หญิงไทยเข้าถึงบริการยุติการตั้งครรภ์มากขึ้น

หญิงไทยเข้าถึงบริการยุติการตั้งครรภ์มากขึ้น

ปี62หญิงไทยเข้าถึงบริการยุติตั้งครรภ์เพิ่มขึ้นหลังอยู่ในสิทธิบัตรทอง ด้วยเหตุผลด้านสังคม-เศรษฐกิจถึง 60 % เครือข่ายฯผู้หญิงฯ ชี้ประมวลกฎหมายอาญาเว้นโทษหญิงทำแท้งเพียง 2 เหตุผล ไม่สอดคล้องสภาพปัญหาจริง ยื่นข้อเสนอแก้ไขหยุดเอาผิดหญิงแท้งลูก

       เมื่อวันที่ 8 กรากฎาคม 2563 ที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ เครือข่ายสนับสนุนทางเลือกของผู้หญิงที่ท้องไม่พร้อม ในนามผู้แทนเครือข่ายหลักผู้หญิงในระบบหลักประกันสุขภาพมาตรฐานเดียว องค์กรภาคีและประชาชนที่ร่วมลงนามสนับสนุน นำโดยรศ.ดร.กฤตยา อาชวนิจกุล ผู้ประสานงานเครือข่ายฯ ได้ยื่นหนังสือต่อนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข(รมว.สธ.) ในฐานะประธานคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(บอร์ดสปสช.) เพื่อขอให้สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติให้ข้อมูลสนับสนุนการยกเลิกประมวลกฎหมายอาญามาตรา 301และแก้ไขมาตรา 305 เพื่อส่งเสริมให้ประชนได้เข้าถึงบริการการยุติการตั้งครรภ์ที่ปลอดภัยอย่างแท้จริง

          รศ.ดร.กฤตยา กล่าวว่า สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.)ได้ดำเนินโครงการนำร่องการใช้ยายุติการตั้งครรภ์มาตั้งแต่ปี 2559 และประกาศให้การใช้ยายุติการตั้งครรภ์เป็นหนึ่งในชุดสิทธิประโยชน์ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติหรือบัตรทองเมื่อปี 2561 โดยในปี 2559 สปสช.ตั้งเป้าต้องการเข้าถึงผู้รับบริการ 10,000 ราย แต่มีผู้รับบริการจริงเพียง 3,657 ราย ปี 2560 ตั้งเป้า 10,000 ราย รับบริการ 8,580 ราย ปี 2561 ตั้งเป้า 22,000 ราย รับบริการ 15,119 ราย และปี 2562 สปสช.สนับสนุนการยุติการตั้งครรภ์จำนวน 23,259 ราย เป็นผู้ที่มีอายุ 20 ปีขึ้นไป 20,000 ราย และวัยรุ่นที่อายุต่ำกว่า 20ปี ประมาณ 3,000 ราย ใช้งบประมาณ 49 ล้านบาท และสนับสนุนบริการคุมกำเนิดกึ่งถาวรให้ผู้หญิงอายุต่ำกว่า 20 ปี กว่า 40,000 ราย กลุ่มอายุมากกว่า 20 ปี ราว 13,000 ราย ใช้งบประมาณ 125 ล้านบาท

        รศ.ดร.กฤตยา ระบุด้วยว่า ในมาตรา 301 ประมวลกฎหมายอาญา กำหนดว่าหญิงใดทำให้ตนเองแท้งลูกหรือยอมให้ผู้อื่นทำให้ตนเองแท้งลูก ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 6 หมื่นบาท แต่จากข้อมูลการเฝ้าระวังการแท้งของกรมอนามัย สธ.ในปี 2562 พบว่า ผู้หญิงที่ตัดสินใจทำแท้ง 60 % ด้วยเหตุผลทางด้านสังคมและเศรษฐกิจ ขณะที่ 40 % ด้วยเหตุผลด้านสุขภาพร่างกาย แสดงให้เห็นว่าประมวลกฎหมายอาญามาตรา 305 ที่ยกเว้นการลงโทษในกรณีแพทย์ยุติกการตั้งครรภ์ให้กับผู้หญิงด้วยเหตุผลด้านสุขภาพร่างกายและการตั้งครรภ์จากการกระทำความผิดทางอาญาเพียง 2 เหตุผล ไม่สอดคล้องกับสภาพปัญหาสถานการณ์จริงในปัจจุบัน ประกอบกับ ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยเมื่อวันที่ 19 ก.พ.2563 กรณีการทำแท้งว่ามาตรา301 ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 28 และสมควรให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการแก้ไขปรับปรุงประมวลกฎหมายอาญา และกฎหมายที่เกี่ยวข้องเรื่องการทำแท้ง เพื่อให้สอดคล้องกับสภาพการณ์ในปัจจุบัน

        รศ.ดร.กฤตยา กล่าวว่า เครือข่ายจึงได้จัดทำข้อเสนอและร่างยกเลิกมาตรา 301 และปรับปรุงแก้ไขมาตรา302- 305 ขึ้น โดยมีองค์กรภาคีเครือข่ายทั้งในและต่างประเทศ 58 องค์การและประชาชนกว่า 6,600 คนร่วมกันลงนาม เนื่องจากกฎหมายฉบับเดิมที่บังคับใช้มาเป็นเวลา 63 ปี เป็นอุปสรรคต่อการเข้าถึงบริการยุติการตั้งครรภ์ที่ปลอดภัย และหวังว่าประธานบอร์ดสปสช.จะร่วมให้ข้อมูลที่เป็นข้อเท็จจริงจากฐานข้อมูลการให้บริการของสปสช.เพื่อสนับสนุนข้อเสนอนี้ เพื่อลดอุปสรรคต่อการเข้าถึงบริการให้ได้มากที่สุด