‘นอนแบงก์’ ตั้งการ์ดสูง เร่งกันสำรองป้องหนี้เสียพุ่ง

‘นอนแบงก์’ ตั้งการ์ดสูง  เร่งกันสำรองป้องหนี้เสียพุ่ง

บมจ.อิออน ธนสินทรัพย์ (AEONTS) นับเป็นหุ้นในกลุ่ม ‘Non-bank’ รายแรก ที่รายงานผลประกอบการออกมาหลังจากต้องเผชิญหน้ากับวิกฤติโควิด-19 ซึ่งเป็นผลประกอบการไตรมาส 1 ปี 2563/2564 (1 มี.ค. – 31 พ.ค.) ของบริษัท

หากกวาดตามองอย่างเร็วๆ จะพบว่า กำไรสุทธิของ AEONTS ในไตรมาสล่าสุด ลดลงไปอย่างน่าใจหาย โดยทำได้เพียง 530 ล้านบาท ลดลง 46% จากงวดเดียวกันของปีก่อน แม้ว่าบริษัทจะยังมีรายได้รวมเติบโตขึ้นได้ 3% อยู่ที่ 5.65 พันล้านบาท

โดยหลักแล้ว 'กำไรสุทธิ' ที่ลดลงอย่างหนักของ AEONTS เป็นผลจากการเพิ่มขึ้นของค่าใช้จ่ายในส่วนของ ‘หนี้สูญและหนี้สงสัยจะสูญ’ ซึ่งเพิ่มขึ้น 72% มาอยู่ที่ 2.39 พันล้านบาท ขณะเดียวกัน บริษัทยังตั้งค่าเผื่อผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะขึ้นไว้จำนวน 1.17 หมื่นล้านบาท จนทำให้อัตราส่วนการตั้งสำรอง (Coverage ratio) ของบริษัท เพิ่มขึ้นจาก 120% ไปเป็น 360%

กรกช เสวตร์ครุตมัต ผู้ช่วยผู้อำนวยการ ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.กสิกรไทย มองว่า เมื่อพิจารณาจากผลประกอบการของ AEONTS ที่ออกมาล่าสุดนี้ เชื่อว่าผลงานของบริษัทที่ใกล้เคียงกันอย่าง บมจ.บัตรเครดิตกรุงไทย (KTC) น่าจะไปในทิศทางเดียวกัน ส่วน บมจ.เมืองไทย แคปปิตอล (MTC) และบมจ.ศรีสวัสดิ์ คอร์ปอเรชั่น (SAWAD) น่าจะได้รับผลกระทบน้อยกว่า เนื่องจากลูกหนี้มีหลักประกัน ทำให้คนยังพยายามจ่ายหนี้ก่อนหนี้บัตรเครดิต

หากมองแนวโน้มต่อไปในช่วงครึ่งปีหลัง เชื่อว่าผลประกอบการของหุ้นกลุ่มนี้น่าจะยังไม่ฟื้นตัวดีนัก เพราะแรงกดดันที่จะเข้ามาคือ การลดเพดานดอกเบี้ย ซึ่งกระทบต่อการทำกำไรมากขึ้น โดยเฉพาะในส่วนของ KTC และ SAWAD ที่เดิมทีเรียกเก็บดอกเบี้ยสูงกว่าเพดานที่จะปรับลดลง

“ผลประกอบการของหุ้นกลุ่มนี้ในอีก 1-3 ไตรมาสข้างหน้า ยังมีแนวโน้มอ่อนแอ ซึ่งหากพิจารณาจากงบฯ ของ AEONTS ล่าสุด ซึ่งตั้งสำรองสูงขึ้นมาก เป็นสัญญาณว่าบริษัทเตรียมพร้อมรับมือกับหนี้เสียที่อาจจะสูงขึ้น โดยการตั้งสำรองของ AEONTS สะท้อนว่าบริษัทตั้งใจรับมือกับระดับหนี้เสียที่จะเพิ่มขึ้นจากปัจจุบันอีกไม่เกิน 3 เท่า หรือหมายความว่า NPL ของบริษัทอาจจะเพิ่มขึ้นได้ถึง 10% จาก 3.7% ในขณะนี้ ในกรณีเลวร้ายที่สุด”

159421514831

อย่างไรก็ดี ราคาหุ้นของ AEONTS ในวันนี้ (8 ก.ค.) ฟื้นตัวกลับขึ้นมาอยู่ในแดนบวกได้ แม้จะติดลบไปในช่วงแรก ส่วนหนึ่งคงเป็นเพราะกำไรที่ลดลงอย่างน่าตกใจ แต่เมื่อดูในรายละเอียดแล้ว จะเห็นว่าคุณภาพลูกหนี้ของบริษัทยังไม่แย่อย่างที่คิด เพราะ AEONTS เลือกจัดชั้นลูกหนี้ตามปกติ นั่นหมายความว่า NPL ที่แสดงออกมานี้ เป็นตัวเลขที่ค่อนข้างจะใกล้เคียงกับความจริง ทำให้นักลงทุนเริ่มเชื่อมั่นมากขึ้น

ด้าน นักวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.หยวนต้า (ประเทศไทย) มองว่า ผลประกอบการของ AEONTS ล่าสุดนี้ แย่กว่าที่ประเมินไว้ โดยมีสาเหตุหลักจากค่าใช้จ่ายในการตั้งสำรองที่เพิ่มขึ้น 72% จน Credit Cost เพิ่มขึ้นเป็น 10.7% จากเพียง 6.7% ในช่วงไตรมาส 1 ปีก่อน หลังปรับใช้การตั้งสำรองตามมาตรฐานบัญชี TFRS9 เป็นไตรมาสแรก และมีการตั้งสำรองพิเศษเพื่อรองรับความเสี่ยงทางเศรษฐกิจในอนาคตอีก 1.01 พันล้านบาท

หลังการตั้งสำรองที่สูงกว่าที่คาด จึงปรับลดประการกำไรสุทธิปี 2563 ลง 8% เพื่อสะท้อนปัจจัยดังกล่าว ซึ่งภายใต้ประมาณการใหม่ คาดว่า AEONTS จะมีกำไรสุทธิ 3.41 พันล้านบาท ลดลง 14% จากปีก่อน โดยคาดผลดำเนินงานของ AEONTS ได้ผ่านจุดต่ำสุดไปแล้วในช่วงไตรมาสแรกนี้ และจะเริ่มเห็นการฟื้นตัวที่ดีขึ้นต่อเนื่องตั้งแต่ช่วงไตรมาส 2 หนุนด้วยยอดใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตและยอดขอสินเชื่อเพื่อการบริโภคที่จะทยอยเร่งตัวขึ้น หลังเริ่มเปิดเมืองตั้งแต่เดือน มิ.ย.

แม้ผลดำเนินงานปีนี้คาดออกมาไม่ดีนัก แต่จุดเลวร้ายที่สุดได้ผ่านไปแล้ว และแนวโน้มกำไรจะเริ่มฟื้นตัวดีขึ้นตั้งแต่ไตรมาส 2 นี้ ขณะที่ราคาหุ้นปรับตัวลงจนกลับมาซื้อขายที่ P/BV เพียง 1.4 เท่า ต่ำกว่าค่าเฉลี่ย 5 ปีย้อนหลัง สะท้อนว่าราคาหุ้นได้ซึมซับข่าวร้ายไปมากแล้ว นอกจากนี้ได้ปรับลดมูลค่าพื้นฐานของ AEONTS ให้สอดคล้องกับมูลค่าทางบัญชีใหม่ หลังรับรู้ผลของการตั้งสำรองส่วนขาดในกำไรสะสมราว 6.78 พันล้านบาท ได้มูลค่าพื้นฐานใหม่ปี 2563 ที่ 135 บาท