รพ. 7 แห่งนำร่องให้ยาเคมีบำบัดผู้ป่วยมะเร็งที่บ้าน

รพ. 7 แห่งนำร่องให้ยาเคมีบำบัดผู้ป่วยมะเร็งที่บ้าน

การแพทย์นิวนอร์มอล รพ. 7 แห่งนำร่องให้ยาเคมีบำบัดที่บ้านผู้ป่วยมะเร็งลำไส้ใหญ่-ลำไส้ตรง ช่วงก.ค.-ก.ย. 2563 ซึ่งคาดว่าจะมีผู้ป่วยประมาณ 100 ราย ก่อนประเมินผลขยายไป 13 เขตสุขภาพในปี64 เบื้องต้นวางเป้ารพ. 30 แห่ง อาจครอบคลุมมะเร็งชนิดอื่น

      เมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม 2563 ที่กระทรวงสาธารณสุข ในการแถลงข่าวสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 นายสาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข(รมช.สธ.) กล่าวถึงการแพทย์นิวนอร์มอล เรื่อง การให้เคมีบำบัดในผู้ป่วยมะเร็งที่บ้าน ว่า ที่ผ่านมาแม้จะให้น้ำหนักการต่อสู้กับโรค โควิด-19 แต่ไม่หยุดให้บริการโรคอื่น อย่างกรณี การดูแลผู้ป่วยโรคมะเร็ง โดยมีผู้ป่วยรายใหม่ 142,769 ราย เสียชีวิต 73,000 ต่อปี อัตราการเสียชีวิต 123.3 ต่อประชากร 1 แสนคน ล่าสุดได้ร่วมกับรพ.รามาธิบดี สถาบันมะเร็งแห่งชาติ มะเร็งวิทยาสมาคม ในการจัดทำแนวทางการรักษาเพื่อลดความแออัดในรพ.และเพิ่มการเข้าถึงการรักษาโรคมะเร็งโดยการให้เคมีบำบัดที่บ้าน เริ่มที่โรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ และมะเร็งลำไส้ตรง ซึ่งเป็น 1 ใน 5 โรคมะเร็งที่พบมากในประเทศไทย

        “การให้เคมีบำบัดที่บ้านนับเป็นก้าวแรกที่สำคัญ แต่สิ่งสำคัญอีกประการหนึ่งคือการป้องกันโรค โดยพบว่า 5 กลุ่มเสี่ยงที่จะเกิดโรคมะเร็ง คือ คนที่ไม่ค่อยออกกำลังกาย คนที่ไม่รับประทานผัก ผลไม้สด คนอ้วน คนสูบบุหรี่ และคนดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ดังนั้น ขอให้หลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงเหล่านี้ และตรวจสุขภาพ คัดกรองโรคอย่างสม่ำเสมอ โดยเฉพาะคนที่มีอายุ 40 ปี ขึ้นไปควรตรวจทุกๆ 6 เดือน เพราะโรคมะเร็ง หากเจอเร็วสามารถรักษาได้”นายสาธิตกล่าว

       ด้านนพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า การให้เคมีบำบัดที่บ้านขึ้นอยู่กับความสมัครใจของผู้ป่วย โดยจะเป็นโครงการนำร่องในปี 2563 รพ. 7 แห่ง คือ สถาบันมะเร็งแห่งชาติ รพ.รามาธิบดี รพ.ราชวิถี รพ.จุฬาภรณ์ รพ.สมเด็จพระปิ่นเกล้า รพ.มะเร็งลพบุรี และรพ.มะเร็งชลบุรี งเริ่มตั้งแต่ 1 ก.ค.2563 โดยดำเนินการช่วงก.ค.-ก.ย. 2563 คาดว่าจะมีผู้ป่วยประมาณ 100 ราย จากนั้นจะมีการประเมินผลและในปี 2564 จะขยายไปใน 13 เขตสุขภาพ แต่ไม่ครบทุกจังหวัด เบื้องต้นวางเป้ารพ. 30 แห่งเป็นอย่างน้อย และอาจจะขยายไปยังโรคมะเร็งอื่นๆ ด้วย ส่วนค่ารักษานั้น ผู้ป่วยสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติหรือบัตรทองถือว่าครอบคลุม ส่วนสิทธิอื่นๆ ทั้งประกันสังคมและสิทธิสวัสดิการข้าราชการ จะมีการเจรจาต่อไป ทั้งนี้ การให้เคมีบำบัดที่บ้านจะมีการเตรียมเทเลเมดิซีน เพื่อให้ผู้ป่วยได้คุยกับแพทย์ที่รพ.ด้วย

     “ผู้ป่วยโรคมะเร็งจะมีภูมิคุ้มกันโรคต่ำกว่าผู้ป่วยโรคอื่นๆ ดังนั้นการให้เคมีบำบัดที่บ้านจึงช่วยลดความแออัด เพิ่มประสิทธิภาพในการรักษา โดยเฉพาะในช่วงที่มีโรคโควิด-19 ถึงแม้ขณะนี้ประเทศไทยไม่มีรายงานผู้ป่วยในประเทศติดต่อกัน 40 กว่าวันแล้ว แต่ขอฝากประชาชนว่าเวลาไปในที่ชุมชนขอให้สวมหน้ากาก เพราะเป็นอุปกรณ์ป้องกันโรคที่มีประสิทธิภาพ ที่องค์การอนามัยโลกก็ยอมรับ และจากรายงานของไทยช่วงที่คนไทยสวมหน้ากากกันนั้น ทำให้โรคปอดบวม และโรคติดต่อระบบทางเดินหายใจลดลงไปมาก”นพ.สมศักดิ์ กล่าว

      นพ.พิชัย จันทร์ศรีวงศ์ แพทย์ประจำภาควิชาอายุรศาสตร์ รพ.รามาฯ กล่าวว่า การรับเคมีบำบัดปกติต้องมารพ. เพื่อพบแพทย์และรอเตียง ปัจจุบันคนไข้จำนวนมาก เตียงไม่พอ จึงต้องรอ 5-7 วัน ทำให้คนไข้คลาดเคลื่อนการรับยาและเกิดความวิตกกังวล จึงมีการเปลี่ยนมาให้เคมีบำบัดที่บ้าน โดยยาเคมีบำบัดผู้ป่วยมะเร็งลำไส้ใหญ่ มี 3 ชนิด ซึ่งรูปแบบเดิมหลังมีการพบแพทย์ประมาณ 1 ชั่วโมง ที่รพ.จะให้ยา 2 ชนิดใช้เวลาประมาณ 4 ชั่วโมงและอีก 1 ชนิดใช้เวลา 50 ชั่วโมง คนไข้จึงต้องนอนรพ.ประมาณ 2-3 วัน และรับยาทุก 2 สัปดาห์ ตอนนี้เปลี่ยนรูปแบบให้ยา 2 ชนิดที่รพ. 4 ชั่วโมง แล้วยาอีก 1 ชนิดนำถุงยากลับบ้าน เมื่อยาครบ 2-3 วัน ผู้ป่วยกลับมาที่รพ.เพื่อถอดถุงยาออก หรือหากผู้ป่วยไม่สะดวกเดินทางมาถอดที่รพ.จะมีพยาบาลไปเยี่ยมบ้านและถอดถุงยา

    กระบวนการทำงาน คือ 1. เตรียมเคมีบำบัดมาตรฐาน เพื่อให้คนไข้ มีขนาด 1 วัน 2 วัน และเมื่อยาหมด เปลี่ยนการให้ยาจากข้อมือมาที่หลอดเลือดดำส่วนกลางบริเวณหน้าอก จากนั้นก็เสียบถุงยากลับบ้านได้ ทั้งนี้หากคนไข้มีภารกิจที่ไม่ต้องออกแรกงมากก็สามารถให้ยานี้พร้อมกับทำงานนั้นไปด้วยได้ เช่น การขับรถแท็กซี่ เป็นต้น การนอนหลับสามารถให้ถุงยาอยู่ในระนาบเดียวกับร่างกายได้ สำหรับคนที่ไม่สะดวกมาถอดถุงยาที่รพ.จะมีทีมพยาบาลลงไปเยี่ยมบ้าน และถอดถุงยาให้ เราทำมา 4 ปี ปัจจุบันเทียบให้ที่บ้านมากกว่าให้ที่รพ. ช่วยประหยัดเตียง 3.5 พันเตียงต่อปี แบบกลับ้านให้ตรงเวลา 100% ส่วนการรับที่รพ.ได้รับตรงเงลาแค่ 70% ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตชัดเจน ผลข้างเคียงไม่ต่างกัน พยาบาลโทรหาทุกวัน ไม่รอให้โทรมา เมื่อเทียบค่าใช้จ่าย 50,000 บาท ต่อราย ประหยัดเงิน ประหยัดเวลา ดังนั้นเสนอไปที่ สปสช.แล้วเพื่อให้บรรจุในสิทธิประโยชน์

    “ที่เลือกมะเร็งลำไส้ใหญ่ก่อนเพราะมีจำนวนผู้ป่วยมากและตัวยาที่ใช้ที่บ้านเน้นความปลอดภัยของผู้ป่วย ค่อนข้างปลอดภัย และเสถียรหรือมีความคงตัวเหมือนกับการใช้ในรพ. ซึ่งสูตรที่ใช้ในปัจจุบันได้ขยายการใช้ไปยังโรคมะเร็งกลุ่มอื่นๆ ด้วย อาทิ ตับอ่อน กระเพาะอาหาร แต่มีจำนวนคนไข้น้อย และส่วนใหญ่มีปัญหาโภชนาการไม่ได้ ทำให้แข็งแรงน้อยกว่าผู้ป่วยมะเร็งชนิดอื่นๆ จึงอาจจะไม่ปลอดภัยหากให้ที่บ้าน ขณะที่ผู้ป่วยมะเร็งลำไส้ใหญ่ ลำไส้ตรงนั้นจะค่อนข้างแข็งแรงกว่า แต่ก็มีแผนพัฒนาการให้เคมีบำบัดที่บ้านไปยังคนไข้มะเร็งตับอ่อน มะเร็งกระเพาอาหาร มะเร็งศีรษะและลำคอ ซึ่งมะเร็งศีรษะและลำคอจะใช้เวลา 5 วัน”นพ.พิชัยกล่าว