ต่างชาติซื้อหุ้น‘แบงก์’ สวนทางราคารูดแรง

ต่างชาติซื้อหุ้น‘แบงก์’  สวนทางราคารูดแรง

เม็ดเงินลงทุนต่างชาติเดือน มิ.ย. ไหลเข้ากลุ่มธนาคารมากสุด 1.38 พันล้านบาท หุ้น ‘ทิสโก้’ อันดับหนึ่งซื้อสุทธิในเอ็นวีดีอาร์ แต่โบรกชี้ภาพเปลี่ยนหลังแบงก์งดจ่ายปันผลระหว่างกาล ขณะที่คุณภาพสินทรัพย์ยังน่ากังวล

สถิตเม็ดเงินลงทุนต่างชาติที่เข้าลงทุนในตลาดหุ้นไทย ช่วงเดือน มิ.ย. ที่ผ่านมา โดยรวมยังคงติดลบ 2.15 หมื่นล้านบาท อย่างไรก็ตาม อุตสาหกรรมที่เงินลงทุนต่างชาติไหลเข้ามากที่สุด คือ กลุ่มธนาคารพาณิชย์ (BANK) เป็นซื้อสุทธิ 1.38 พันล้านบาท ส่วนกลุ่มที่มีแรงขายออกมามากที่สุดคือ กลุ่มพาณิชย์ (COMM) เป็นขายสุทธิ 2.07 พันล้านบาท

ทั้งนี้ หากพิจารณาการซื้อสุทธิของนักลงทุนต่างชาติ พบว่า บมจ.ทิสโก้ ไฟแนนเชียล กรุ๊ป (TISCO) เป็นหุ้นที่ต่างชาติซื้อสุทธิมากสุด 1.9 พันล้านบาท ส่วนแบงก์ที่ต่างชาติซื้อสุทธิรองลงมาคือ บมจ.ธนาคารกรุงไทย (KTB) มูลค่า 722 ล้านบาท ขณะที่ บมจ.ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) และบมจ.ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) เป็นสองแบงก์แรกที่ต่างชาติขายสุทธิออกมามากสุด 870 ล้านบาท และ 530 ล้านบาท ตามลำดับ

สำหรับดัชนีของหุ้นกลุ่มแบงก์ในเดือน มิ.ย. ที่ผ่านมา ยังคงลดลงมากกว่าตลาด โดยติดลบไป 2.48% ขณะที่ SET ติดลบ 0.28% ส่วนเดือน ก.ค. นี้ ล่าสุด ณ วันที่ 8 ก.ค. หุ้นแบงก์เพิ่มขึ้น 0.61% ขณะที่ดัชนี SET เพิ่มขึ้น 1.75%

นายกรภัทร วรเชษฐ์ ผู้อำนวยการ ฝ่ายวิจัยและบริการการลงทุน บริษัทหลักทรัพย์ (บล.)โนมูระ พัฒนสิน เปิดเผยว่า เดิมทีเงินลงทุนต่างชาติไหลเข้าหุ้นกลุ่มแบงก์ เนื่องจากมูลค่าหุ้นที่ค่อนข้างถูก และอัตราเงินปันผลที่สูง รวมถึงมาตรการช่วยเหลือต่างๆ จากภาครัฐที่เข้ามาสนับสนุน

อย่างไรก็ตาม ภาพการลงทุนดูเหมือนจะเปลี่ยนไปในขณะนี้ ทำให้เม็ดเงินเหล่านั้นเข้ามาแค่ระยะสั้น โดยปัจจัยสำคัญคือ การที่แบงก์งดจ่ายปันผลระหว่างกาล

“เงินฟันด์โฟลว์ที่ไหลเข้ากลุ่มแบงก์เป็นเพียงแค่ระยะสั้น เพราะแนวโน้มของกลุ่มกลับมาเป็นลบ เดิมทีเงินลงทุนไหลเข้าเพราะมีมาตรการช่วยจากรัฐ และเงินปันผลสูง แต่เมื่อแบงก์งดจ่ายปันผลระหว่างกาล เงินก็เริ่มไหลออก”

นอกจากนี้ สิ่งที่ต้องจับตาสำหรับหุ้นกลุ่มแบงก์คือ คุณภาพของสินทรัพย์ซึ่งได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ขณะเดียวกันรายได้ค่าธรรมเนียมก็มีแนวโน้มลดลง เนื่องจากการปิดเมืองในช่วงที่ผ่านมา รวมถึงกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่หยุดชะงัก ในขณะที่บริษัทยังมีภาระค่าใช้จ่ายอยู่

โดยรวม บล.โนมูระ พัฒนสิน ประเมินว่า ตัว NPLs ขั้นต้น จะเพิ่มขึ้น 15.8% ในปีนี้ และ 4.7% ในปีหน้า แม้ธปท.จะมีมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ แต่เรามองว่าเป็นการยืดเวลาตกชั้นของลูกหนี้ออกไป 3-6 เดือน และทำให้ปัญหา NPLs เรื้อรังจนถึงปี 2564

ด้านต้นทุนเครดิตคาดทำจุดสูงสุดในปีนี้ที่ 1.61% ตามการใช้มาตรฐานบัญชี TFRS9 อย่างไรก็ตาม ฐานะการเงินของธนาคารมีความแข็งแกร่งกว่าวิกฤติในปี 2532 และปี 2551 ค่อนข้างมาก ทั้งนี้ในด้านระดับเงินกองทุน และเงินสำรอง ซึ่งสามารถรองรับผลขาดทุนได้ถึง 7.2 หมื่นล้านบาท ถึง 1.3 แสนล้านบาท