‘ลิงเก็บมะพร้าว’ เพื่อนเกลอของชาวสวน

‘ลิงเก็บมะพร้าว’  เพื่อนเกลอของชาวสวน

'ลิงเก็บมะพร้าว' เป็นภูมิปัญญาของชาวสวนในภาคใต้ที่สืบทอดมานับร้อยปี ไม่เพียงสะท้อนความผูกพันระหว่างคนกับลิง แต่ยังสร้างองค์ความรู้กลายเป็น 'โรงเรียนฝึกลิง' ที่ผลิตบัณฑิตลิงเก็บมะพร้าวมาแล้วนับไม่ถ้วน  

คนไทยรู้ดีว่า ต้นมะพร้าวสูงแค่ไหน บางต้นสูง 10-20 เมตร ความสูงขนาดนั้นไม่สามารถใช้แรงงานคนขึ้นไปเก็บได้ แต่เมื่อเห็นว่า ลิงนั้นว่องไว ปราดเปรียว ปีนป่าย กระโดดไปกระโดดมาได้ดี ชาวสวนเลยเอามาฝึกให้เกิดประโยชน์ เรียกกันว่า ลิงเก็บมะพร้าว เป็นทั้งแรงงานและเพื่อนของชาวสวนภาคใต้มานานกว่าร้อยปี เป็นภูมิปัญญาที่สืบทอดมาหลายชั่วอายุคน จึงเป็นที่มาของ วิทยาลัยฝึกลิงเพื่อการเกษตร ต.ทุ่งกง อ.กาญจนดิษฐ์ จ.สุราษฎร์ธานี (www.firstschoolformonkeys.com)

"เวลาสั่งลิงจะใช้ภาษาอะไรก็ได้ พูดบ่อยๆ เขาจะเข้าใจอันนั้นเอง สมมติพูดคำว่า นั่ง นั่ง นั่ง เราก็พูดซ้ำไปซ้ำมา จนเขารู้ว่านั่งทำแบบนี้ ถ้าเราพูดภาษาอังกฤษ sit sit sit  เขาก็เข้าใจว่าจะต้องทำแบบนี้ เราต้องพูดซ้ำๆ จนกว่าเขาจะเข้าใจ" สมใจ แซ่โค้ว ครูฝึกสอนลิง วิทยาลัยฝึกลิงเพื่อการเกษตร จ.สุราษฎร์ธานี เล่า และยังมีเรื่องสนุกๆ เกี่ยวกับการฝึกลิงอีกมากมาย

159426100099

ภาพ: จรูญ ทองนวล

  • จุดเริ่มต้น 'ลิงเก็บมะพร้าว'

กว่าจะฝึกลิงได้นั้นเป็นเรื่องยาก คนฝึกจำเป็นต้องสร้างมิตรภาพระหว่างคนกับลิงให้เกิดขึ้นก่อน ในปีพ.ศ.2500 สมพร แซ่โค้ว ได้เปิดโรงเรียนฝึกสอนลิงเก็บมะพร้าวขึ้นใน จ.สุราษฎร์ธานี  กระทั่งเสียชีวิต สมใจ แซ่โค้ว ลูกสาวก็ทำหน้าที่แทน

ด้วยความที่เป็นลูกชาวสวนมะพร้าว เห็นลิงเก็บมะพร้าวมาทั้งอ่อนและแก่ เพราะแยกแยะไม่เป็น เขาจึงอยากจะฝึกลิงให้แยกแยะได้ และสอนด้วยความรัก ไม่ใช้ความรุนแรง จน ไข่นุ้ย โด่งดังระดับประเทศ สามารถแสดงละครลิง แสดงภาพยนตร์ โชว์ในรายการโทรทัศน์ ได้รับเลือกให้ถือป้ายงานแข่งขันกีฬาแห่งชาติ 'ตาปีเกมส์' จ.สุราษฎร์ธานี พ.ศ.2536 

"การใช้ ลิงเก็บมะพร้าว ทดแทนแรงงานคน เป็นภูมิปัญญาชาวบ้านของทางภาคใต้ สืบทอดต่อกันมาเป็นร้อยปีแล้ว ไม่มีคำตอบว่าใครเป็นผู้เล็งเห็นตรงนี้แล้วนำลิงมาฝึก เรามีสวนมะพร้าว ต้นเตี้ยๆ พ่อก็สอยเอง แต่พอต้นสูงขึ้น ก็เอาลงมาไม่ได้ เห็นเพื่อนบ้านผู้เฒ่าผู้แก่ใช้ลิงช่วย พวกชาวบ้านฝึกลิงกัน พ่อก็ไปดูของคนโน้นคนนี้แล้วมาประยุกต์กับความคิดของตัวเอง" สมใจ เล่าถึงความเป็นมาในการฝึกลิงเก็บมะพร้าว 

กว่าเธอจะฝึกลิงให้เก็บมะพร้าวได้ ต้องใช้ทั้งความพยายามและความอดทนอย่างมาก ในอดีตมีการนำลิงป่ามาฝึก แต่ปัจจุบันมีแต่ 'ลิงเพาะเลี้ยง' เท่านั้น ซึ่งการดูแลลิงก็เหมือนการดูแลเด็ก

"ลิงที่จะเอามาฝึก สามารถฝึกได้ทุกอายุ ที่เหมาะสมที่สุดคือ 3 ปี ให้นึกภาพเด็กอนุบาลไปโรงเรียน อารมณ์เดียวกันเลย ครูฝึกมีหน้าที่ปลอบใจ พาเขาไปนั่งใต้ต้นไม้ เราต้องดูธรรมชาติของเขาว่าเขาชอบอะไร พาจูงเดิน พาให้เล่นบนต้นไม้ มีขนมมีผลไม้ให้เขา ถ้าเขาไม่พอใจ ก็อย่าไปเข้าใกล้ ยืนห่างๆ อย่าไปคุกคามเขา อย่าไปจับเนื้อจับตัวเขา ต้องดูอารมณ์เขาด้วย หมั่นทำอย่างนี้ไปเรื่อยๆ ก่อน สุดท้ายวันนั้นก็มาถึง จะไม่สนิทกันได้ยังไง อยู่กันสองคน มีแต่คนๆ นี้ เอาผลไม้มาให้กิน พาจูงเดิน พาเล่น สุดท้ายก็ยอมรับ เขาเห็นว่าเราไม่ได้มาทำร้ายเขา เขาก็ไม่กลัว" สมใจ เล่าถึงการสร้างความคุ้นเคยกับลิง

 

  • ใช้ความรักถ่ายทอดความรู้

การฝึกลิงเก็บมะพร้าวนั้นจะแบ่งเป็นขั้นตอน ก่อนอื่นต้องสร้างสภาพแวดล้อมให้ลิงเห็นแต่มะพร้าวแก่สีน้ำตาลเท่านั้น ไม่มีมะพร้าวอ่อนเลย ขั้นแรกโยนมะพร้าวสีน้ำตาลให้ลิงเล่น ได้สัมผัส ได้กัด ได้แทะ ทำรางแขวนมะพร้าวที่หมุนได้เอาไว้ ครูฝึกจะหมุนให้เขาดู สักพักหนึ่ง ก็จับมือลิงมาหมุน เหมือนครูจับมือเด็กเขียนหนังสือ

"ขั้นตอนนี้ครูฝึกต้องอดทน เพราะเป็นจุดเริ่มต้น ลิงจะไม่เข้าใจอะไรเลย จะไม่ยอม จะหดมือ สุดท้ายพอเขาผ่อนคลาย เราจะเห็นพัฒนาการในแต่ละวัน ค่อยๆ ดีขึ้น หลังจากนั้นเขาก็จะหมุนเองได้ ต้องใช้เวลานานสักนิด เตรียมใจไว้สักหนึ่งเดือน ถ้าหนึ่งอาทิตย์ผ่านไป  ลิงยังทำไม่ได้ ก็อย่าไปหาว่าลิงโง่ ให้ทำไปเรื่อยๆ ไม่ต้องไปกังวล แต่ละตัวจะเร็วช้าไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย

ขั้นที่สอง หลังจากสอนให้ใช้มือปั่นได้เก่งแล้ว เราก็ฝึกให้ใช้เท้า ขั้นตอนนี้เราไม่ใช้รางแล้ว แต่จะใช้มะพร้าวอย่างเดียว ด้วยการถือขั้วมะพร้าวให้ปั่น แล้วเราค่อยๆ ดันมะพร้าวเข้าไปถูกตัว เขาก็จะเอาเท้าถีบออก เราต้องรีบปล่อยมะพร้าวให้หล่น แล้วชม เก่งๆ ลูกเก่ง เขาจะเริ่มเข้าใจว่าต้องใช้เท้าด้วย ให้ทำไปเรื่อยๆ เวลาเขาทำดีนี่ต้องชมนะคะ พวกสัตว์เรื่องน้ำเสียงนี่เขาจะเข้าใจรู้หมด เราโกรธ เราดีใจ เราชมเชย เราพอใจ ถ้าเขาทำอะไรดี เราชมเลย เก่ง เก่งมากเลยลูก"

159426099946

ภาพจาก www.firstschoolformonkeys.com

ขั้นตอนที่สาม สมใจจะแขวนมะพร้าวให้สูงขึ้น ตามเสาบ้าง ตามต้นมะพร้าวบ้าง ระยะ 1- 2- 3 เมตร แล้วสูงขึ้นเรื่อยๆ

"ให้เรียนหัดปีน เรียนรับผิดชอบว่าหน้าที่คือต้องไปทำมะพร้าวให้หล่นลงมา แต่ต้องฝึกกับมะพร้าวสีน้ำตาลตลอด ขั้นตอนที่สี่ ทดลองกับมะพร้าวต้นเตี้ยๆ ก่อน เราใช้บันไดปีนไปแขวนมะพร้าวไว้แล้วบิดช่วยสักครึ่งหนึ่ง พอเขาขึ้นไปบิด 2-3 รอบหล่น เขาก็ดีใจ อย่าให้เขารู้สึกว่าเขาแพ้ พอเขามีประสบการณ์ ต่อไปเราก็ไม่ต้องช่วยแล้วค่ะ หลังจากนั้นเริ่มปล่อยขึ้นต้นสูงได้เลย แล้วต้องหมั่นทำทุกวัน วันละเล็กละน้อยก็ยังดี เหมือนฝึกนักกีฬาค่ะ"

สภาพอากาศ ก็มีผลต่อการฝึก จึงต้องฝึกช่วงเช้าและเย็น  เพราะอากาศกำลังสบาย ลิงจะเรียนรู้ได้เร็ว

"แต่ละตัวไม่เหมือนกัน บางตัวเป็นเร็ว บางตัวเป็นช้า แต่ว่าไม่เกิน 5 เดือนเป็นแน่นอน หลังจาก 5 เดือนไปแล้ว ก็เหมือนเด็กเพิ่งจบใหม่ ต้องพาไปทดลองงานให้มีประสบการณ์ หลังจากนั้น 1-2 ปี ถึงจะทำงานได้ เวลาฝึกต้องฝึกทีละตัว แล้วเอาลิงที่มาใหม่มาล่ามไว้กับต้นไม้ข้างๆ ปล่อยให้เล่นไป พอเราสอนตัวนี้เสร็จ เราวางมะพร้าวในรางทิ้งไว้ ลืมเก็บ หันไปอีกที ลิงมาใหม่ มันมาเล่น มาหมุน มาทำตามที่ตัวเมื่อกี้ได้ทำไว้ แสดงว่ามันไม่ได้เล่นอย่างเดียว มันเรียนรู้ไปด้วย"

ว่ากันว่า คนใต้จะเรียกลิงว่า 'นุ้ย' เหมือนกันทุกตัว แต่ละตัวมีนิสัยที่ไม่เหมือนกัน จำเป็นต้องเรียนรู้ ทำความรู้จัก สร้างความสัมพันธ์ให้เกิดความไว้วางใจซึ่งกันและกัน

"ลิงมีอายุไขอยู่ที่ 20-25 ปี บางตัวอยู่ได้ถึง 30 ปี ไข่นุ้ยของพ่ออยู่ได้ถึง 27 ปี ลิงเก็บมะพร้าว จะมีเฉพาะภาคใต้ ประจวบฯ ชุมพร สุราษฎร์ นครศรีธรรมราช และแถบชายแดนไทย-มาเลเซีย เป็นลิงที่ชาวบ้านใช้เก็บมะพร้าวต้นสูงๆ เป็นหลัก ถ้าต้นเตี้ยๆ ก็ใช้ไม้สอยเก็บเองได้

ปัจจุบันมีจำนวนลดลง ที่โรงเรียนตอนนี้มีลิงอยู่ 8-9 ตัว เป็นลิงของเรา 2 ตัว เป็นลิงที่มาเรียน 5-6 ตัว เราคิดค่าฝึก 5 เดือน 7500 บาท รวมที่พัก-ยารักษาโรค-กิน-อยู่ พร้อม มีอาหารให้สามมื้อ เป็นข้าว นม ไข่ ผลไม้ทุกชนิด ส่วนพวกแมลง ผลไม้ป่า เขาจะหากินเอง ชอบกินตั๊กแตน ชอบกินตัวหนอนสะอาดๆ เวลานอน นอนในต้นไม้ ถ้ามีฝนตกลมพัดแรง เราจะพาไปอยู่ในโรงเรือนข้างใน แม้ว่าจะเป็นลิงเพาะ แต่เราต้องไม่ลืมว่าข้างในเขายังมีสัญชาตญาณสัตว์ป่า ไม่สามารถนอนในบ้านกับเราได้ เขาชอบนอนบนต้นไม้ที่มีพุ่มหนาๆ พวกขนุน กระท้อน”

 

  • มิตรภาพต่างสายพันธุ์

ชาวประมงพื้นบ้านในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ปัตตานีและนราธิวาส ส่วนใหญ่จะปลูกมะพร้าวเป็นแนวป้องกันลมทะเลและคลื่นในหน้ามรสุม มะพร้าวจึงเป็นรายได้อีกทางที่เก็บเกี่ยวผลผลิตได้ทั้งปี ต้นสูงๆ กว่า 10 เมตร จึงต้องใช้ลิงมาช่วยเก็บ 

จรูญ ทองนวล ช่างภาพผู้ถ่ายทอดวิถีชีวิตผู้คนในภาคใต้ กล่าวว่า ความสัมพันธ์ของคนกับ ลิงเก็บมะพร้าว นั้น ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน จนไม่รู้ว่า คนเลี้ยงลิง หรือ ลิงเลี้ยงคน กันแน่

"กว่าจะได้ลิงมาเก็บมะพร้าวไม่ใช่เรื่องง่าย และจะต้องเป็นลิงกัง ลิงหางสั้นเท่านั้น เพราะตัวใหญ่ กล้ามเนื้อเป็นมัดๆ แม้จะดุร้าย เพราะเป็นสัตว์ป่า แต่มีความฉลาด ฝึกง่าย คัดเฉพาะตัวผู้ เพราะแข็งแรงกว่าตัวเมีย สมัยก่อนคนจังหวัดชายแดนภาคใต้นิยมจับลิงบนเทือกเขาทรายขาว อ.โคกโพธิ์ จ.ปัตตานี มาฝึก แต่ปัจจุบันซื้อลูกลิงจากประเทศเพื่อนบ้านมาฝึก ตัวละ 3,000-5,000 บาท 

การฝึกลิงจะต้องฝึกตั้งแต่เล็กๆ มีหลายขั้นตอน กว่าจะปีนเก็บมะพร้าวได้ ลิงวัยทำงานอายุ 5-10 ปี บางตัวเก็บได้ 200-300 ลูกต่อวัน อัตราค่าจ้างและรายได้มี 2 แบบ คือ รับจ้างนำลิงเก็บมะพร้าวให้เจ้าของสวน กับรับซื้อมะพร้าวไปขายโดยใช้ลิง ทั้งสองแบบได้กำไรใกล้เคียงกันลูกละ 3 บาท ปัจจุบันมะพร้าวตลาดรับซื้ออยู่ที่ 10 บาท กำไรแต่ละวันขึ้นอยู่กับปริมาณมะพร้าวและความขยันของคนกับลิง

159423155546

ภาพจาก www.firstschoolformonkeys.com

หลังจากเสร็จสิ้นภารกิจในแต่ละวัน คนกับลิงก็เป็นเพื่อนกัน เจ้าของกินอะไร ลิงก็กินอย่างนั้น ไม่นิยมให้มันกินเนื้อ เพราะท้องผูกง่าย ให้กินนมแทน ลิงจะชอบนมเปรี้ยวเป็นพิเศษ เจ้าของต้องสางขนให้มัน จึงต้องพกหวีตลอดเวลา หากมีเวลาว่างก็อาบน้ำให้ เก็บเห็บ เหา ทายาป้องกันเชื้อโรค ลิงเป็นสัตว์รักสะอาด ขนของมันจะมันวาวอยู่เสมอ ภาพเหล่านี้พบเห็นได้ตลอด นี่คือวิถีชีวิต อัตลักษณ์ของคนชายแดนภาคใต้ เป็นความงดงามที่ซ่อนอยู่ในซอกหลืบปลายด้ามขวาน"

แม้ลิงเก็บมะพร้าวจะกลายเป็นเพื่อนที่ดีของชาวสวน แต่ล่าสุด องค์กรพิทักษ์สัตว์ People of the Ethical Treatment of Animals หรือ PETA รายงานเกี่ยวกับการกระทำอันไม่เหมาะสมของกลุ่มทุนเกษตรกร ชาวสวนไทยใช้แรงงานลิงอย่างทารุณในธุรกิจเกี่ยวกับมะพร้าวและการแปรรูปมะพร้าว จนเกิดกระแสแบนผลิตภัณฑ์มะพร้าว และผลิตภัณฑ์แปรรูปมะพร้าวของไทยในประเทศอังกฤษ 

สมใจ ผู้ฝึกสอนลิงจากวิทยาลัยฝึกลิงเพื่อการเกษตร กล่าวว่า กรณีนี้เป็นการเหมารวมที่ไม่ยุติธรรม

"อยากถามหน่วยงาน PETA ว่าได้ภาพมาจากที่ไหน อยากให้เจ้าของภาพมาอธิบาย ถ้าเข้าข่ายทรมานสัตว์จริงก็ต้องมีบทลงโทษ แต่การที่ PETA มาเหมาว่า คนเลี้ยงลิงมีจิตใจโหดร้าย กระทำทารุณกับสัตว์ทุกตัว มันไม่ยุติธรรม ไปพิพากษาเขาหมดเลย ต้องมีการตรวจสอบ สอบถาม"

ขณะที่ นิรันดร์ วงศ์วาณิช เจ้าของศูนย์ฝึกลิงเพื่อการเกษตรคลองน้อย ต.คลองน้อย จ.สุราษฎร์ฯ กล่าวว่า อยากให้รัฐบาลช่วยอธิบายให้ต่างประเทศทราบข้อเท็จจริงด้วย 

"พวกเราดูแลลิงเหมือนลูกทุกอย่าง ไม่มีการทรมานสัตว์แต่อย่างใด ตรงกันข้ามกลับให้ความรักความเอ็นดูมากกว่า" 

ส่วนตัวแทนศูนย์ฝึกลิงเพื่อการเกษตรกระแดะแจะ อ.กาญจนดิษฐ์ กล่าวว่า "ลิงที่นำมาขึ้นมะพร้าว เป็นลิงจากฟาร์มเพาะเลี้ยง มีใบอนุญาตเพาะพันธุ์ ไม่ใช่ลิงป่า การดูแลลิงก็ให้อาหารอย่างดี ไม่แตกต่างจากนักกีฬา เนื่องจากลิงพวกนี้ต้องใช้แรงงาน จึงต้องสมบูรณ์แข็งแรง"

ล่าสุด ผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานี ได้ลงพื้นที่ให้กำลังใจเกษตรกรชาวสวนมะพร้าวและศูนย์ฝึกลิง กล่าวว่า "อาจเป็นความไม่เข้าใจวิถีเกษตรกร ขณะนี้กระทรวงพาณิชย์ได้ให้ทูตพาณิชย์ที่อังกฤษไปชี้แจง จะมีการเชิญทูตประเทศต่างๆ มาดูการทำอาชีพสวนมะพร้าว และการดูแลลิง เพื่อความเข้าใจที่ถูกต้อง"

ลิงเก็บมะพร้าว เป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตและภูมิปัญญาที่ชาวบ้านนำมาช่วยลดความเสี่ยงอันตรายที่จะเกิดขึ้น ลิงจึงเป็นเสมือนเพื่อนที่เสียสละ