ไทยบีเอ็มเอ ยัน ‘หุ้นกู้’ ฟื้นชัด ‘ไฮยิลด์บอนด์’ เริ่มขายเกลี้ยง

ไทยบีเอ็มเอ ยัน ‘หุ้นกู้’ ฟื้นชัด ‘ไฮยิลด์บอนด์’ เริ่มขายเกลี้ยง

‘ไทยบีเอ็มเอ’ เผยความเชื่อมั่นตลาดหุ้นกู้เอกชนฟื้นชัด หลังยอดขายเริ่มกลับสู่ภาวะปกติ มั่นใจช่วงที่เหลือของปีไม่มีเบี้ยวหนี้เพิ่ม พร้อมประเมินยอดออกหุ้นกู้ใหม่ปีนี้ไม่ต่ำกว่า 8 แสนล้าน คาดครึ่งปีหลังจ่อระดมทุนอีกเพียบ ส่วน ‘ทุนนอก’ เริ่มไหลกลับ ต้นก.ค

สถานการณ์การออกเสนอขายตราสารหนี้ภาคเอกชน (หุ้นกู้) เริ่มมีสัญญาณดีขึ้นต่อเนื่อง สะท้อนจากผู้ออกหุ้นกู้สามารถเสนอขายได้ใกล้เคียงกับมูลค่าที่ต้องการระดมทุนมากขึ้น โดยเฉพาะหุ้นกู้ที่มีอันดับเครดิตความน่าเชื่อถือ (เครดิตเรทติ้ง) ต่ำกว่าระดับ BBB+ ลงมาและหุ้นกู้กลุ่มที่ไม่มีเครดิตเรทติ้ง (ไฮยิลด์บอนด์) ที่สามารถกลับมาขายได้หมดเกลี้ยงทั้งจำนวนหรือคิดเป็นสัดส่วน 100% ของหุ้นกู้ที่เสนอขายทั้งหมด

นายธาดา พฤฒิธาดา กรรมการผู้จัดการ สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA) กล่าวว่า นับตั้งแต่เดือน เม.ย. เป็นต้นมา หุ้นกู้ที่มีอันดับเครดิตเรทติ้งตั้งแต่ BBB- ถึง BBB+ มีสัดส่วนยอดขายลดลงมาอยู่ที่ 41.4% ก่อนจะเริ่มปรับตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 93% ในช่วงเดือน พ.ค.2563 และกลับเข้าสู่ภาวะปกติหรือขายได้ครบตามสัดส่วน 100% ในเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมา 

159434428455

ส่วนหุ้นกู้ผลตอบแทนสูง(ไฮยิลด์บอนด์) พบว่า สัดส่วนยอดขายเริ่มกลับเข้าสู่ภาวะปกติแล้วเช่นกัน โดยยอดขายของหลายบริษัทเริ่มกลับมาครบ 100% ในช่วงเดือนมิ.ย.ที่ผ่านมา จากเดิมในช่วงเดือนเม.ย.ที่ยอดขายลดลงมาอยู่ที่ระดับ 34.6% และกระเตื้องขึ้นมาระดับ 87.6% ในช่วงเดือน พ.ค.2563

นายธาดา กล่าวด้วยว่า ช่วงครึ่งแรกของปีนี้ พบว่า มีหุ้นกู้ภาคเอกชนที่ปรับโครงสร้างและขอขยายระยะเวลาวันครบกำหนดไถ่ถอนจำนวน 10 บริษัท ซึ่งคิดเป็นมูลค่ารวม 7,247 ล้านบาท โดยทั้งหมดเป็นหุ้นกู้ที่มีอันดับเครดิตเรทติ้งที่ระดับ BB+ และกลุ่มที่ไม่มีเครดิตเรทติ้ง (Non-rated) ซึ่งระยะเวลาที่ขอขยายเฉลี่ยประมาณ 6 เดือนถึง 2 ปี 

อย่างไรก็ตามเชื่อว่าไม่น่าเป็นห่วง เพราะบริษัทส่วนใหญ่เป็นบริษัทที่จดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ฯ รวมทั้งคาดว่าไม่น่าจะมีประเด็นการผิดนัดชำระหนี้ (Default) ไปจนถึงช่วงสิ้นปีนี้

“ปกติคนที่จะออกหุ้นกู้มักจะต้องเตรียมแผนการชำระหนี้ไว้ตั้งแต่ก่อนวันที่เสนอขายหุ้นกู้แล้ว ซึ่งคงไม่หวังแต่จะ Roll over เท่านั้น ขณะที่หากมีปัญหาระหว่างทางก็อาจมีการขออนุญาตผู้ถือหน่วยขยายเวลาการไถ่ถอนออกไปได้ อย่างไรก็ตามเท่าที่ได้พูดคุยกับผู้ที่ออกและแบงก์ในฐานะเจ้าหนี้ร่วม ส่วนใหญ่มองว่าหุ้นกู้ที่มีอยู่ยังสามารถบริหารจัดการได้และคาดว่าคงไม่มีการ Default แล้วหลังจากนี้”

สำหรับยอดออกหุ้นกู้ในปีนี้ คาดว่า จะไม่ต่ำกว่า 8 แสนล้านบาท หลังจากในช่วงครึ่งปีแรกออกไปแล้วกว่า 3.23 แสนล้านบาท ซึ่งแม้ว่าในช่วงเดือนเม.ย.-พ.ค.ยอดการออกจะชะลอตัวไปบ้าง แต่ในช่วงครึ่งปีหลังจะมีการออกหุ้นกู้กว่า 4.6 แสนล้านบาท เนื่องจากพบว่าจะมีหุ้นกู้ที่จะครบกำหนดอายุและคาดว่าจะออกหุ้นกู้ใหม่เพื่อทดแทนหุ้นกู้เดิม (Roll over) กว่า 3 แสนล้านบาท รวมถึงคาดว่าจะมีการออกหุ้นกู้ชุดใหม่อีกกว่า 1.6 แสนล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นบริษัทพลังงานทางเลือกที่ต้องการระดมทุนไปซื้อกิจการหรือขยายการลงทุนในต่างประเทศ

ส่วนแนวโน้มฟันด์โฟลว์ต่างชาติในช่วงครึ่งปีหลังคาดว่าจะมีการไหลออกน้อยลงและมีโอกาสที่ไหลกลับเข้ามาได้ หลังจากช่วงครึ่งปีแรกมีเม็ดเงินต่างชาติไหลออกอยู่ประมาณ 1.08 แสนล้านบาท โดยพบว่านักลงทุนต่างชาติเริ่มโยกเม็ดเงินเข้ามาในช่วงเดือนมิ.ย.ที่ผ่านมาราว 2.32 หมื่นล้านบาทและในช่วงต้นเดือน ก.ค.นี้ไหลเข้ามาแล้วกว่า 1.17 หมื่นล้านบาท เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 ในไทยที่มีทิศทางดีขึ้น อย่างไรก็ตามคาดว่าเม็ดเงินต่างประเทศน่าจะมีแนวโน้มไหลเข้ามาอย่างระมัดระวัง เนื่องจากยังมีความเสี่ยงของภาวะเศรษฐกิจไทยที่อาจได้รับผลกระทบจากการพึ่งพิงภาคการท่องเที่ยวและการส่งออกเป็นหลัก