จับสัญญาณ 'สภาล่ม'! เบื้องลึกปัญหา 20 พรรครัฐบาล อย่าประมาท 'ยุบสภา'

จับสัญญาณ 'สภาล่ม'! เบื้องลึกปัญหา 20 พรรครัฐบาล อย่าประมาท 'ยุบสภา'

สภาล่ม กลายเป็น New normal ของสภาผู้แทนราษฎรในยุค ชวน หลีกภัย

ภายหลังเพิ่งเกิดเหตุการณ์สภาล่มเป็นครั้งที่ 3 โดย 2 ครั้งก่อนหน้านี้ เกิดระหว่างการพิจารณาตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อศึกษาผลกระทบจากการกระทำประกาศและคำสั่งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และการใช้อำนาจของหัวหน้า คสช.ตามมาตรา 44 เมื่อวันที่ 27 และ 28 พ.ย. 2562

เหตุการณ์สภาล่ม 2 ครั้ง ในปีที่ผ่านมา ยังพอเข้าใจได้ว่า ส่วนหนึ่งมาจากปัญหาเสถียรภาพภายในรัฐบาลเอง เพราะเวลานั้นรัฐบาลยังมีเสียงในสภาค่อนข้างปริ่มน้ำ จนเคยเกิดสถานการณ์ที่รัฐบาลแพ้โหวตฝ่ายค้านมาแล้ว แต่สำหรับสภาล่มครั้งที่ 3 นี้ นับเป็นเรื่องที่ไม่อาจอ้างเหตุเดิมได้ เนื่องจากรัฐบาลในวันนี้ ไม่ได้มีเสียงกระท่อนกระแท่นเหมือนในอดีต

 

คนที่ต้องรับผิดชอบในเรื่องนี้ไปเต็ม ๆ คือ ‘วิรัช รัตนเศรษฐประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล หรือประธานวิปรัฐบาล ในฐานะผู้ควบคุมเสียงของส.ส.รัฐบาล โดยไม่สามารถเลี่ยงข้อหาประมาท หละหลวม ไม่กวดขันให้ ส.ส.รัฐบาลเข้าร่วมประชุมกันอย่างพร้อมเพรียง ไปได้

สถานการณ์ของสภา เมื่อวันที่ 8 ก.ค.63 ส่อแววว่าจะประชุมไปได้ไม่ตลอดรอดฝั่ง เพราะกว่าที่จะเข้าสู่ระเบียบวาระได้ ต้องใช้เวลานานกว่า 1 ชั่วโมง เพราะจำนวน ส.ส.ลงชื่อมาประชุมไม่ครบองค์

สาเหตุหนึ่งที่อาจทำให้วิปรัฐบาลชะล่าใจ คือ ระเบียบวาระการประชุมสภาในวันดังกล่าว มีเพียงการรับรายงานความคืบหน้าการปฏิรูป และรายงานประจำปีของหน่วยงานอิสระตามกฎหมาย ซึ่งเป็นวาระเพื่อให้สภาฯ รับทราบเท่านั้น โดยไม่จำเป็นต้องลงมติ จึงเป็นเหตุให้ ส.ส.ไม่ได้ให้ความสำคัญกับการประชุมในห้องประชุมสภาฯ เป็นหลัก จนทำให้สภาล่ม และกลายเป็นสถิติครั้งที่สาม

เมื่อตรวจดูบัญชีรายชื่อ ส.ส.ที่ใช้สิทธิ์แสดงตนในที่ประชุมสภาฯ พบว่ามี ส.ส.พลังประชารัฐ พรรคแกนนำรัฐบาล หายไปถึง 27 คน ตัวเลขสองหลักที่เกิดขึ้นนี้ เป็นเรื่องที่ไม่อาจมองข้ามไปได้ เพราะด้านหนึ่งเป็นการสะท้อนให้เห็นว่า ภายในพรรคพลังประชารัฐเอง ยังมีปัญหาเรื่องการบริหารจัดการอยู่พอสมควร

โดยมีการประเมินถึงการคุมเสียงในสภาว่า จริงๆ แล้ว สภาส่อแววจะล่มเป็นครั้งที่ 3 ตั้งแต่สัปดาห์ที่ผ่านมา ระหว่างการพิจารณาร่างกฎหมายงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2564 ที่ ส.ส.ฝ่ายค้าน ส่งสัญญาณกลางที่ประชุมสภาฯ จะขอนับองค์ประชุม 

แต่ขณะนั้นพรรคเพื่อไทย ยังไม่เอาจริง ถึงขั้นมีการเสนอญัตติ และมี ส.ส.ยกมือรับรอง เพียงแต่ต้องการเรียกร้องให้รัฐมนตรี และ ส.ส.รัฐบาลเข้าร่วมประชุมสภาฯ เพื่อฟังการอภิปรายของฝ่ายค้าน ไม่ใช่ปล่อยให้พูดอยู่ฝ่ายเดียว ท่ามกลางห้องประชุมที่มีแต่เก้าอี้ว่าง

ไม่เพียงเท่านี้ ภาพของสภาล่มที่เพิ่งเกิดขึ้น ยังเป็นกระจกสะท้อนถึงเสถียรภาพภายในพรรคร่วมรัฐบาลด้วย เพราะมี ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ถึง 16 คนที่หายไปอย่างไร้ร่องรอย ยิ่งเป็นการตอกย้ำว่า การคุมเสียงของฝ่ายรัฐบาลมีปัญหาแล้วจริงๆ

เมื่อมองย้อนกลับไปถึงการอภิปรายร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2564 ในวาระที่ 1 ที่เพิ่งผ่านไป ปรากฏว่า ‘ประชาธิปัตย์’ เป็นพรรคการเมืองหนึ่ง ที่อภิปรายวิพากษ์วิจารณ์ถึงการจัดทำงบประมาณที่ไม่ประสิทธิภาพของรัฐบาลแบบตรงไปตรงมาชัดเจน 

โดยเฉพาะในกรณีของ ‘สาทิตย์ วงศ์หนองเตย ที่ระบุในทำนองว่า รัฐบาลจัดทำงบประมาณ 2564 ไม่ใช่การจัดทำงบประมาณในภาวะฉุกเฉิน หรือจะเป็นการอภิปรายของ ‘กนก วงษ์ตระหง่าน’ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ซึ่งได้ย้ำว่า การทำงบประมาณ 2564 ยังไม่ได้ช่วยแก้ไขปัญหาของประชาชน

ต้องยอมรับว่า ยิ่งนานวันความบาดหมางและรอยร้าวของพรรคร่วมรัฐบาล ยิ่งลงลึก จนยากจะประสานให้เป็นเนื้อเดียวกัน โดยเฉพาะข้อเรียกร้องของพรรคร่วมรัฐบาล อย่างการแก้ไขรัฐธรรมนูญก็ไม่ได้รับการตอบสนองจากพรรคพลังประชารัฐอย่างจริงจัง 

อีกทั้ง ความไม่ลงรอยต่อการเปลี่ยนตัวรัฐมนตรีบางคนในคณะรัฐมนตรี ที่ผลงานไม่เข้าตา ซึ่ง ‘พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา’ นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ก็ไม่สามารถทำได้เต็มที่ เนื่องจากยังต้องปิดตาข้างเดียว เพื่อพึ่งพาอาศัยกันไปก่อน

จึงไม่แปลกที่ สมคิด จาตุศรีพิทักษ์’ ผู้เคยผ่านการทำงานมาทั้งรัฐบาลจากการเลือกตั้ง และรัฐบาลทหาร จะเปรียบเปรยถึงการยุบสภาของสิงคโปร์ บนพื้นฐานเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพให้กับรัฐบาล เพราะรู้ดีว่า ท่ามกลางสถานการณ์เช่นนี้ เป็นการยากที่รัฐบาลจะไปได้ตลอดรอดฝั่ง

ด้วยสภาพที่เกิดขึ้นเวลานี้ สภาผู้แทนราษฎรคงไม่หยุดการล่มไว้ที่ 3 ครั้งเท่านั้น แต่ยังมีแนวโน้มที่จะเกิดขึ้น และทำสถิติได้อีก 

และยิ่งสภาล่มมากครั้งเท่าไหร่ พล.อ.ประยุทธ์ ในฐานะหัวหน้ารัฐบาล จะกลายเป็นจุดทัวร์ลงทันที แม้ต้นเหตุจะไม่ได้เกิดจากนายกรัฐมนตรีก็ตาม 

ปรากฏการณ์สภาล่มซ้ำซาก กำลังสะท้อนถึงความประมาท การ์ดตกของนักการเมือง โดยเฉพาะขั้วรัฐบาล ที่มีถึง 20 พรรค อาจด้วยความชะล่าใจในเสียงที่เหนือกว่าฝ่ายค้าน 

หากยังไร้ความรับผิดชอบในงานสภา ก็อย่าประมาท อำนาจการยุบสภา” ที่นายกฯ ประยุทธ์ มีอยู่แต่เพียงผู้เดียว!