หนังเล่าโลก: Cinema Paradiso

หนังเล่าโลก: Cinema Paradiso

หลังจากรับใช้ผู้ชมกรุงเทพมหานครมานาน 51 ปี โรงภาพยนตร์ "สกาลา" ก็ทำหน้าที่ครั้งสุดท้าย เมื่อวันที่ 5 ก.ค. ฉายภาพยนตร์อิตาลีเรื่อง "Cinema Paradiso" ก่อนปิดฉากอำลาผู้ชมไปอย่างถาวร

ภาพยนตร์เรื่องนี้ กล่าวถึงความผูกพันระหว่างคนรักภาพยนตร์กับโรงภาพยนตร์ และการล่มสลายของโรงแบบสแตนด์อโลน เหมาะกับสภาพความเป็นจริงที่สกาลากำลังเผชิญเป็นที่สุด

ภาพยนตร์ผลงานของผู้กำกับ จูเซปเป ทอร์นาโทเร สร้างขึ้นเมื่อปลายทศวรรษ 1980 กล่าวถึงโรงภาพยนตร์ Cinema Paradiso ที่เป็นศูนย์กลางความบันเทิงเพียงแห่งเดียวในเมืองเล็กๆ เมืองหนึ่งบนเกาะซิซิลีของอิตาลีในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ทำหน้าที่ให้ความสุขชาวเมืองราว 4 ทศวรรษก็จำต้องปิดตัวลงด้วยเหตุผลที่เจ้าของโรงบอกว่า “ผู้คนหันไปดูทีวีและวีดิโอ ไม่มีใครดูหนังโรงกันอีกแล้ว”

หากมองในแง่ธุรกิจคำตอบนี้ถือว่าถูกต้องสมเหตุสมผล แต่ถ้าเทียบกับวันเวลาปัจจุบันที่เป็นการชมภาพยนตร์ในยุคโควิด-19 ระบาดจึงอดคิดไม่ได้ว่า ถ้าโรงภาพยนตร์แห่งนี้อยู่รอดมาจนถึงทุกวันนี้จะมีชะตากรรมอย่างไร 

โรงภาพยนตร์อิตาลีก็เหมือนกับสถานที่ชุมนุมคนอื่นๆ ทั่วโลกที่ต้องปิดเพราะโควิด เพิ่งกลับมาเปิดม่านอีกครั้งเมื่อวันที่ 15 มิ.ย. หลังจากปิดไปนานกว่า 3 เดือน แต่การให้บริการรอบนี้ต้องมีมาตรการเว้นระยะ เช่น ต้องเว้นที่นั่งสลับกันเป็นฟันปลา จองตั๋วออนไลน์ จำกัดคนดูไม่เกิน 200 คน และต้องสวมหน้ากาก

ถ้าจำกันได้อิตาลีเป็นประเทศแรกของยุโรปที่ใช้มาตรการล็อกดาวน์ สกัดโควิด-19 ที่ลุกลามรวดเร็วทั่วประเทศ ทั้งยังเคยเป็นประเทศที่มีผู้เสียชีวิตมากเป็นอันดับ 3 ของโลกรองจากสหรัฐและสหราชอาณาจักร (แต่ตอนนี้ถูกหลายประเทศแซงหน้าไปแล้ว)

ทางการเริ่มสั่งปิดโรงภาพยนตร์ช่วงปลายเดือน ก.พ. ตอนแรกจำกัดแค่ 5 เขตที่มีผู้ติดเชื้อมากที่สุด แต่ต่อมาวันที่ 9 มี.ค. ก็ปิดโรงภาพยนตร์ทั้ง 1,200 โรงทั่วประเทศ

เมื่อถึงวันที่ 15 มิ.ย. ที่รัฐบาลอนุญาตให้ธุรกิจบันเทิงเปิดบริการได้อีกครั้ง กลายเป็นว่าทั่วประเทศมีโรงภาพยนตร์เปิดเพียงไม่กี่แห่ง เฉพาะในกรุงโรมเปิดแค่ 2 จาก 60 โรง ส่วนที่ซิซิลีเปิดเพียงโรงเดียว

หลายโรงเลือกปิดต่อไปเพราะติดขัดกับมาตรการเว้นระยะทางสังคมที่กำหนดให้คนดูต้องนั่งห่างกัน 2 ที่นั่ง

จากอิตาลีไปเช็กสภาพโรงภาพยนตร์ในประเทศอื่นดูบ้าง โรงหนังสหราชอาณาจักรกลับมาเปิดบริการเมื่อวันที่ 4 ก.ค. ปีนี้ถือเป็นปีที่แย่สุดนับตั้งแต่ปี 2539 รายได้จากการขายตั๋วและโฆษณาจ่อลดลงเกือบ 900 ล้านปอนด์จะหวังพึ่งพา มู่หลาน (Mulan) ของดิสนีย์ และเทเน็ท (Tenet) หนังไซไฟของผู้กำกับคริสโตเฟอร์ โนแลน ก็กลายเป็นว่าทั้งสองเจ้าเลื่อนฉายรอบพรีเมียร์ไปเป็นวันที่ 12 และ 21 ส.ค. ดับฝันโรงภาพยนตร์ยูเคต่อไปอีก

ส่วนอินเดียที่ได้ชื่อว่ามีอุตสาหกรรมภาพยนตร์ใหญ่สุดของโลก และประชาชนก็คลั่งไคล้การดูหนังโรงมากเพราะเป็นความบันเทิงราคาถูก แต่เมื่อรัฐบาลสั่งล็อกดาวน์ทั่วประเทศในวันที่ 25 มี.ค. โรงภาพยนตร์ก็แน่นิ่ง ส่งผลกระทบไปถึงผู้ผลิตภาพยนตร์ที่สร้างงานแล้วต้องหาทางไปฉายในโลกออนไลน์ ผ่านบริการสตรีมมิงที่มาแรงตั้งแต่โควิด-19 ยังไม่ระบาด ความเปลี่ยนแปลงนี้สร้างความขุ่นเคืองให้กับธุรกิจโรงภาพยนตร์ ที่ตอนนี้ก็จวนอยู่จวนไปเหมือนกัน 

สภาพการณ์แบบนี้ชวนให้นึกถึงจุดจบของ Cinema Paradiso ที่ต้องปิดฉากไปเพราะไม่มีใครมาดูหนังโรง ถ้าเป็นเหตุผลทางธุรกิจก็พอจะเข้าใจได้ แต่นี่มีเหตุผลเหนือการควบคุมมาเกี่ยวข้อง ความร้ายกาจของโควิด-19 นอกจากคร่าชีวิตคนไปมากแล้ว ยังพรากความสัมพันธ์ระหว่างคนไปด้วย การชมภาพยนตร์ในโรงเป็นอรรถรสของการแบ่งปันความสุขระหว่างกัน ได้หัวเราะ ได้ร้องไห้จากภาพยนตร์เรื่องเดียวกัน ซึ่งบรรยากาศแบบนี้ไม่มีวันทดแทนได้ด้วยการชมจากมือถือ ไอแพด หรือจอคอมพิวเตอร์ หวังว่าโควิด-19 คงไม่ทำให้โรงภาพยนตร์แห่งใด ต้องประสบกับชะตากรรมแบบที่ Cinema Paradiso ต้องเจออีก