เดิมพันเดินเกมธุรกิจใหม่ ฝ่ามรสุมโควิด-เศรษฐกิจฟุบ!!

เดิมพันเดินเกมธุรกิจใหม่  ฝ่ามรสุมโควิด-เศรษฐกิจฟุบ!!

เมื่อ "โลก"เต็มไปด้วยความไม่แน่นอน! หรือ VUCA World เหตุการณ์"ลบ" มากมายเกิดขึ้นแบบกะทันหัน พลิกผันธุรกิจ ผู้บริโภคไม่มีเวลาตั้งรับความเสี่ยง "โควิด" เป็นคลื่นดิสรัปธุรกิจระลอกแรก แต่ต้องระวัง!! คลื่นลูกสอง "เศรษฐกิจ" ขาลง ฉุดค้าขาย

“VUCA World” เป็นประโยคที่นักการตลาดหยิบยกมาพูดกันในวงกว้างหลายปีแล้ว แต่ที่มาของวรรคทองนี้เกิดจากเทรนด์ สถานการณ์ในโลกที่เต็มไปด้วยความสิ่งที่เหนือการคาดเดา เพราะทุกอย่างเปลี่ยนแปลงตลอด หากเรียงตามตัวอักษร ประกอบด้วย ความผันผวนที่เกิดขึ้นตลอดเวลา (Volatility) ความแน่นอนถูกแทนที่ด้วยความไม่แน่นอน (Uncertainty) แถมด้วยความสลับซับซ้อนยิ่งขึ้น (Complexity) และอะไรๆก็ไม่ชัดเจน มีความคลุมเครือไปหมด (Ambiguity) เห็นภาพแบบนี้ นักการตลาดพลิกเกมทำตลาดค้าขายสินค้าอย่างไรให้เติบโต สมาคมการตลาดแห่งประเทศไทยยังคงระดมกูรูการตลาดมาแนะวัคซีนสู้โรคโควิด-19 

ล่าสุด  อนุวัตร   เฉลิมไชย  นายกสมาคมการตลาดแห่งประเทศไทย ที่เพิ่งดำรงตำแหน่งหมาดๆและเป็นสมัยที่ 3 มาถกหัวข้อ "การตลาดฝ่าวิกฤติ unlock the situation, unleash your potential"หลังไทยปลดล็อกธุรกิจให้กับมาค้าขายได้แล้ว

อนุวัตร เริ่มต้นฉายภาพ VUCA world ย้ำผู้ประกอบการเพื่อให้รู้ทิศทางโลกธุรกิจกำลังเผชิญสิ่งที่เต็มไปด้วยความไม่แน่นอน ตั้งแต่ต้นปีวิกฤติราคาน้ำมันแพง ซ้ำด้วยดาบสอง สงครามการค้าระหว่างมหาอำนาจเศรษฐกิจโลกสหรัฐ VS จีนทุบซ้ำด้วย โรคโควิด ระบาด ขณะที่สึนามิที่ต่อคิวทำลายล้างธุรกิจคือ เศรษฐกิจ” ที่พังเสียหายมหาศาล สิ่งเหล่านี้ยังกระเทือนผู้บริโภคและทำให้ทั้งผู้ขายและผู้ซื้อต้องปรับตัวเพื่ออยู่รอด !

โลกไม่ได้รับมือโรคระบาดครั้งนี้ และไม่คิดว่าโควิดจะดิสรัปซัพพลายเชนขนาดนี้ ทุกคนโดนหมด ธุรกิจเล็กใหญ่ ไม่มีใครได้รับข้อยกเว้น” เขาเล่าพร้อมยกตัวอย่างธุรกิจที่ล้มเป็นโดมิโน ทั้งห้างค้าปลีก สายการบินเล็กใหญ่เจ๊งระนาว เพราะรับมือกับปัจจัยลบแบบไม่ทันตั้งตัว

ทว่า ธุรกิจกลับมาดำเนินการได้ปกติ จะพลิกตำราอย่างไรเพื่อไปต่อ อนุวัตร หยิบธุรกิจ 2 ประเภทที่จะเห็นหลังเปิดบริการ กลุ่มแรกคือตลาดหายไป ได้รับผลกระทบอยู่ย่ำแย่ต่อเนื่องจากช่วงโควิด เช่น การท่องเที่ยว การค้าขายที่หวังกำลังซื้อนักท่องเที่ยวต่างชาติขณะที่อีกกลุ่มเติบโตในช่วงวิกฤติแล้ว จากนี้จะติดลมบนยิ่งขึ้น เช่น ร้านอาหารที่ส่งถึงบ้าน บริการดิลิเวอรี และการส่งพัสดุถึงผู้บริโภค(Last mile)

ทั้งนี้ ไม่ว่าผู้ประกอบการอยู่กลุ่มไหน นี่เป็นจังหวะต้องพลิกเกมธุรกิจครั้งใหม่ หรือ Reinvent ตัวเอง ที่ผ่านมาตัวอย่างแบรนด์ฉีกกรอบ ปรับตัวเร็วรับสถานการณ์ เช่นหลุยส์ วิตตองแบรนด์หรูผลิตเจล แอลกอฮอล์ แบรนด์ความงามลอรีอัลผลิตหน้ากาก แบรนด์ได้ใจจากผู้บริโภค และได้ช่วยสังคมอีกด้วย ยิ่งกว่านั้นต่อยอดธุรกิจได้ ในไทยเชฟบางรายผันตัวเป็น เชฟเทเบิ้ล เสิร์ฟความอร่อยถึงบ้าน ชาบู ไม่ได้ขายแค่วัตถุดิบ แต่พ่วงหม้อโด่งดังจีคิวจากขายเสื้อผ้าสู่หน้ากากแม้โควิดคลี่คลายยังลุยต่อเป็นการแตกไลน์ขยายธุรกิจให้โต เป็นต้น

การตัดทอน หรือ Reduce เมื่อความต้องการ (Damand) ตลาดหายไป จะผลิต(Supply)เท่าเดิมไมได้ จึงเห็นสายการบินลดเส้นทาง ตารางการบินให้สอดคล้องสถานการณ์ การปรับขนาดหรือ Rescaling จำเป็นมาก นาทีนี้องค์กรต้องทำให้ตัวให้เบาเพื่อเคลื่อนทัพให้เร็ว(Agile) มุ่งประหยัดต้นทุน ค่าใช้จ่าย รักษากระแสเงินสด พยุงธุรกิจให้อยู่รอด การลงทุนไหนไม่จำเป็นเบรกไว้ก่อน แต่หากต้องการขยับขยายต้องเพิ่มความระมัดระวัง อย่าลงทุนเกินตัว เพราะหากเจอวิกฤติใหม่จะกลับตัวไม่ทัน

นอกจากนี้ หากกลับมาเปิดใหม่(Reopening)แล้วไม่รอด อาจต้องจอดหรือ Retire เพราะจินตนาการหรือ Re-imagination ธุรกิจอยู่กับโลกใหม่ เพื่อหากลยุทธ์ที่ เหล่านี้อาจช่วยให้ธุรกิจกลับไปยืนหยัดได้อีกครั้งหรือ Return 

ภาวะแบบนี้ทุกคนยังวางใจไม่ได้ ต้องระวังอยู่ ช่วงโควิดเรียกว่าแย่สุดๆแล้ว แต่อาจไม่ใช่ เพราะหนทางข้างหน้ายังมีความไม่แน่นอนอีกมาก อาจมีสึนามิมาอีกลูก โรคเป็นสึนามิลูกแรก และผลกระทบยังเกิดขึ้นไม่เต็ม ตอนนี้หลายบริษัทยังไม่เดือดร้อนหนักจนกระทบการจ้างงาน ดังนั้นสิ่งที่น่าห่วงคือสึนามิลูกสองจากภาวะเศรษฐกิจ 

สำหรับศาสตร์พื้นฐานที่ย้ำเสมอ คือส่วนประสมทางการตลาด (4Ps) ยังเป็นหัวใจสำคัญช่วยให้ผู้ประกอบการก้าวข้ามวิกฤติได้ โดยสินค้า (Product) ต้องดี มีคุณภาพ มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ต้นตำรับตัวจริงหาที่ไหนไม่ได้ ช่องทางจำหน่าย (Place) นาทีนี้การพึ่งพาระบบนิเวศค้าขาย โปรโมท ผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ทั้งมาร์เก็ตเพลส โซเชียลคอมเมิร์ซ สำคัญ ส่วนราคา(Price) และกิจกรรมส่งเสริมการขาย(Promotion)ต้อง คุ้มค่า” ใจกว้างแถมให้ผู้บริโภคกลุ่มเป้าหมายยามยากย่อมได้ใจ ไม่ใช่มุ่งแค่ยอดขายและกำไร