‘แบงก์ชาติ’เปิดเฮียริ่ง เก็บค่าฟีธุรกิจชำระเงิน

‘แบงก์ชาติ’เปิดเฮียริ่ง  เก็บค่าฟีธุรกิจชำระเงิน

“แบงก์ชาติ” เล็งเรียกเก็บค่าธรรมเนียมผู้ประกอบธุรกิจระบบชำระเงินภายใต้กำกับ โดยจะเปิดรับฟังความเห็นจากผู้เกี่ยวข้องถึง 20 ก.ค.นี้ ก่อนมีผลบังคับใช้จริงต้นปีหน้า หวังมีระบบชำระเงินที่หลากหลาย หนุนผู้บริโภคเข้าถึงบริการได้มากขึ้น เผยค่าธรรมเนียมสูงสุด

ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ออกร่างประกาศ เรื่อง การกำหนดค่าธรรมเนียมการประกอบธุรกิจ ระบบชำระเงินภายใต้กำกับและบริการชำระเงินภายใต้การกำกับ เพื่อสนับสนุนการประกอบธุรกิจระบบการชำระเงินและบริการการชำระเงินที่หลากหลาย เพื่อส่งเสริมประสิทธิภาพและการเข้าถึงบริการทางการเงินของผู้ใช้บริการ ซึ่งจะเอื้อประโยชน์แก่เศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ โดยกำกับดูแลระบบการชำระเงินและบริการการชำระเงินให้มีความปลอดภัย มีประสิทธิภาพ ให้บริการได้อย่างต่อเนื่อง และคุ้มครองผู้ใช้บริการ อย่างเหมาะสมมาตั้งแต่การออกพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการควบคุมดูแลธุรกิจบริการการชำระเงิน ทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2551 และยกระดับเป็นพระราชบัญญัติระบบการชำระเงิน พ.ศ. 2560

อย่างไรก็ดี เพื่อให้มีกลไกคัดสรรผู้ประกอบธุรกิจที่มีศักยภาพ มีความน่าเชื่อถือ และประกอบธุรกิจได้ อย่างต่อเนื่องในระยะยาว ธปท. โดยความเห็นชอบของกระทรวงการคลังเห็นควรให้เริ่มเก็บค่าธรรมเนียมการประกอบธุรกิจระบบการชำระเงินและบริการการชำระเงินภายใต้การกำกับ ตามที่ได้แจ้งไว้ในประกาศ ธปท. เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการขออนุญาตประกอบธุรกิจ ให้ผู้ประสงค์จะประกอบธุรกิจได้ทราบและเตรียมตัวมาตั้งแต่ปี 2561 แล้ว

ในการนี้ ธปท. ได้จัดทำร่างประกาศ ธปท. เรื่องการกำหนดค่าธรรมเนียม การประกอบธุรกิจระบบชำระเงิน โดยกำหนดอัตราค่าธรรมเนียมที่สะท้อนถึงความสำคัญ และความเสี่ยงของการประกอบธุรกิจแต่ละประเภทที่มีต่อระบบเศรษฐกิจ และกำหนดระยะเวลาการเริ่มเก็บค่าธรรมเนียม ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.2564 เป็นต้นไป ทั้งนี้ เพื่อให้ ธปท. ได้รับข้อมูลประกอบการพิจารณาอย่างครบถ้วน ธปท. จึงเปิดให้แสดงความคิดเห็นต่อร่างประกาศดังกล่าว จนถึง 20 ก.ค. 2563 นี้

ทั้งนี้ ธปท. กําหนดค่าธรรมเนียมการประกอบธุรกิจระบบการชําระเงินภายใต้การ กํากับและบริการการชําระเงินภายใต้การกํากับ โดยแบ่งออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่ ค่าธรรมเนียมใบอนุญาต และ ค่าธรรมเนียมใบแทน กรณีใบอนุญาตเดิมสูญหาย ถูกทําลาย หรือชํารุดเสียหายในสาระสําคัญ

ด้านอัตราค่าธรรมเนียม แบ่งตามประเภทการประกอบธุรกิจ ประกอบด้วย การให้บริการระบบโอนเงินรายย่อยระหว่างผู้ใช้บริการของระบบจํานวน 100,000 บาท , การให้บริการระบบเครือข่ายบัตร จํานวน 100,000 บาท ,การให้บริการระบบการชําระดุล จํานวน 400,000 บาท

ขณะที่ การประกอบธุรกิจบริการการชําระเงินภายใต้การกํากับ กําหนด ค่าธรรมเนียมจําแนกตามประเภทธุรกิจ ดังนี้ การให้บริการบัตรเครดิต บัตรเดบิต หรือบัตรเอทีเอ็ม จํานวน 200,000 บาท ,การให้บริการเงินอิเล็กทรอนิกส์จํานวน 200,000 บาท , การให้บริการรับชําระเงินด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ ได้แก่ การให้บริการแก่ผู้รับบัตร จํานวน 100,000 บาท และการให้บริการสนับสนุนบริการแก่ผู้รับบัตร จํานวน 20,000 บาท , การให้บริการรับชําระเงินแทน จํานวน 20,000 บาท