‘หน้ากากผ้า’ มูลค่าเพิ่ม ญี่ปุ่นยกระดับความคูล

‘หน้ากากผ้า’ มูลค่าเพิ่ม ญี่ปุ่นยกระดับความคูล

"หน้ากากผ้า" นับเป็นหนึ่งในไอเท็มที่ชาวญี่ปุ่นต้องการอย่างมาก นอกจากเดิมที่ใช้เพื่อป้องกันไข้และหวัดแล้ว แต่วันนี้รวมถึงโควิด-19 โดยเปิดโอกาสให้ผู้จัดจำหน่ายเสื้อผ้าไปจนถึงผู้ผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์หลายรายเข้ามาสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าจำเป็นนี้

หลายสิบปีมาแล้ว ที่ชาวญี่ปุ่นสวมหน้ากากเพื่อกันละอองเกสรในฤดูใบไม้ผลิ หรือป้องกันไข้และหวัด แต่ตอนนี้ความต้องการหน้ากากหลากหลายกว่าเดิม ขยายวงไปถึงฤดูร้อนด้วย เปิดโอกาสใหม่ๆ ให้บริษัททั้งหลาย ตั้งแต่ผู้จัดจำหน่ายเสื้อผ้าสำเร็จรูปไปจนถึงผู้ผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ได้สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าจำเป็น ที่ผู้คนเคยใช้แล้วทิ้งเมื่อสิ้นวัน

หนึ่งในนั้นคือ ยูนิโคล่ แบรนด์ฟาสต์แฟชั่นรายใหญ่ ตอนแรกที่ไวรัสโคโรนาระบาดใหม่ๆ ความต้องการหน้ากากมีสูงมาก แต่บริษัทยังลังเลไม่กล้าผลิต จนกระทั่งวันที่ 19 มิ.ย.กลายเป็นข่าวฮือฮาเมื่อลูกค้ามาเข้าแถวยาวเหยียดหน้าร้าน ในย่านกินซา กลางกรุงโตเกียว รอซื้อหน้ากากแอริซึ่ม ในราคาแพ็ค 3 ชิ้น 990 เยน (ราว 280 บาท)

หน้ากากรุ่นนี้ผลิตจากวัสดุที่ใช้ทำชุดชั้นใน ยูนิโคล่โฆษณาว่านวัตกรรมแอริซึ่มมีคุณสมบัตินุ่มสบาย แห้งไว ช่วยระบาย ความร้อน และไม่อับชื้น

ฟาสต์รีเทลลิง เจ้าของยูนิโคล่วางแผนขายหน้ากาก 5 แสนแพ็คทุกๆ สัปดาห์ ทาดาชิ ยานาอิ ประธานคณะเจ้าหน้าที่บริหาร (ซีอีโอ) ฟาสต์รีเทลลิง เผยว่า ต้องการให้ผู้บริโภคสวมหน้ากากแอริซึ่มตลอดทั้งปี

ทั้งนี้ ก่อนไวรัสโคโรนาระบาด หน้ากากส่วนใหญ่เป็นผ้าไม่ถักทอผลิตจากพลาสติก เช่น เส้นใยพอลิโพรไพลีน (พีพี) ที่ทั้งร้อน ทั้งอึดอัด ผ้าไม่ถักทอนั้นใช้ผลิตผ้าอ้อม สำเร็จรูปและสินค้าในครัวเรือนอื่นๆ ด้วย

แต่ปลายเดือน ม.ค. หลังจากไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ระบาดหนักในเมืองอู่ฮั่น อุปทานผลิตหน้ากากแบบเดิมเริ่มลดลงทั่วโลก

ยูนิชาร์มและผู้ผลิตสินค้าในครัวเรือนรายอื่นๆ ของญี่ปุ่นเร่งกำลังการผลิต แต่ไม่ทันกับความต้องการที่พุ่งสูงได้ ผู้นำเข้าญี่ปุ่นเริ่มซื้อหน้ากากจีนมาเป็นจำนวนมาก แต่สุดท้ายพบว่าคุณภาพแตกต่างกันจนผู้บริโภคกังวล

ตอนที่วิกฤติไวรัสโคโรนาในญี่ปุ่นทวีความรุนแรงเมื่อเดือน มี.ค. ชาร์ปเริ่มผลิตหน้ากากที่โรงงานผลิตจอแอลซีดีในเมืองทากิ จ.มิเอะ ทางภาคกลางของประเทศเดือน เม.ย. เริ่มวางจำหน่ายกล่อง 50 ชิ้น ราคา 2,980 เยน ไม่รวมภาษีการบริโภค ปรากฏว่าได้รับคำสั่งซื้อล้นหลามผ่านช่องทางออนไลน์ จนชาร์ปต้องเลิกการวางขาย หันมาใช้ระบบสุ่มแทน ปัจจุบันชาร์ปผลิตหน้ากากได้วันละราว 500,000 ชิ้น

ไอริส โอยามา บริษัทผลิตสินค้าในครัวเรือนอีกราย ตอนนี้สามารถผลิตวัตถุดิบหน้ากากส่วนใหญ่ รวมถึงผ้าไม่ถักทอในประเทศได้แล้ว ไม่ต้องพึ่งพาซัพพลายเออร์ในจีนและประเทศอื่นๆ เดือน มิ.ย. บริษัทเริ่มผลิตหน้ากากจากโรงงานใน จ.มิยากิ ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และหวังเพิ่มการผลิตได้ราวเดือนละ 150 ล้านชิ้น ในเดือน ส.ค.

เมื่อหน้ากากเป็นที่ต้องการมาก ผู้ผลิตวัตถุดิบจึงได้อานิสงส์ ในปี 2562 ผ้าไม่ถักทอในญี่ปุ่น ส่วนใหญ่ใช้ทำฟิลเตอร์รถยนต์และสินค้าอุตสาหกรรมอื่นๆ โดยสินค้าทางการแพทย์และสุขอนามัย เช่น หน้ากาก คิดเป็นราว 24% ของผลผลิตจากผู้ผลิตวัตถุดิบ

ก่อนเกิดการระบาดใหญ่ ผู้ผลิตสัญชาติญี่ปุ่นส่วนใหญ่ไม่สนใจตลาดหน้ากาก เนื่องจากสินค้าในประเทศนำเข้าถึง 80% อีกทั้งโอกาสสร้างมูลค่าเพิ่มให้หลากหลายมีไม่มากนัก แต่แล้วไวรัสโคโรนาได้เปลี่ยนแปลงทุกสิ่ง

เดือน พ.ค. บริษัทโทเรอินดัสตรีส์ เพิ่มการผลิตผ้าไม่ถักทอสำหรับทำหน้ากากอีก 160% เริ่มใช้โรงงานผลิตผ้าอ้อมในต่างประเทศมาผลิตหน้ากาก รวมทั้งที่โรงงานเมืองโอสึ จ.ชิงะ ด้วยศักยภาพทั้งหมด ขณะนี้โทเรอินดัสตรีส์ผลิตหน้ากากผ้าไม่ถักทอได้เดือนละ 80 ล้านชิ้น

การสวมหน้ากากตลอดเวลา แม้ไม่ได้อยู่ในที่สาธารณะกลายเป็นนิวนอร์มอล ตลาดจึงต้องการหน้ากากในรูปแบบและฟังก์ชันใหม่ๆ

159427028465

บริษัทผลิตเครื่องกีฬามิซูโนะเริ่มขายหน้ากากทำจากวัสดุชุดว่ายน้ำและชุดกีฬา และวัสดุเก็บความเย็น หน้ากากสำหรับนักกีฬาได้รับความนิยมมากในหมู่ลูกค้าทั่วไป นับตั้งแต่บริษัทเริ่มวางขายในเดือน พ.ค. ผู้คนพากันสั่งซื้อล้นหลาม จากเดิมที่ผลิต 50,000 ชิ้น เพิ่มเป็น 870,000 ชิ้น

ผู้ผลิตเสื้อผ้าบางรายกระโดดลงมาจับตลาดหน้ากากแฟชั่นด้วย ซันโยโชไก ปล่อยหน้ากากผ้า 16 แบบ ให้ลูกค้าได้เลือกสรรตามอารมณ์และเลือกเนื้อผ้าให้เหมาะตามฤดูกาล วางขายเฉพาะออนไลน์เท่านั้น สินค้าล็อตแรกขายหมดเกลี้ยงภายใน 1 ชั่วโมง สนนราคาชิ้นละ 900 เยนไม่รวมภาษี

ผู้ผลิตเสื้อผ้าสตรี “แมชโฮลดิงส์” ก็เริ่มขายหน้ากากผ้ากับเขาเหมือนกัน รวมถึงหน้ากากผ้าขนาดใหญ่ขึ้นเพื่อทำให้ดูหน้าเรียว และหน้ากากผ้า 3 มิติ สวมแล้วดูจมูกโด่งขึ้น

ครอสพลัส บริษัทผลิตเสื้อผ้าสตรีอีกราย ขายหน้ากาก 17 แบบ รวมทั้งลายตารางและลายดอก บริษัทซาแมนธา ทาซาวา เจแปน ก็เข้าตลาดเช่นกัน ด้วยกิจกรรมทั้งหมดนี้ ปัญหาขาดแคลนหน้ากากของญี่ปุ่นจึงบรรเทาลง

หากจำกันได้เมื่อไม่นานมานี้นี่เอง ที่ซูเปอร์มาร์เก็ตและร้านค้ายาเคยทำให้ลูกค้าสิ้นหวัง ด้วยการเขียนป้ายบอกว่า ไม่มีหน้ากากวางจำหน่าย แต่ถึงวันนี้ร้านเหล่านั้นกลับมีหน้ากากวางขายอย่างหลากหลายทั้งสไตล์และฟังก์ชันให้ลูกค้าได้เลือกสรรแล้ว