Industry Consolidation สัญญาณหลังวิกฤติ

Industry Consolidation สัญญาณหลังวิกฤติ

จุดยืนของ CEO วันนี้ ต้องตัดสินว่าอะไรดีที่สุดสำหรับองค์กร จะเลือกเป็นผู้ซื้อเพื่อโอกาสในการเติบโต หรือเลือกเป็นผู้ขายเพื่อรักษาฐานที่มั่นบางส่วนเอาไว้ ซึ่งภาพต่อไปคือ Industry Consolidation ที่นำไปสู่ Competitive Landscape ในแต่ละอุตสาหกรรม

ช่วงนี้ข่าวคราวเรื่องการซื้อและควบรวมกิจการของกลุ่มธุรกิจในสายเทคโนโลยีกำลังเกิดขึ้นต่อเนื่อง กลายเป็นว่ามูลค่าดีลที่เป็น Global M&A ในช่วงไตรมาสแรกและไตรมาสสองที่ถึง แม้ภาพรวมจะต่ำกว่าปี 2019 ถึง 35% แต่ในกลุ่มที่เป็นธุรกิจ Technology กลับลดลงเพียงแค่ 15%

และยังมีดีลยักษ์ๆ ที่น่าสนใจเกิดขึ้น เช่น การเข้าไปลงทุนของ Facebook ใน Telco รายใหญ่ของอินเดียอย่าง Reliance Jio โดยใช้เงินลงทุนถึงเกือบหกพันล้านเหรียญสหรัฐ Amazon เข้าไปลงทุนใน SME Lending Platform ในอินเดีย กลุ่มธุรกิจยักษ์ใหญ่สายเทคโนโลยี FAMGA ( Facebook, Amazon, Microsoft, Google, Apple) ดูเหมือนจะเคลื่อนไหวในเชิงรุกมากขึ้นกับการเลือกซื้อกิจการใหม่ๆ เข้ามาเสริมทัพ 

ล่าสุด Apple เข้าซื้อ 3 บริษัทด้าน VR และ Speech Recognition เช่นเดียวกันกับ Google ที่ทุ่มเงินกว่า 180 ล้านเหรียญเพื่อซื้อ North สตาร์ทอัพที่พัฒนา Smart Glass และมีแนวโน้มที่จะเข้าซื้อบริษัทที่เป็นรายใหญ่ด้าน Cloud Management Services รายหนึ่ง Microsoft เข้าซื้อ 2 สตาร์ทอัพด้าน 5G Cloud และ IoT Security

ฟากฝั่งเอเชียก็ดูเหมือนจะคึกคักไม่แพ้กัน ที่ Tencent ได้เข้าไปซื้อกิจการของ Iflix แพลตฟอร์ม Video Streaming ของมาเลเซีย เพื่อขยายตลาดและฐานลูกค้าในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

และในบ้านเราล่าสุดก็เพิ่งเกิดดีลใหม่ สตาร์ทอัพไทยที่มีมูลค่าธุรกิจหลายพันล้านบาทอย่าง Eko เข้าซื้อกิจการ Enterprise Chatbot และควบรวมตั้งบริษัทใหม่เพื่อขยายฐานลูกค้าและเพิ่มบริการใหม่ให้กับกลุ่มลูกค้าองค์กร

เมื่อวิกฤติกลายเป็นโอกาสที่ต้องฉกฉวยสำหรับผู้เล่นรายใหญ่ อะไรทำให้ CEO ของบริษัทยักษ์ใหญ่หลายแห่งแทนที่จะเล่นบทตั้งรับและใช้นโยบาย Wait & Watch ในช่วงเศรษฐกิจขาลง แต่กลับหันมารุกหนักในการแสวงหาโอกาสใหม่ๆด้วยการเข้าซื้อกิจการ คำตอบไม่ได้อยู่ที่ว่า มูลค่าบริษัทหรือ Valuation ของบริษัทที่ดูดีมีศักยภาพหลายบริษัทลดลงทำให้ได้ซื้อกิจการที่ “ถูกและดี”

แต่ถ้ามองดูให้ลึกลงไปถึงเหตุผลในเชิงกลยุทธ์ ปัจจัยทางการเงินอาจจะเป็นแค่ตัวเร่งเท่านั้น แก่นแท้ของการซื้อกิจการหรือควบรวมธุรกิจที่อยู่ในสนามแข่งขันเดียวกันเข้ามาอยู่ภายใต้ร่มเงาในช่วงเวลาแบบนี้ คือวิสัยทัศน์ของผู้นำที่มี “Forward Thinking”

นั่นคือ มองเห็นภาพใหญ่ว่าผลกระทบของ The New Normal จะทำให้ Competitive Landscape ของอุตสาหกรรมเปลี่ยนไปอย่างไร โมเดลธุรกิจใหม่ๆ ที่กำลังจะเกิดขึ้นจะส่งผลกระทบกับธุรกิจปัจจุบันมากน้อยแค่ไหนและอะไรจะเป็นหมากที่สำคัญในการขยายผลทางธุรกิจเมื่อเปิดหมากกระดานใหม่หลัง Covid-19

การวิเคราะห์ปัจจัยแวดล้อมทางธุรกิจที่จะเกิดขึ้นหลังจากนี้เป็นสิ่งที่ทุกองค์กรต้องให้ความสำคัญ เพราะการเปลี่ยนแปลงจะนำไปสู่กลไกขับเคลื่อนอุตสาหกรรมที่แตกต่างไปจากเดิม องค์กรธุรกิจจำเป็นต้องมี New Growth Engine เพื่อรักษาขีดความสามารถในการแข่งขันและสร้างความเติบโต

ข้อมูลที่น่าสนใจจากการวิเคราะห์ผลประกอบการของบริษัทที่ปรึกษาชั้นนำอย่าง Accenture ระบุว่า บริษัทที่ซื้อกิจการในช่วงเศรษฐกิจขาลงมีแนวโน้มที่จะมีผลตอบแทนในการลงทุน (Total Shareholder Value) สูงกว่าบริษัททั่วไปที่ไม่ได้มีการลงทุนซื้อกิจการ และที่สำคัญก็คือในสภาวะการเศรษฐกิจถดถอยที่เคยเกิดขึ้นแล้วในทุกยุคทุกสมัย บริษัทที่ใช้กลไกของการซื้อกิจการหรือควบรวมธุรกิจมักจะฝ่าด่านทดสอบอันยากลำบากไปได้และจะมีผลประกอบการแซงหน้าธุรกิจที่ไม่ได้ทำอะไรเลย 

วิกฤติที่เกิดขึ้นในอดีตทำให้เกิดการควบรวมภายในอุตสาหกรรมอย่างชัดเจนเช่น วิกฤติการเงินโลกในปี 2008 ทำให้เกิดการควบรวมของธุรกิจในกลุ่ม Banking และ Travel

วิกฤติครั้งนี้ก็เช่นกัน รายงานของ Accenture ที่วิเคราะห์มูลค่าบริษัทของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ทั่วโลกในช่วงไตรมาสแรกเมื่อเริ่มเกิดวิกฤติ Covid-19 พบว่า Market Capitalization ของบริษัทในอุตสาหกรรมต่างๆ มีมูลค่าลดลงอย่างมีนัยสำคัญ กลุ่มท่องเที่ยวลดลง 49% กลุ่มพลังงานลดลง 24% กลุ่มค้าปลีกลดลง 19% กลุ่มธนาคารลดลง 31% และกลุ่ม Consumer Products ลดลง 16% 

Market Cap ที่หายไปเป็นเสมือนสัญญาณเตือนภัยให้ผู้บริหารระดับ CEO ต้องตัดสินใจทำอะไรบางอย่าง เพื่อความอยู่รอดและเติบโตเพราะเศรษฐกิจที่ถดถอยในครั้งนี้จะทำให้นิยามของการแข่งขันทางธุรกิจเปลี่ยนไป ผู้นำองค์กรที่ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากวิกฤติ Covid-19 เช่น กลุ่มท่องเที่ยว พลังงาน ค้าปลีกและธนาคาร ไม่เพียงแต่ต้องรับภาระหนักในการขับเคลื่อนแผนฟื้นฟูในระยะสั้นแต่ยังต้องวางหมากกลยุทธ์สำหรับการเติบโตและขยายธุรกิจในระยะต่อไปด้วย

นี่คือเหตุผลว่าทำไม M&A และการควบรวมธุรกิจในแนวดิ่งแบบกินรวบต้นน้ำกลางน้ำปลายน้ำ (Vertical Integration) หรือการขยายในแนวระนาบแบบเข้าซื้อกิจการของคู่แข่ง (Horizontal Integration) กำลังเป็นสิ่งที่ผู้นำองค์กรต้องรีบตัดสินใจ เพราะทุกย่างก้าวของวันนี้จนถึงอีก 12 – 24 เดือนข้างหน้าจะเป็นตัวบ่งบอกอนาคตธุรกิจในระยะยาว 

จุดยืนที่สำคัญสำหรับ CEO วันนี้ก็คือ ต้องตัดสินว่าสิ่งไหนจะเป็นสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับองค์กร จะเลือกเป็นผู้ซื้อเพื่อโอกาสในการเติบโต หรือจะเลือกเป็นผู้ขาย เพื่อที่จะยังรักษาฐานที่มั่นบางส่วนเอาไว้ให้ได้ ภาพที่เราน่าจะได้เห็นต่อจากนี้ไปก็คือ Industry Consolidation ที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงของ Competitive Landscape ในแต่ละอุตสาหกรรมอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน