ยุคใหม่ของ 'Apple' ที่อาจไม่มี 'อินเทล' ยุคใหม่อีโคซิสเต็มดิจิทัล

ยุคใหม่ของ 'Apple' ที่อาจไม่มี 'อินเทล' ยุคใหม่อีโคซิสเต็มดิจิทัล

ส่องปรากฏการณ์ยุคใหม่ของ "แอ๊ปเปิ้ล" ที่จะเปลี่ยนจากการใช้ซีพียูของ "อินเทล" มาใช้ซีพียูของแอ๊ปเปิ้ลเอง นับเป็นการเปลี่ยนแปลงยุทธศาสตร์ทางด้านเทคโนโลยีครั้งสำคัญที่น่าจับมอง ซึ่งโดยกระบวนการของการเปลี่ยนผ่านจะเสร็จสิ้นภายใน 12-18 เดือนข้างหน้า

สองสัปดาห์ก่อนแอ๊ปเปิ้ลได้จัดงานดับเบิลยูดับเบิลยูดีซี (WWDC) 2020 ความแตกต่างอันมีนัยสำคัญของ WWDC ในครั้งนี้มิได้มีแค่การจัดงานในรูปแบบของวิดีโอสตรีมมิ่ง เนื่องมาจากสถานการณ์โควิด-19 ที่ทำให้ไม่สามารถจัดงานในสถานที่จริงได้ แต่กลับเป็นการแถลงการณ์ถึงการเปลี่ยนแปลงยุทธศาสตร์ทางด้านเทคโนโลยีครั้งสำคัญ นั่นก็คือการที่คอมพิวเตอร์ทุกรุ่นในอนาคตของแอ๊ปเปิ้ล จะเปลี่ยนจากการใช้ซีพียูของอินเทลมาใช้ซีพียูของแอ๊ปเปิ้ลเอง โดยกระบวนการของการเปลี่ยนผ่านจะเสร็จสิ้นภายใน 12-18 เดือนข้างหน้า

  • ซีพียู คืออะไร?

ซีพียู คือ หน่วยประมวลผลกลางที่เปรียบเสมือนเป็นสมองของคอมพิวเตอร์ทุกเครื่อง ในกรณีทั่วไปซีพียูที่เร็วกว่า ย่อมหมายถึงคอมพิวเตอร์ที่เร็วกว่า

สำหรับคอมพิวเตอร์ในรูปแบบของเซิร์ฟเวอร์ตั้งโต๊ะหรือกระทั่งแล็ปท็อปและโน๊ตบุ๊คนั้น อินเทลได้เป็นผู้ครองตลาดด้านซีพียูมากว่า 40 ปีแล้ว ถึงแม้ว่าจะมีผู้เล่นรายอื่นๆ ที่มีทั้งเกิดและดับในช่วง 40 ปีที่ผ่านมา นอกเหนือจากอินเทล ก็อาจมีเพียงแค่เอเอ็มดีที่เป็นผู้ผลิตซีพียูทางเลือกที่ยังพอเป็นที่รู้จักกันในยุคปัจจุบัน

สำหรับคอมพิวเตอร์ในตระกูลพีซีที่เริ่มต้นจากไอบีเอ็มพีซี เมื่อ 40 ปีที่แล้ว ได้เริ่มต้นมาจากการใช้ซีพียูของอินเทล แม้กระทั่งปัจจุบันที่เป็นวินโดว์พีซีก็ยังคงใช้ซีพียูของอินเทลเป็นหลักอยู่

แต่สำหรับคอมพิวเตอร์ของแอ๊ปเปิ้ลได้เปลี่ยนซีพียูมาหลายครั้งในช่วง 40 ปีที่ผ่านมา นับจากยุคแรกที่ใช้โมโตโรล่า จนถึงยุคกลางที่เป็นความร่วมมือระหว่างแอ๊ปเปิ้ลไอบีเอ็มและโมโตโรล่า จนถึงยุคหลังเมื่อ 15 ปีที่ผ่านมา ที่ได้ปรับเปลี่ยนมาใช้อินเทลเช่นเดียวกับพีซี

  • ซีพียูของแอ๊ปเปิ้ลมาจากไหน?

ถึงแม้แอ๊ปเปิ้ลจะเริ่มต้นธุรกิจจากการขายคอมพิวเตอร์เมื่อ 40 ปีที่แล้ว แต่นับจากการเปิดตัวของไอโฟน รายได้กว่าครึ่งหนึ่งของแอ๊ปเปิ้ลมาจากการขายไอโฟนและจำนวนยอดขายของไอโฟนนั้น มากกว่าจำนวนยอดขายของคอมพิวเตอร์ของแอ๊ปเปิ้ลหลายเท่าตัวไอโฟน ไม่ต่างกับสมาร์ทโฟนของค่ายอื่นที่ตามมาต่างก็ต้องการซีพียูที่เร็วและไม่กินแบตเตอรี่ จึงเป็นที่มาของซีพียูตระกูลอาร์ม ที่เป็นผู้ครองตลาดสำหรับสมาร์ทโฟนอย่างที่อินเทลหรือเอเอ็มดีต่างก็ไม่สามารถทะลุทะลวงเข้าไปได้

ซีพียูของแอ๊ปเปิ้ลเริ่มต้นจากไอโฟนรุ่น 4 เมื่อ 10 ปีที่แล้วที่แอ๊ปเปิ้ลพัฒนาต่อยอดจากซีพียูตระกูลอาร์ม โดยเพิ่มฟังชั่นของแอ๊ปเปิ้ล ซึ่งนับจากนั้นไม่เพียงแค่ไอโฟนทุกรุ่น แต่ก็ยังรวมไปถึงไอแพดทุกรุ่น ก็ต้องใช้ซีพียูของแอ๊ปเปิ้ลเช่นกัน

เข้าสู่ยุคปัจจุบันซีพียูตระกูลอาร์ม โดยเฉพาะอย่างยิ่งซีพียูของแอ๊ปเปิ้ลเองได้ถูกพิสูจน์แล้วว่า ไม่เพียงแต่จะกินแบตเตอรี่น้อยกว่า แต่กลับมีความเร็วที่ไม่น้อยหน้าซีพียูของอินเทลสำหรับแล็ปท็อป โน๊ตบุ๊คและคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะ จึงได้มาสู่แผนการของแอ๊ปเปิ้ลที่จะเปลี่ยนจากการใช้ซีพียูของอินเทลมาใช้ซีพียูของแอ๊ปเปิ้ลที่อยู่ในตระกูลอาร์มนั่นเอง

สำหรับแอ๊ปเปิ้ล นั่นหมายความว่า ไม่ว่าจะเป็นคอมพิวเตอร์ ไอโฟน หรือไอแพดทุกเครื่องต่อจะไปจะใช้ซีพียูในระบบเดียวกันที่ผลิตโดยแอ๊ปเปิ้ลทั้งหมด ซึ่งไม่เพียงแต่จะเป็นการเชื่อมโยงประสบการณ์ของการใช้งานระหว่างอุปกรณ์ได้อย่างแนบเนียน และแอ๊ปเปิ้ลจะยังเพิ่มฟังก์ชั่นพิเศษของแอ๊ปเปิ้ลเองลงในซีพียู เพื่อให้การใช้งานจะมีประสิทธิภาพมากขึ้น

แต่สำหรับอีโคซิสเต็มด้านดิจิทัลที่เหลืออาจนำไปสู่การปรับเปลี่ยนจากอินเทล และกระทั่งเอเอ็มดีไปสู่ซีพียูตระกูลอาร์มของคอมพิวเตอร์ในตระกูลพีซี โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับแล็ปท็อปโน๊ตบุ๊คและคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะ

เรื่องราวดังกล่าวจะส่งผลกระทบครั้งใหญ่ต่ออุตสาหกรรมดิจิทัล เพราะเกี่ยวข้องกับรากฐานของธุรกิจเหล่านี้ที่เป็นพี่ใหญ่ทางด้านดิจิทัลผู้ไม่เคยเปลี่ยนแปลงมากว่า 40 ปี