืนเขาหรือเปล่า ต้องคืนเขาบ้างไหม จะมีคนนอกเข้ามาได้ตรงไหน ก็ต้องไปคุยกันอีก เพราะก็ผ่านมา 1 ปีแล้ว ก็ต้องคุยกันใหม่”

เมื่อถามว่า มั่นใจหรือไม่ว่า ครม.ใหม่จะเป็นที่ยอมรับ พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ตนพูดแล้วว่า การยอมรับเป็นเรื่องยากมากพอสมควร ต้องไปดูมิติอื่นๆ ร่วมด้วย การยอมรับ ไม่ยอมรับ ก็เป็นเรื่องของความเชื่อมั่น เชื่อถือ บางส่วนที่คนอยากให้เข้ามาทำงาน เขาก็ไม่อยากจะมา แต่เราก็ต้องเลือกคนที่ดีที่สุด ทุกกระทรวง ยืนยันว่ายังไม่ได้ทาบใครเลย

ต่อข้อถามถึงกระแสข่าวเสนอชื่อพล.อ.อนุพงษ์ ​เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย มาเป็น รมว.กลาโหม แทน พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวย้อนถามว่า “ใครเสนอ ถ้าบอกว่ามีการเสนอตามหน้าข่าวต่างๆ ก็ต้องถามว่าใครเป็นคนเขียนข่าว เรื่องนี้ขอให้ฟังผมก็แล้วกัน”

เมื่อถามต่อว่า กระแสตีให้ “3 ป.” แตกกัน มีความเป็นไปได้หรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์ นิ่งเงียบก่อนที่จะกล่าวพร้อมส่ายศีรษะว่า “เป็นไปไม่ได้”

“ประวิตร”ชี้ยังทำงานร่วมกันได้

ด้านพล.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี หัวหน้าพรรคพปชร.ตอบคำถามผู้สื่อข่าวที่ทำเนียบรัฐบาล ถึงการลาออกของกลุ่ม 4 กุมารว่า รับทราบแล้ว และตนเคารพการตัดสินใจของแต่ละคน ตัดสินใจอย่างไร ก็เป็นเรื่องของท่าน ตนเคารพการตัดสินใจ จะเอาอย่างไรก็เป็นเรื่องของเขาแล้ว แต่เขาจะน้อยใจหรือไม่นั้น ตนไม่ทราบ

ผู้สื่อข่าวถามว่า ความรู้สึกของคนในพรรคจะทำอย่างไร พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า “ก็อยู่กัน ใครยังอยู่ก็อยู่ เพราะทุกคนก็รู้ว่าอะไรเป็นอะไร ไม่ต้องมาถามผม ในอนาคตก็ยังทำงานร่วมกันได้ เพราะทุกคนมีความตั้งใจทำงานให้กับประเทศชาติด้วยกันทั้งนั้น”

ฝ่ายค้านวอล์คเอาท์วาระรายงานปฏิรูป

วันเดียวกันนี้(9ก.ค.) ที่รัฐสภา มีการประชุมสภาผู้แทนราษฎร โดยมีนายสุชาติ ตันเจริญ รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ทำหน้าที่ประธาน ทั้งนี้ในวาระการพิจารณารับทราบรายงานความคืบหน้าในการดำเนินการตามแผนการปฏิรูปประเทศตามมาตรา 270 ของรัฐธรรมนูญ (เดือนต.ค.-ธ.ค.2562) ต่อจากการประชุมสภาฯ เมื่อวันที่ 8 ก.ค. ที่ผ่านมา ซึ่งมีการขอนับองค์ประชุม และปรากฏว่าองค์ประชุมไม่ครบจนสภาฯล่ม

โดย นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน พรรคเพื่อไทย อภิปรายว่า ระเบียบวาระนี้ตนได้อภิปรายไปแล้วว่าไม่ขอรับทราบรายงานฉบับนี้ เพราะไม่ใช่สภาตรายาง ถ้าหากเสียงข้างมากจะดำเนินการไปตาม ระเบียบวาระนั้นพวกตนก็ไม่ว่า แต่พวกตนขอไม่อยู่รับทราบในวาระนี้ หากเสร็จจากการพิจารณาในวาระนี้แล้ว พวกตนก็ยินดีที่จะกลับมาทำหน้าที่เหมือนเดิม จึงขออนุญาตออกจากห้องประชุม

จากนั้นส.ส.ฝ่ายค้านทยอยเดินออกจากห้องประชุมสภาฯทันที แม้ว่านายวิรัช รัตนเศรษฐ ประธานวิปฝ่ายรัฐบาล จะพยายามชี้แจงขั้นตอน และหลักการในการรับทราบรายงานว่า เป็นไปตามกระบวนการของกฎหมาย แต่ฝ่ายค้านก็ยังยืนยันที่จะไม่ขออยู่รับทราบรายงานฉบับนี้ ในที่สุดที่ประชุมสภาฯจึงเข้าสู่การพิจารณาตามระเบียบวาระต่อไป

ขณะที่นายเทพไท เสนพงศ์ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ อภิปรายว่า การเสนอรายงานฉบับนี้ ตามมาตรา 270 มีข้อถกเถียงในหมู่ ส.ส.จำนวนมาก ว่าชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือไม่ การกำหนดให้มีการรายงานทุก 3 เดือนนั้น เป็นสิ่งที่เป็นไปได้ยากมาก การเขียนรัฐธรรมนูญฉบับนี้ จึงไม่ต่างอะไรกับโลงศพ ที่คนทำไม่ได้ใช้ คนใช้ไม่ได้ทำ