มรสุมถาโถม ‘เอโอที’ หวั่นถูกเบี้ยวหนี้-แก้สัมปทาน?

มรสุมถาโถม ‘เอโอที’  หวั่นถูกเบี้ยวหนี้-แก้สัมปทาน?

การระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 หรือ โควิด-19 สร้างความเสียหายอย่างหนักต่อภาคการท่องเที่ยวไทย ซึ่งเป็นหนึ่งในรายได้หลักของประเทศ คิดเป็นสัดส่วนราว 12% ของจีดีพี

อุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง ทั้งโรงแรม สายการบิน สนามบิน ร้านค้าร้านอาหาร บริษัทนำเที่ยว ฯลฯ ต่างได้รับผลกระทบไปตามๆ กัน หลังรัฐบาลใช้ยาแรงคุมไวรัส ประกาศล็อกดาวน์ปิดประเทศ ห้ามสายการบินทั่วโลกเข้าไทยตั้งแต่เดือน เม.ย. ที่ผ่านมา

ส่งผลให้ตัวเลขนักท่องเที่ยวต่างชาติเป็น “ศูนย์” มา 3 เดือนติดต่อกันแล้ว (เม.ย.-มิ.ย. 2563) ส่วนตลาดไทยเที่ยวไทยเริ่มฟื้นตัว หลังการระบาดของไวรัสเริ่มผ่อนคลาย ไม่พบผู้ป่วยติดเชื้อใหม่ในประเทศมากว่า 1 เดือน นำมาสู่การปลดล็อกกิจการกิจกรรมในแทบทุกธุรกิจ

ช่วงนี้จึงได้เห็นคนไทยเริ่มออกมาท่องเที่ยว เดินทางใช้จ่ายกันมากขึ้น โดยเฉพาะในช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์ แห่งท่องเที่ยวต่างๆ ทั่วประเทศกลับมาคึกคักอีกครั้ง แต่ก็คงไม่สามารถชดเชยตลาดต่างชาติที่หายไปได้

เมื่อนักท่องเที่ยวต่างชาติยังถูกจำกัดการเดินทาง จึงส่งผลกระทบเต็มๆ กับผู้ประกอบการสายการบินและสนามบิน เพราะผู้โดยสารแทบไม่มี สนามบินที่เคยคึกคักจนแทบรองรับผู้โดยสารไม่พอ แต่ทุกวันนี้กลับร้างผู้คน บรรยากาศเงียบเหงาไปถนัดตา

ถือเป็นอีกปีที่วิกฤตสำหรับ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ AOT เจ้าของสัมปทานสนามบิน 6 แห่ง ของประเทศ ได้แก่ สุวรรณภูมิ, ดอนเมือง, เชียงใหม่, แม่ฟ้าหลวง เชียงราย, ภูเก็ต และหาดใหญ่

สะท้อนจากตัวเลขปริมาณการจราจรทางอากาศที่ลดลงอย่างฮวบฮาบในช่วง 8 เดือนที่ผ่านมา ของปีงบประมาณ 2562/2563 (ต.ค. 2562 - พ.ค. 2563) โดยมีจำนวนเที่ยวบินเข้าออกทั้งหมด 425,900 เที่ยวบิน ลดลง 29.80% และ ผู้โดยสารรวม 64.20 ล้านคน ลดลง 33.94% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน กระทบรายได้จากการบิน (Aeronautical Revenue) ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนราวๆ 60% ของรายได้รวมลดวูบ

และดูแล้วอุตสาหกรรมการบินคงไม่ได้ฟื้นตัวง่ายๆ ส่วนความหวังที่จะเปิดประเทศจับคู่ท่องเที่ยว (Travel Bubble) คงไม่ได้เกิดขึ้นง่ายๆ เพราะหลายประเทศที่เราหวังจะเปิดบ้านต้อนรับยังพบการระบาดอยู่ ดังนั้นคงต้องเลื่อนเปิดประเทศออกไปก่อน

ส่วนรายได้ที่ไม่เกี่ยวกับการบิน (Non-Aeronautical Revenue) เช่น ค่าเช่าพื้นที่สำนักงาน ค่าบริการ รายได้จากส่วนแบ่งผลประโยชน์ สาหัสไม่แพ้กัน หลังมีการออกมาตรการช่วยเหลือลูกค้า ด้วยการปรับลดค่าเช่าพื้นที่ และส่วนแบ่งรายได้จากคู่สัญญา

โดยเฉพาะสัญญาสำคัญ พื้นที่ร้านค้าปลอดภาษี หรือ ดิวตี้ฟรี ซึ่งปัจจุบันได้ยกเว้นประกันรายได้ขั้นต่ำ(Minimum Guarantee) ให้กับ “คิงเพาเวอร์” โดยให้จ่ายส่วนแบ่งรายได้เพียง 50% ไปถึงสิ้นเดือน มี.ค. 2565 ซึ่งประเด็นนี้ถูกพูดถึงกันเยอะ เพราะปีที่ผ่านมา “คิงเพาเวอร์” พึ่งคว้า 3 สัญญาใหญ่ดิวตี้ฟรีและพื้นที่เชิงพาณิชย์สนามบินสุวรรณภูมิ และดิวตี้ 3 สนามบินภูมิภาค “ภูเก็ต-หาดใหญ่-เชียงใหม่” โดยชนะคู่แข่งไปอย่างขาดลอย

ทั้งนี้ ตามสัญญา AOT จะได้รับผลตอบแทนขั้นต่ำปีแรก 2.35 หมื่นล้านบาท แต่เมื่อสถานการณ์เปลี่ยนไปเกิดโรคโควิดขึ้น ทำให้มีคำถามตามมามากมายว่า บริษัทจะเสียผลประโยชน์หรือไม่? ผลตอบแทนที่ได้รับยังคงเดิมตามที่เอกชนเสนอมาเมื่อครั้งเปิดประมูลมั้ย? หรือ ต้องปรับแก้เงื่อนไขอย่างไร? เลื่อนจ่ายค่าไลเซนส์? ยืดอายุสัมปทาน? หรือ สุดท้ายแล้วทุกอย่างยังเหมือนเดิม? ต้องติดตามกันต่อไป

มรสุมของ AOT ยังไม่หมดเท่านี้ เพราะโครงการลงทุนต่างๆ ต้องชะลอออกไปด้วย เช่น โครงการก่อสร้างอาคารผู้โดยสารสนามบินสุวรรณภูมิ ส่วนขยายทางทิศเหนือ (Terminal 2) มูลค่า 4.2 หมื่นล้านบาท คงต้องเลื่อนการพัฒนาออกไปก่อนตามสถานการณ์ เพราะกว่าที่การท่องเที่ยวระหว่างประเทศจะกลับสู่ภาวะปกติคงต้องใช้เวลาอย่างน้อย 2-3 ปี

นอกจากนี้ หลังบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) หรือ THAI เข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการตามกฎหมายล้มละลาย และมีข่าวว่าจะขอให้ AOT ยกเลิกหนี้หรือลดหนี้ให้ กลายเป็นความเสี่ยงของบริษัทที่อาจต้องตั้งสำรองหนี้ส่วนนี้ โดย ปัจจุบัน THAI มีภาระหนี้สินกับ AOT รวม 3 พันล้านบาท แบ่งเป็น ค่าเช่าพื้นที่ฝ่ายช่างสนามบินดอนเมือง 2 พันล้านบาท และ ลูกหนี้การค้าอีกราว 1 พันล้านบาท

จากมรสุมที่กำลังถาโถมเข้ามาพร้อมๆ กันนี้ ทำให้หุ้น AOT ดูยังไม่น่าสนใจ เชื่อว่าถ้าแผนการขยายสนามบินถูกเลื่อนออกไป มีการออกมาตรการช่วยเหลือคู่สัญญาเพิ่มเติม หรือ ในกรณีเลวร้ายสุดหากพบการระบาดรอบใหม่ขึ้น ล้วนเป็นปัจจัยลบกดหุ้น AOT ถูกทิ้งดิ่งได้ตลอดเวลา

ไม่แปลกที่ระยะนี้จะมีแรงเทขายออกมาอีกครั้ง หลังมีข่าวลบเข้ามาเป็นระยะ กดราคาหุ้น AOT ลงมา 4 วันติดแล้ว ร่วงกว่า 9% ล่าสุดวานนี้ (9 ก.ค.) ลงมาปิดที่ 56.25 บาท ลดลง 1.25 บาท หรือ 2.17% แถมมีรายการบิ๊กล็อตอีกกว่า 30 ล้านหุ้น ราคาเฉลี่ยสูงกว่ากระดาน 57.47 บาท คิดเป็นมูลค่ารวมกว่า 1,761 ล้านบาท