'อาหารเดลิเวอรี่' กับการสื่อสารให้ได้ใจ

ส่อง 3 วิธีที่จะทำให้ธุรกิจอาหารเดลิเวอรี่ สามารถสื่อสารให้ได้ใจลูกค้า ซึ่งไม่เพียงแต่เป็นการสื่อสารเนื้อหาเพื่อให้ผู้บริโภคตัดสินใจซื้ออาหารเท่านั้น หากแต่ยังเกี่ยวข้องกับความรู้สึกและอารมณ์ของผู้บริโภค
การสั่งอาหารเดลิเวอรี่ในปัจจุบัน ได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตหลายๆ คนไปแล้ว เนื่องจากการสั่งอาหารดิลิเวอรี่นั้นช่วยทำให้ชีวิตสะดวกสบายขึ้น เพราะแค่กดสั่งอาหารก็มีคนนำอาหารมาส่งให้ถึงบ้านหรือถึงที่ทำงาน แนวโน้มของอาหารดิลิเวอรี่เติบโตขึ้นเป็นลำดับ
โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสถานการณ์ปัจจุบัน (โควิด-19) หลายคนต้อง work from home ยิ่งทำให้ “อาหารดิลิเวอรี่” ได้รับความนิยมมากยิ่งขึ้น ด้วยร้านอาหารไม่สามารถเปิดบริการเพื่อให้คนนั่งกินอาหารที่ร้านได้ แม้มาตรการป้องกันการแพร่ระบาดจะเริ่มผ่อนคลาย ร้านอาหารสามารถกลับมาเปิดให้บริการได้แล้วก็ตาม (ยังตั้งการ์ดกันอยู่) แต่จากวิกฤติที่ได้เผชิญกัน หลายร้านจึงหันมาพึ่งบริการจากแบรนด์จัดส่งอาหาร หรือไม่ก็จัดส่งดิลิเวอรี่ให้เอง
เมื่อสังคมเริ่มเข้าสู่ชีวิตวิถีใหม่ ทำให้การแข่งขันของตลาดอาหารดิลิเวอรี่นั้นมีความเข้มข้นขึ้น ดังนั้นการสื่อสารกับผู้บริโภคจึงเป็นส่วนสำคัญ ที่จะช่วยทำให้ผู้บริโภคตัดสินใจเลือกสั่งอาหารดิลิเวอรี่นั้น โดยผู้เขียนได้นำเสนอวิธีการสื่อสารให้ได้ใจผู้บริโภค 3 วิธี ที่จะช่วยทำให้ร้านอาหารดิลิเวอรี่ของคุณเข้าไปนั่งอยู่ในใจผู้บริโภคแน่นอน
วิธีที่ 1 สื่อสารเรื่องราวดีๆ เพื่อสร้างภาพลักษณ์ของแบรนด์
ก่อนที่ผู้บริโภคจะตัดสินใจเลือกสั่งอาหารดิลิเวอรี่นั้น แน่นอนว่าการสื่อสารด้วยการโฆษณาสินค้าเป็นส่วนที่สำคัญ เนื่องจากจะช่วยทำให้ผู้บริโภคสนใจโดยอาศัยโปรแกรมการส่งเสริมการตลาด ลด แลก แจก แถม เป็นส่วนหนึ่งที่กระตุ้นยอดขาย หากแต่ในปัจจุบันด้วยสถานการณ์วิกฤติโควิด-19 การใช้วิธีการดังกล่าวอาจไม่ “touch ใจคน” ตามที่ศัพท์สมัยใหม่นิยมใช้
หลายแบรนด์จึงใช้วิธีการสื่อสารในช่วงแรก ด้วยการประกาศแถลงการณ์เพื่อแสดงออกถึงความเห็นใจในสถานการณ์วิกฤติเช่นนี้ เป็นการสร้างภาพลักษณ์ให้ผู้บริโภคได้เห็นว่าแบรนด์ห่วงใยและใส่ใจผู้บริโภค หรือไม่ก็สื่อสารด้วยเรื่องราวดีๆ ทั้งการสนับสนุนบุคลากรทางการแพทย์ การช่วยเหลือชุมชน หรือการบอกเล่าการดูแลพนักงาน เนื้อหาเหล่านี้ล้วนแล้วแต่เป็นเนื้อหาที่ช่วยสร้างอารมณ์และความรู้สึกร่วมให้เกิดขึ้นกับผู้บริโภคได้
วิธีที่ 2 ส่งข้อความสั้นๆ เพื่อสร้างความผูกพัน
การสื่อสารด้วยข้อความสั้นๆ และเป็นกันเองจะช่วยกระชับความสัมพันธ์และสร้างความผูกพันให้กับผู้บริโภคได้เป็นอย่างดี เนื่องจากพฤติกรรมการรับสารของคนในปัจจุบันนั้นนิยมรับสารที่เป็นข้อความสั้นๆ ดังนั้น การใช้ข้อความสั้นๆ เพื่อแจ้งเตือนหรือแจ้งโปรโมชั่นใหม่ๆ จะช่วยทำให้เพิ่มความน่าสนใจยิ่งขึ้น แต่ควรส่งแจ้งเตือนในจังหวะเวลาที่เหมาะสม เพื่อไม่ให้สร้างความรำคาญมากกว่าที่จะกระตุ้นความสนใจ
“ดับร้อนในวันอาทิตย์ด้วยไอติม เติมความสดชื่นแบบถึงใจ ลด 50% ในหน้าร้อนแบบนี้จะมีอะไรดีไปกว่าไอติมเย็นๆล่ะเนอะ” (ข้อความจากแบรนด์จัดส่งอาหารดิลิเวอรี่)
“อยากกินของหวานอยู่ไหม? DUNKIN’ DONUTS ซื้อ 2 แถม 2 อยู่นะ โดนัท 2 set (4 ชิ้น/set) ลดเหลือ 232.- (ปกติ 464.-) ส่งฟรี 2 กม.แรก*” (ข้อความจากแบรนด์จัดส่งอาหารดิลิเวอรี่)
“กินชาบูแบบไม่ต้องนั่งแยก สั่ง Pickup ล่วงหน้ารับที่ร้านได้เล้ยย ได้กินพร้อมหน้า แถมฟินเหมือนที่ร้าน สั่งโลดด” (ข้อความจากแบรนด์จัดส่งอาหารดิลิเวอรี่)
วิธีที่ 3 พูดคุยอย่างเป็นมิตร
การพูดคุยอย่างเป็นมิตร เป็นการสื่อสารสองทางที่จะช่วยเพิ่มความผูกพันให้กับผู้บริโภคได้เป็นอย่างมาก เนื่องจาก ผู้บริโภคหลายคนให้ความสำคัญกับการให้บริการมากกว่าราคาของอาหาร ดังนั้น ในกรณีที่สั่งอาหารผ่านแอพพลิเคชั่นต่างๆ แล้วใช้ robot ตอบคำถาม อาจสร้างความขุ่นเคืองใจให้กับผู้บริโภคหลายคนได้ ด้วย “ภาษาไทย” มีการเล่นคำ และมีเรื่องของอารมณ์ปรากฏอยู่ในถ้อยคำ สังเกตจากเหตุการณ์นี้
ผู้บริโภค : “ร้านมีอาหารประเภทอื่นนอกจากสเต็กไหมคะ”
ร้าน 1 : “มีค่ะ”
ร้าน 2 : “มีค่ะ ร้านของเรามีอาหารไทย อาหารจีน ให้ลูกค้าได้เลือกสรรมากมายเลยนะคะ ลองดูเมนูที่เราส่งให้นะคะ ถ้าอยากได้อะไรเพิ่มแจ้งเราได้เลยนะคะ”
จากเหตุการณ์ข้างต้น จะเห็นได้ว่าร้าน 2 มีโอกาสที่จะได้ลูกค้ามากกว่าร้าน 1 เนื่องจากการตอบคำถามที่แสดงถึงความกระตือรือร้น และความใส่ใจที่ทิ้งท้ายประโยค ย่อมสร้างความรู้สึกที่ดีให้กับผู้บริโภคได้มากกว่า ด้วยเหตุนี้ร้านอาหารดิลิเวอรี่หลายแบรนด์จึงให้ความสำคัญกับเรื่องนี้เป็นอย่างมาก ถึงขนาดที่ว่าในการตอบคำถามจะต้องให้ข้อมูลที่ละเอียด และตอบให้รวดเร็วเพื่อให้ทันกับความต้องการของผู้บริโภค เนื่องจากหากช้าเพียงนิด อาจไม่ได้ออเดอร์นั้นเลย
การสื่อสารในธุรกิจอาหารดิลิเวอรี่จึงไม่เพียงแต่เป็นการสื่อสารเนื้อหาเพื่อให้ผู้บริโภคตัดสินใจซื้ออาหารเท่านั้น หากแต่ยังเกี่ยวข้องกับ “ความรู้สึกและอารมณ์ของผู้บริโภค” ดังนั้น ผู้ประกอบการอาหารดิลิเวอรี่ทั้งหลาย จึงให้ความสำคัญกับการสื่อสารเป็นอย่างมาก เนื่องจากการสื่อสารที่ดีย่อมสร้างความแตกต่าง และสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้เกิดขึ้นได้มากกว่าสิ่งอื่นใด
'คนละครึ่ง' ลงทะเบียน 20 ม.ค.นี้ ใครไม่มีสิทธิ์รับเงิน 3,500 บาทบ้าง?
‘เราชนะ’ ลุ้นวันนี้! เงื่อนไขสำคัญ ลงทะเบียน www.เราชนะ.com รับเงินเยียวยาโควิดรอบใหม่
ครม.อนุมัติ 'เราชนะ' จ่ายเยียวยา 3,500 บาท ลงทะเบียน 29 ม.ค.นี้
‘เราชนะ’ วันนี้ลุ้น! ครม. อนุมัติหลักเกณฑ์จ่าย 'เงินเยียวยา' 31 ล้านคน
'เราชนะ' รับเงินเยียวยา 3,500 บาท 2 เดือน กดเป็นเงินสดไม่ได้!
'เราชนะ' สรุปใครได้ 3,500 บาท 2 เดือนบ้าง? ลงทะเบียนอย่างไร เช็คที่นี่!