'1 ตำบล 1 เกษตรทฤษฎีใหม่' ประเดิมใช้งบฟื้นฟู 4 แสนล้าน

'1 ตำบล 1 เกษตรทฤษฎีใหม่' ประเดิมใช้งบฟื้นฟู 4 แสนล้าน

การพิจารณาโครงการตามแผนการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมจากผลกระทบของโควิด-19 ภายใต้กรอบวงเงิน 4 แสนล้านบาท ตาม พ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท (รอบที่ 1) ของคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 8 ก.ค.ที่ผ่านมา

โครงการแรกที่ได้รับการอนุมัติวงเงินจาก ครม.คือโครงการ 1 ตำบล 1 กลุ่มเกษตรทฤษฎีใหม่ เสนอโดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยได้รับอนุมัติโครงการและวงเงิน 9.8 พันล้านบาท

โดยโครงการนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้และน้อมนำหลักทฤษฎีใหม่ และหลักของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงด้วยการพัฒนาพื้นที่จุดเรียนรู้ในรูปแบบกลุ่มเกษตรทฤษฎีใหม่ 1 ตำบล 1 กลุ่มทฤษฎีใหม่ รวมทั้งเพิ่มพื้นที่กักเก็บน้ำสำหรับการเกษตรตลอดจนพัฒนาระบบบริหารจัดการน้ำด้วยระบบและวิธีที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และช่วยฟื้นฟูภาคการเกษตร ภายหลังการแพร่ระบาดของโควิด-19

มีเป้าหมายในการเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกร 32,072 ราย เพิ่มการจ้างงานเกษตรกรทั่วประเทศไม่น้อยกว่า 3,463.7 ล้านบาท สำหรับรายละเอียดของโครงการ 1 ตำบล 1 กลุ่มเกษตรทฤษฎีใหม่ มีพื้นที่ดำเนินการใน 4,009 ตำบลทั่วประเทศ มีการอบรมเกษตรกรในพื้นที่แต่ละตำบลรวม 64,144 ราย ซึ่งเกษตรกรแต่ละรายจะใช้พื้นที่เพาะปลูกทำเกษตรทฤษฎีใหม่คนละ 3 ไร่ รวมเป็นพื้นที่ 192,432 ไร่

159429879039

ทั้งนี้ในการเสนอโครงการมายังคณะกรรมการกลั่นกรองเงินกู้ฯ ครั้งแรกเสนอของบประมาณมาทั้งสิ้น 1.43 หมื่นล้านบาท แต่มีการปรับลดงบประมาณในการดำเนินการลงตามความเหมาะสมเหลือ 9,805 ล้านบาท

โดยโครงการนี้เป็นการจัดทำโครงการร่วมกันระหว่างหน่วยงานที่อยู่ภายใต้สังกัดของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้แก่ สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กรมชลประทาน กรมส่งเสริมการเกษตร กรมพัฒนาที่ดิน กรมประมง กรุมปศุสัตว์ และสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรมีระยะเวลาในการดำเนินการ 15 เดือน ตั้งแต่เดือน ก.ค. 2563 - ก.ย. 2564

สำหรับแนวทางการดำเนินโครงการคือการกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ดำเนินการจัดกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกับเกษตรกรที่ได้รับการคัดเลือก โดยดำเนินการ 12 ครั้ง เพื่อร่วมสร้างความเข้าใจและปฏิบัติตามหลักเกษตรทฤษฎีใหม่สำรวจระดับชั้นความสูงของภูมิประเทศ สำรวจทำแผนที่ภูมิประเทศ มาตราส่วน 1 : 4,000 เส้นชั้นความสูง ชั้นละ 0.25 เมตร เพื่อเป็นข้อมูลในการออกแบบแปลงโคก หนอง นาออกแบบผังแปลง 

ดำเนินการออกแบบผังแปลง ร่วมกับเกษตรกรเจ้าของแปลง วางผังแปลงแบ่งส่วนการใช้ประโยชน์พื้นที่แต่ละรายอย่างยั่งยืน ตามหลักเกษตรทฤษฎีใหม่ เพื่อปรับปรุงพื้นที่ของตนเอง โดยออกแบบให้สอดคล้องกับสภาพภูมิสังคม ดิน น้ำและอากาศของแต่ละพื้นที่ และปรับปรุงแปลงเกษตรทฤษฎีใหม่ ดำเนินการขุดสระเก็บน้ำ ขุดเหมืองใส้ไก่ ปั้นโคก ปั้นหัวคันนาและตกแต่งพื้นที่ ตามที่ได้ออกแบบไว้ติดตั้งระบบสูบน้ำพลังงานแสงอาทิตย์

โดยโครงการนี้จะช่วยให้เกษตรกรสามารถมีคุณภาพชีวิตที่ดี มีรายได้ที่ดีขึ้น ช่วยเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร พัฒนาความมั่นคงน้ำและการเกษตร ช่วยเพิ่มพื้นที่กักเก็บน้ำฝน และเพิ่มพื้นที่ป่าปลูกใหม่ และมีพื้นที่ต้นแบบเพื่อการเรียนรู้เกษตรทฤษฎีใหม่ให้กับเกษตรกรที่มีความสนใจนำทฤษฎีนี้ไปประยุกต์ใช้

กระทรวงเกษตรฯ ระบุว่า โครงการนี้จะช่วยบรรเทาปัญหาการว่างาน ลดปัญหาการเคลื่อนย้ายแรงงานภาคเกษตรกรรมไปสู่ภาคอื่นๆและสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชนในท้องถิ่นช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจระยะสั้น และช่วยสร้างความแข็งแกร่งให้กับเศรษฐกิจไทยในระยะยาว ทำให้เกษตรกรสามารถเลี้ยงตนเองสร้างรายได้ให้กับครับครัวได้อย่างพอเพียงและยั่งยืนได้