เหตุใด 'Yield curve control' จึงไม่ใช่นโยบายเร่งด่วนสำหรับไทย

เหตุใด 'Yield curve control' จึงไม่ใช่นโยบายเร่งด่วนสำหรับไทย

เปิดบทวิเคราะห์ หากประเทศไทยนำนโยบาย YCC หรือ Yield curve control มาใช้จริง ใครจะเป็นผู้รับประโยชน์โดยตรงและมากที่สุด และนำไปสู่ข้อสรุปที่ว่า YCC เป็นกระสุนที่จะถูกนำมาใช้หรือไม่

อัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ลงถึงจุดต่ำสุดที่ 0.5% นำไปสู่คำถามว่าธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กระสุนหมดแล้วหรือไม่อย่างไร หากเรามองดูสิ่งที่ธนาคารชาติทั่วโลกทำกัน ก็ต้องบอกว่า ธปท.ยังจะมีกระสุนอื่นๆ อีกอยู่พอสมควรครับ ตั้งแต่นโยบายดอกเบี้ยเป็นศูนย์หรือกระทั่งติดลบ การทำ QE ประเภทต่างๆ และหนึ่งในหลายนโยบายที่จะขอกล่าวถึงในบทความนี้คือ Yield curve control หรือ YCC ซึ่งเป็นนโยบายที่คาดว่าจะได้รับการพูดถึงมากขึ้นในอนาคตอันใกล้

Yield curve control เป็นหัวข้อที่พูดถึงกันมากในช่วง 5 ปีที่ผ่านมานี้ เพราะธนาคารกลางญี่ปุ่นนำมาประกาศใช้อย่างเป็นทางการ ธนาคารกลางสหรัฐนั้นปฏิเสธการนำมาใช้แล้ว แต่ผู้เล่นบางส่วนในตลาดยังมั่นใจว่า ธนาคารกลางสหรัฐจะต้องนำนโยบาย YCC มาใช้ในที่สุด

มีหลักฐานว่าธนาคารกลางของสหรัฐเคยนำมาใช้แล้วครั้งหนึ่งในช่วงสงครามโลกครั้ง 2 ผลของนโยบายนี้จะมีส่วนช่วยกระตุ้นอัตราเงินเฟ้อแบบที่ญี่ปุ่นคาดหวัง หรือมีผลให้ค่าเงินอ่อนลงหรือไม่อย่างไร จะไม่เป็นประเด็นถกเถียงในที่นี้ บทความนี้ต้องการนำเสนอว่า นโยบาย YCC หากนำมาใช้ในประเทศไทยจริง ใครจะเป็นผู้รับประโยชน์โดยตรงและมากที่สุด และนำไปสู่ข้อสรุปที่ว่า YCC เป็นกระสุนที่จะถูกนำมาใช้หรือไม่

ต้องขอย้อนความก่อนว่า การกำหนดอัตราดอกเบี้ยนโยบายถือเป็นการ "peg" ชนิดหนึ่ง ซึ่งคำว่า peg นี้ทำให้เรานึกถึงอัตราแลกเปลี่ยน อัตราดอกเบี้ยนโยบายเป็นการ peg อัตราดอกเบี้ยระยะสั้นๆ เช่น วัน วัน หรือ 14 วัน ซึ่งสะท้อนสภาพคล่องระยะสั้นๆ จากการกู้ยืมระหว่างธนาคารกลางกับธนาคารพาณิชย์

YCC เป็นการ peg อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลระยะยาวขึ้น ซึ่งสะท้อนต้นทุนการกู้เงินของรัฐบาล ในฐานะที่ทำหน้าที่เป็น benchmark ในการทำ pricing สินทรัพย์ทั้งหลายในระบบเศรษฐกิจ

การจะตอบว่าใครบ้างน่าจะเป็นผู้รับประโยชน์จากนโยบายนี้ เราก็ต้องไปดูว่า ฐานของสินทรัพย์ที่ใช้ yield curve ในการเป็น benchmark rate มีใครบ้าง เราพุ่งเป้าไปที่ตลาดตราสารหนี้และสินเชื่อธนาคารพาณิชย์ อันเป็นสินทรัพย์ที่อ้างอิงกับอัตราดอกเบี้ยประเภทต่างๆ ได้ตารางข้างล่างดังนี้

159411381067

จากตารางนี้ ขอแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม กลุ่มที่หนึ่งคือพันธบัตรรัฐบาลและรัฐวิสาหกิจ ซึ่งมียอด ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2563 อยู่ราว 10 ล้านล้านบาท ซึ่งได้รับประโยชน์แน่นอนจากนโยบาย YCC การกำหนด yield curve ให้ต่ำย่อมหมายถึงต้นทุนการกู้เงินหรือการออกพันธบัตรของรัฐบาลต่ำ อย่างไรก็ตาม เรายังไม่เห็นสัญญาณความเร่งด่วนว่ารัฐบาลโดยกระทรวงการคลังจะมีปัญหาในการระดมเงินทุนผ่านตลาดพันธบัตร ต้นทุนในปัจจุบันก็ไม่อาจสรุปได้ว่าแพงเกินไป

เราจึงอาจสรุปได้ว่า ตลาดพันธบัตรรัฐบาลไม่ได้มีปัญหาเร่งด่วนใดๆ ที่จะต้องการนโยบาย Yield curve control อย่างน้อยในระยะอันใกล้

กลุ่มที่สองเป็นตลาดหุ้นกู้ราว 3.6 ล้านๆ ซึ่งเคยถูกมองเป็นจุดเปราะบางเมื่อเดือนมีนาคม จนเป็นที่มาของ Bond Stabilization Fund แต่เวลาผ่านไปเกือบสี่เดือน ตลาดหุ้นกู้ค่อยๆกลับมาทำหน้าที่ได้ดีขึ้น และยังไม่เห็นสัญญาณ systemic default

แม้เราจะยังด่วนสรุปไม่ได้ ว่าตลาดหุ้นกู้แคล้วคลาดจากวิกฤติโควิดแล้ว แต่ความกังวลในตลาดหุ้นกู้ก็ลดลงไปได้ระดับหนึ่ง ซึ่งทำให้เราอาจสรุปได้ว่า ตลาดหุ้นกู้ยังไม่อยู่ภาวะเร่งด่วนที่จะต้องการการช่วยเหลือจากนโยบาย YCC

สำหรับกลุ่มที่ 3 คือสินเชื่อธนาคารพาณิชย์ มียอดคงค้างราว 12.5 ล้านล้านบาท ถือว่าเป็นตัวเลขที่ใหญ่โตที่สุดใน 3 กลุ่ม และถูกมองว่าว่าจะเป็นปัญหาระดับ 8 มาตราริกเตอร์เมื่อผ่านพ้นช่วงระยะเวลาผ่อนผันเกณฑ์การจัดชั้นหนี้ (Debt holiday period) ในไตรมาสสี่

ผมไม่มีข้อมูลว่า สินเชื่อธนาคารพาณิชย์ใช้ benchmark rate ใดเป็นสัดส่วนเท่าไหร่ แต่สันนิษฐานได้ว่า 80% อ้างอิงดอกเบี้ยธนาคาร (Banking rate) เช่น MLR, MOR และ MRR และมีน้อยมากถึงน้อยที่สุดที่จะใช้ yield curve เป็น benchmark

ดังนั้น เราอาจจะพอสรุปได้ว่า สินเชื่อธนาคารพาณิชย์จะไม่ใช่ผู้รับประโยชน์โดยตรงจาก YCC การลดดอกเบี้ย MLR, MOR และ MRR ดูจะลดต้นทุนลูกหนี้ได้ตรงเป้ามากกว่า

จึงมาถึงข้อสรุปรวบยอดว่า ทั้ง 3 กลุ่มสินทรัพย์ไม่มีกลุ่มไหนที่จะเร่งด่วน และรับประโยชน์อย่างเต็มที่จากนโยบาย Yield curve control ซึ่งอาจจะเหมาะกับระบบการเงินที่ตลาดหุ้นกู้ใหญ่โตมาก

ท้ายนี้ต้องเผื่อเหลือเผื่อขาดไว้ด้วยว่า หากพลวัตของสินทรัพย์ทั้ง 3 กลุ่มนี้เปลี่ยนไป yield curve control ย่อมเป็นกระสุนที่อาจถูกหยิบมาใช้ได้เสมอ

ขอปิดท้ายด้วยข่าวธนาคารกลางอินโดนีเซียเข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาลอินโดนีเซียโดยตรงเมื่อไม่นานมานี้ ถือเป็นข่าวที่น่าสนใจและสำคัญยิ่ง ในฐานะที่อาจเรียกได้ว่าเป็นเสมือนนโยบายฝาแฝดของ yield curve control นโยบายแนวนี้เดิมที่ใช้กันในตลาดการเงินที่พัฒนาแล้ว (Developed market) บัดนี้ขยับเข้าสู่ตลาดเกิดใหม่ (Emerging market) และใกล้เข้ามาถึงประเทศเพื่อนบ้านเราแล้ว จึงถือเป็นความเคลื่อนไหวที่สำคัญ ซึ่งจะขอหยิบมากล่าวถึงในบทความต่อ ๆ ไป

และขอจบบทความนี้ด้วยประโยคห้วนๆ ว่า สิ่งที่ไม่เคยเกิดมาก่อน ก็ใช่ว่าจะเกิดขึ้นไม่ได้ครับ